คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 854/2523

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

เช็คระบุชื่อบริษัทจำเลยที่ 5 เป็นผู้รับเงิน โดยขีดฆ่าคำว่า’หรือผู้ถือ’ ออก จำเลยที่ 3 ซึ่งมิได้เป็นกรรมการบริษัทแต่ได้สลักหลังเช็คนั้นและประทับตราบริษัทโดยมิได้รับมอบอำนาจ ถือไม่ได้ว่าเป็น การกระทำของบริษัทผู้ทรงเช็ค การสลักหลังดังกล่าวจึงเป็นการกระทำ โดยปราศจากอำนาจ เมื่อโจทก์ไม่สามารถแสดงให้ปรากฏสิทธิด้วยการ สลักหลังไม่ขาดสายได้เช่นนี้ แม้โจทก์จะมีเช็คพิพาทไว้ในความครอบครอง ก็ถือไม่ได้ว่าโจทก์เป็นผู้ทรงเช็คโดยชอบด้วยกฎหมายโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้อง ให้จำเลยที่ 7 ผู้สั่งจ่ายใช้เงินตามเช็คได้
จำเลยที่ 8 ออกเช็คผู้ถือ แม้จะใช้ชื่อในบัญชีธนาคารเป็นอย่างอื่นก็ตาม แต่เมื่อได้เป็นผู้ลงลายมือชื่อสั่งธนาคารให้จ่ายเงินตามเช็คแล้ว จำเลยที่ 8 ก็ต้องรับผิดตามเนื้อความในเช็คนั้นและจะอ้างข้อต่อสู้อันอาศัยความเกี่ยวพันกันเฉพาะตนกับจำเลยที่ 5 ว่าจำเลยออกเช็คให้เป็นการค้ำประกันต่อจำเลยที่ 5 มาใช้ยันโจทก์ผู้ทรงเช็คหาได้ไม่

