คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 850/2532

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ผู้ประกันไม่สามารถส่งตัวจำเลยต่อศาลได้ภายในเวลาที่ศาลกำหนด จนศาลได้มีคำสั่งปรับผู้ประกันและออก หมายจับจำเลยไปแล้ว ครั้นเมื่อศาลชั้นต้นนัดฟังคำพิพากษาศาลฎีกาผู้ประกันก็ไม่สามารถนำตัวจำเลยมาศาลได้ เป็นเหตุให้ศาลต้องเลื่อนการอ่านไปและออก หมายจับจำเลยอีก ต่อมาเมื่อศาลอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาลับหลังจำเลยไปแล้ว โดยศาลฎีกาพิพากษายกฟ้องโจทก์ผู้ประกันจึงเพิ่งนำตัวจำเลยมาส่งศาลและขอลดค่าปรับพฤติการณ์เช่นนี้แสดงว่าจำเลยเจตนาหลบหนีไม่มาฟังคำพิพากษา แม้ศาลฎีกาจะพิพากษายกฟ้องโจทก์ ก็ไม่ทำให้ผู้ประกันพ้นความรับผิดตามสัญญาประกันไปได้เพราะผลของคำพิพากษาไม่เป็นเหตุที่จะนำมาประกอบการพิจารณา ว่าผู้ประกันผิดสัญญาประกันหรือไม่ ทั้งการไม่ได้ตัวผู้กระทำผิดมาพิจารณา พิพากษาไม่ว่าจำเลยจะต้องถูกลงโทษหรือไม่ก็ตามย่อมทำให้เสียหายแก่การยุติธรรม ทั้งผู้ประกันนำจำเลยมาส่งศาลหลังจากที่ศาลได้ออก หมายจับจำเลยไปแล้วนานถึงแปดเดือนเศษและเป็นเวลาภายหลังจากที่ทราบผลคำพิพากษาศาลฎีกาแล้ว จึงไม่มีเหตุที่จะลดหย่อนค่าปรับให้.

ย่อยาว

กรณีสืบเนื่องมาจากศาลฎีกามีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยจำเลยที่ 2ชั่วคราวในระหว่างฎีกา ต่อมาศาลชั้นต้นให้ผู้ประกันส่งตัวจำเลยที่ 2ต่อศาล ผู้ประกันมิได้ส่งตัวตามกำหนดนัด ศาลชั้นต้นจึงปรับผู้ประกันและออกหมายจับจำเลยที่ 2 ครั้นศาลชั้นต้นนัดฟังคำพิพากษาศาลฎีกา ผู้ประกันไม่สามารถส่งตัวจำเลยที่ 2 ต่อมาศาลชั้นต้นได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาลับหลังจำเลยโดยชอบแล้ว ผู้ประกันจึงยื่นคำร้องขอมอบตัวจำเลยที่ 2 และขอลดค่าปรับ
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า กรณีไม่มีเหตุที่จะลดค่าปรับ ให้ยกคำร้องและปล่อยตัวจำเลยที่ 2 ไป
ผู้ประกันจำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้ประกันจำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…มีปัญหาวินิจฉัยในชั้นนี้ตามฎีกาของผู้ประกันจำเลยที่ 2 ว่า สมควรลดค่าปรับตามสัญญาประกันให้ผู้ประกันจำเลยที่ 2 หรือไม่ พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า เมื่อผู้ประกันจำเลยที่ 2ขอผลัดการส่งตัวจำเลยที่ 2 ศาลชั้นต้นก็อนุญาตให้ผลัดไปได้อีกถึง15 วัน นับได้ว่าเป็นระยะเวลาเพียงพอที่ผู้ประกันจำเลยที่ 2 จะสามารถติดตามตัวจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นญาติกับตนให้มาตามกำหนดนัดได้ทัน แต่ผู้ประกันจำเลยที่ 2 ก็หาได้ส่งตัวจำเลยที่ 2 ต่อศาลชั้นต้นไม่ จนเป็นเหตุให้ศาลชั้นต้นต้องออกหมายจับจำเลยที่ 2และปรับผู้ประกันจำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2530 และเมื่อศาลชั้นต้นนัดฟังคำพิพากษาศาลฎีกา ผู้ประกันจำเลยที่ 2ก็มิได้ส่งตัวจำเลยที่ 2 มายังศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นจึงออกหมายจับจำเลยที่ 2 มาฟังคำพิพากษาของศาลฎีกาและอ่านคำพิพากษาของศาลฎีกาลับหลังจำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2531 เวลา 11 นาฬิกาในวันเดียวกันนั้นเองผู้ประกันจำเลยที่ 2 จึงได้ส่งตัวจำเลยที่ 2ต่อศาลชั้นต้นเมื่อเวลา 14.55 นาฬิกา อ้างว่า จำเลยที่ 2 เดินทางมาไม่ทันเพราะฝนตกหนักเพิ่งเดินทางมาถึงศาลชั้นต้นเมื่อเวลาใกล้จะ 12 นาฬิกาแล้ว พฤติการณ์เช่นนี้ ศาลฎีกาเห็นว่า จำเลยที่ 2มีเจตนาที่จะหลบหนีไม่มาฟังคำพิพากษาศาลฎีกา ส่วนผลของคำพิพากษาศาลฎีกาจะเป็นเช่นไรนั้น ไม่เป็นเหตุที่จะนำมาประกอบการพิจารณาว่าผู้ประกันผิดสัญญาประกันหรือไม่ เพราะการไม่ได้ตัวจำเลยมาทำการพิจารณาพิพากษาไม่ว่าจำเลยจะต้องถูกลงโทษหรือไม่ก็ตาม ย่อมทำให้เสียหายแก่การยุติธรรม ดังนั้นแม้ศาลฎีกาจะพิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ก็ตาม ก็ไม่ทำให้ผู้ประกันจำเลยที่ 2 พ้นจากความรับผิดตามสัญญาประกันแต่อย่างใด และการที่ผู้ประกันจำเลยที่ 2นำจำเลยที่ 2 มาส่งศาลชั้นต้นหลังจากที่ศาลชั้นต้นออกหมายจับจำเลยที่ 2 เป็นเวลาถึง 8 เดือนเศษ ทั้งเป็นเวลาภายหลังจากที่ทราบผลคำพิพากษาศาลฎีกาแล้ว จึงไม่มีเหตุที่จะลดหย่อนค่าปรับตามสัญญาประกันแก่ผู้ประกันจำเลยที่ 2 อีกด้วย ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำสั่งของศาลชั้นต้นโดยไม่ลดค่าปรับให้ผู้ประกันจำเลยที่ 2 นั้นต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของผู้ประกันจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share