ย่อยาว

จำเลยที่ 8 ลงลายมือชื่อออกเช็ค จ.27 ถึง จ.29 จ่ายแก่ผู้ถือ เป็นเช็คที่ใช้ชื่อในบัญชีว่า “นายอู๋เอียก แซ่อึ้ง” ไม่ตรงกับชื่อนายทวีศักดิ์ซึ่งเป็นชื่อของจำเลยที่ 8 ตามฟ้อง จำเลยที่ 7 ลงลายมือชื่อออกเช็ค จ.20 ถึง จ.24, จ.30,จ.31 สั่งจ่ายเงินแก่บริษัทจำเลยที่ 5 โดยขีดฆ่าคำว่า หรือผู้ถือ ออก จำเลยที่ 3มิใช่เป็นกรรมการของจำเลยที่ 5 แต่ลงชื่อสลักหลังและประทับตราของจำเลยที่ 5 ลูกหนี้ของโจทก์ชำระหนี้แก่โจทก์ด้วยเช็คเหล่านั้น คดีสำหรับจำเลยที่ 7, 8ที่เป็นปัญหาในชั้นฎีกา ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 7 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1, 2, 3 ใช้เงินตามเช็ค จ.30, 31 10,000 บาท จำเลยที่ 8 ร่วมรับผิดตามเช็ค จ.27 ถึง 29 600,000 บาท กับดอกเบี้ย ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ว่าจำเลยที่ 7 ไม่ต้องรับผิดตามเช็ค จ.30, 31 โจทก์และจำเลยที่ 8 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “โจทก์ฎีกาว่า เช็คตามเอกสารหมายจ.20 – จ.24 และเช็คเอกสารหมาย จ.30, 31 โจทก์ได้รับสลักหลังมาโดยสุจริตไม่ขาดสายโจทก์เป็นผู้ทรงโดยชอบ จำเลยที่ 7 เป็นผู้ลงชื่อสั่งจ่ายต้องรับผิดชำระเงินตามเช็คดังกล่าวนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า เช็คเอกสารหมาย จ.20 – จ.24จำเลยที่ 7 ระบุชื่อบริษัทจำเลยที่ 5 เป็นผู้รับเงิน โดยได้ขีดฆ่าคำว่า “หรือผู้ถือ”ออก สำหรับเช็คเอกสารหมาย จ.30, จ.31 โจทก์ไม่ได้ส่งต้นฉบับ แต่ส่งภาพถ่ายซึ่งเห็นไม่ชัดนัก แต่ได้ความจากนายไพรัช ดิษฐะบำรุง พยานโจทก์ซึ่งเป็นหัวหน้าส่วนกฎหมายของบริษัทโจทก์ว่าเช็คที่จำเลยที่ 7 เป็นผู้สั่งจ่ายเอกสารหมาย จ.20 – จ.24 และ จ.30, จ.31 เป็นเช็คขีดคร่อมสั่งจ่ายระบุชื่อผู้รับเงิน ขีดฆ่าคำว่า “ผู้ถือ” ออกได้พิจารณาดูภาพถ่ายเช็ค เอกสารหมายจ.30, จ. 31 แล้วคำว่า “หรือผู้ถือ” มีรอยลาง ๆ พอเห็นได้ว่ามีการขีดฆ่าออก ข้อเท็จจริงจึงได้ได้ว่าเช็คพิพาท เอกสารหมาย จ.20 – จ.24 และ จ.30, จ.31จำเลยที่ 7 สั่งจ่ายให้บริษัทสหพันธ์ประกันภัย จำเลยที่ 5 เป็นผู้รับเงินโดยเฉพาะ ไม่ได้จดแจ้งว่าให้ใช้เงินแก่ผู้ถือด้วย การโอนเช็คจะมีขึ้นได้ก็ด้วยการสลักหลัง ปรากฏจากหนังสือรับรองการจดทะเบียนบริษัทจำกัดของสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัท เอกสารหมาย ล.2 ว่า ผู้มีอำนาจลงชื่อแทนบริษัทจำเลยที่ 5 ต้องเป็นกรรมการบริษัทลงชื่อร่วมกัน 2 คน และประทับตราสำคัญของบริษัท จึงใช้บังคับได้ แต่จำเลยที่ 3 ผู้ลงชื่อสลักหลังไม่ได้เป็นกรรมการของบริษัท และบริษัทจำเลยที่ 5 มีฐานะเป็นนิติบุคคลจดทะเบียนเป็นบริษัทจำกัดเช่นเดียวกับบริษัทโจทก์ โจทก์น่าจะรู้ดีชอบที่จะตรวจดูก่อนว่าใครเป็นผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัทจำเลยที่ 5 ได้บ้างฉะนั้นการที่จำเลยที่ 3 ลงชื่อสลักหลังเช็คพิพาทและประทับตราของบริษัทอีกทั้งไม่ได้รับมอบอำนาจจากบริษัทจำเลยที่ 5 ย่อมถือไม่ได้ว่าเป็นการกระทำของบริษัทจำเลยที่ 5 ผู้ทรงเช็คดังกล่าวเนื่องด้วยสลักหลังโดยจำเลยที่ 3กระทำโดยปราศจากอำนาจ โจทก์ไม่สามารถแสดงให้ปรากฏสิทธิด้วยการสลักหลังไม่ขาดสายได้ ดังนี้ ถึงแม้โจทก์จะมีเช็คพิพาทไว้ในครอบครองก็ถือไม่ได้ว่าโจทก์เป็นผู้ทรงเช็คโดยชอบด้วยกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 904, 905 ดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 7 ผู้สั่งจ่ายใช้เงินตามเช็คเอกสารหมาย จ.20 – จ.24 และ จ.30, จ.31 ได้ ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น ส่วนข้อที่โจทก์ฎีกาว่าบริษัทจำเลยที่ 5 ยินยอมและให้สัตยาบันในการที่จำเลยที่ 3 สลักหลังเช็คดังกล่าวให้โจทก์นั้น เห็นว่าเป็นข้อเท็จจริงที่โจทก์มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้น ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

ที่จำเลยที่ 8 ฎีกาว่า เช็คเอกสารหมาย จ.27 – จ.29 ฟ้องโจทก์ระบุชื่อนามสกุลจำเลยที่ 8 ไม่ตรงกับชื่อเจ้าของบัญชีผู้ออกเช็คซึ่งใช้ชื่อว่า “นายอู๋เกียกแซ่อึ้ง” พิเคราะห์แล้วเห็นว่า จำเลยที่ 8 เองรับว่าได้ออกเช็ค 3 ฉบับดังกล่าวสั่งจ่ายเงินในนามของนายอู๋เกียก แซ่อึ้ง ให้ผู้ถือตามที่โจทก์นำมาฟ้องจริงไม่ได้โต้แย้งว่าผู้ออกเช็คเป็นคนละคนกับจำเลย นอกจากนี้จำเลยที่ 8 ยังได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายของศาลแพ่ง หมายเลขแดงที่ 100/2518ระหว่างบริษัทธนาคารแห่งเอเซียเพื่อการอุตสาหกรรมและพาณิชย์กรรม จำกัดโจทก์ บริษัทสหพันธ์ประกันภัยจำกัด กับพวกจำเลย เมื่อวันที่ 12 มีนาคม2519 จำเลยก็ใช้ชื่อว่า “นายทวีศักดิ์ เหลืองประสิทธิ์” ตรงกับชื่อจำเลยที่ 8ที่โจทก์ระบุในคำฟ้อง และอย่างไรก็ดีหากจำเลยที่ 8 ไม่ใช่นายทวีศักดิ์เหลืองประสิทธิ์ ดังฟ้องโจทก์ เหตุไฉนจึงยื่นคำให้การเข้ามา น่าเชื่อว่าจำเลยที่ 8 หรือนายทวีศักดิ์ เหลืองประสิทธิ์ หรือวุฒิ เพียรเลิศ หรือนายอู๋เกียกแซ่อึ้ง คือบุคคลคนเดียวกัน ดังนั้นถึงแม้จำเลยที่ 8 จะใช้ชื่อในบัญชีธนาคารเป็นอย่างอื่นก็หาพ้นความรับผิดไปได้ไม่ เพราะจำเลยที่ 8 เป็นผู้ลงลายมือชื่อสั่งธนาคารให้จ่ายเงินตามเช็คดังกล่าว ย่อมต้องรับผิดชอบตามเนื้อความในเช็คนั้น ฎีกาของจำเลยที่ 8 ฟังไม่ขึ้น ส่วนที่จำเลยที่ 8 ฎีกาว่า เช็คพิพาทออกเพื่อค้ำประกันการทำงานของจำเลยที่ 8 ในการเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 5ไม่ใช่เช็คที่จ่ายเพื่อชำระหนี้ จึงเป็นเช็คที่ไม่มีมูลหนี้ที่จำเลยที่ 8 จะต้องรับผิดและการที่จำเลยที่ 3 นำเช็คดังกล่าวไปชำระหนี้ให้แก่โจทก์เป็นเรื่องระหว่างจำเลยที่ 3 กับโจทก์ จำเลยที่ 8 ไม่ต้องรับผิดนั้น เห็นว่าเป็นข้อต่อสู้ของจำเลยที่ 8 ที่มีต่อจำเลยที่ 5 เท่านั้น จำเลยที่ 8 จะอ้างข้อต่อสู้อันอาศัยความเกี่ยวพันกันเฉพาะตนกับจำเลยที่ 5 มาใช้ยันโจทก์ผู้ทรงเช็คหาได้ไม่ และจำเลยที่ 8 ก็ไม่ได้ให้การต่อสู้คดีว่า การโอนเช็คมีขึ้นด้วยคบคิดกันฉ้อฉลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 916 ดังนี้ ต้องถือว่าโจทก์ได้รับเช็คมาโดยสุจริต อย่างไรก็ดีข้ออ้างของจำเลยที่ 8 ดังกล่าว จำเลยเพิ่งยกขึ้นว่ากล่าวในชั้นฎีกา จึงไม่อาจรับฟังได้ จำเลยที่ 8 จึงต้องรับผิดใช้เงินตามเช็คให้แก่โจทก์”

พิพากษายืน

Share