แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวรคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ. 2530 มาตรา 18 ประกอบมาตรา 21 วรรคสุดท้ายเจ้าของหรือผู้ครอบครองจะได้รับค่าตอบแทนเนื่องจากการที่ต้องออกจากอสังหาริมทรัพย์ที่ต้องเวนคืนก็เฉพาะกรณีที่เจ้าของหรือผู้ครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมายอยู่อาศัยหรือประกอบการค้าขาย หรือประกอบการงานอันชอบด้วยกฎหมายอยู่ในอสังหาริมทรัพย์ที่ต้องเวนคืนนั้นเท่านั้นโจทก์ได้ให้ น.เช่าอาคารที่ต้องเวนคืนประกอบธุรกิจการค้าเปิดเป็นร้านขายอาหารและใช้เป็นที่อยู่อาศัยมาเป็นเวลานานหลายปีแล้วซึ่งแสดงว่าโจทก์หรือผู้ที่เป็นเจ้าของอาคารมิได้อยู่อาศัยหรือประกอบการค้าขายหรือประกอบการงานอันชอบด้วยกฎหมายอยู่ในอาคารที่ต้องเวนคืนนั้น โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนค่าความเสียหายอันเนื่องจากการขาดผลประโยชน์ที่ได้จากการให้เช่าอาคารที่ต้องเวนคืนนั้น เพราะสิทธิที่จะได้รับเงินค่าทดแทนจากการไม่ได้ใช้ประโยชน์อาคารทั้งสี่หลังดังกล่าวได้แก่ น.ผู้เช่าแต่ฝ่ายเดียว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทั้งห้าเป็นผู้จัดการมรดกของคุณหญิงชัยวิชิต วิศิาฎ์ธรรมธาดา (เพ็ง ณ ป้อมเพชร์) ตามคำสั่งศาลจำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคล ส่วนจำเลยที่ 2 เป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นผู้บริหารสูงสุดของจำเลยที่ 1 และเป็นเจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ ตามพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่แขวงสุรวงศ์ และแขวงสีลม เขตบางรัก และแขวงยานนาวาแขวงทุ่มหาเมฆ แขวงทุ่งวัดดอน และแขวงช่องนนทรี เขตยานนาวากรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2516 เดิมที่ดินโฉนดเลขที่ 2354 แขวงสีลมเขตบางรัก กรุงเทพมหานคร พร้อมอาคารเลขที่ 148 จำนวน 3 หลังและ 148/1 เป็นกรรมสิทธิ์ของคุณหญิงชัยวิชิตวิศิษฎ์ธรรมธาดาต่อมาคุณหญิงชัยวิชิตวิศิษฎ์ธรรมธาดาถึงแก่ความตาย ที่ดินและอาคารดังกล่าวจึงตกทอดเป็นมรดกแก่ทายาท และอยู่ในอำนาจหน้าที่จัดการมรดกของโจทก์ทั้งห้า ต่อมาในปี 2516 ทางราชการได้ออกพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่แขวงสุรวงศ์ แขวงสีลม เขตบางรักและแขวงยานนาวา แขวงทุ่งมหาเมฆ แขวงทุ่งวัดดอน แขวงช่องนนทรีเขตยานนาวา กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2516 ซึ่งที่ดินและอาคารดังกล่าวได้ถูกเวนคืนด้วย ระหว่างการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ยังไม่เสร็จสิ้นได้มีพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530ประกาศใช้ ดังนั้น การจ่ายเงินค่าทดแทนให้แก่โจทก์ทั้งห้าจะต้องปฏิบัติตามมาตรา 21 ของพระราชบัญญัติดังกล่าว ต่อมาวันที่15 มีนาคม 2534 โจทก์ทั้งห้าได้รับหนังสือจากเจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์แจ้งให้โจทก์ทั้งห้าไปรับเงินค่าทดแทนอาคารเลขที่148 (หลังที่ 1 ถึงที่ 3) และ 148/1 กับสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินโฉนดเลขที่ 2354 เป็นเงิน 2,513,375 บาท โจทก์ทั้งห้าเห็นว่าไม่เป็นธรรมเพราะเงินค่าทดแทนที่กำหนดให้ต่ำไปจึงอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยขอเงินค่าทดแทนเพิ่มขึ้นเป็น 5,000,000 บาทและค่าเสียหายอันเนื่องจากอาคารถูกรื้อถอนทำให้ขาดประโยชน์จากการใช้สอย 12,000,000 บาท รวมเป็นเงิน 17,000,000 บาท นับแต่โจทก์ทั้งห้ายื่นอุทธรณ์ บัดนี้ครบ 60 วัน นับแต่วันที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยรับอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งห้าแล้วรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยยังมิได้วินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งห้า อาคารดังกล่าวใช้อยู่อาศัยและประกอบกิจการค้าขายทำประโยชน์ตลอดมา การคำนวณต้องคำนึงด้วยว่าเงินค่าทดแทนนั้นเพียงพอที่จะจัดหาอาคารที่มีเนื้อที่ใช้สอยเหมาะสมใกล้เคียงกับสภาพของอาคารที่ถูกเวนคืนได้หรือไม่ การรื้อถอนและขนย้ายเศษวัตถุออกจากแนวเขตเวนคืนต้องใช้เงินไม่น้อยกว่า 300,000 บาท ราคาปานกลางของอาคารที่ถูกเวนคืนคำนวณเป็นตารางเมตรแล้วจะมีราคาไม่น้อยว่า 5,000,000บาท อาคารดังกล่าวตั้งอยู่ริมถนนสีลม อันเป็นย่านธุรกิจการค้าสามารถทำการค้าได้ทั้งกลางวันและกลางคืน โจทก์ทั้งห้าสามารถให้เช่าได้ไม่น้อยกว่าเดือนละ 100,000 บาท หรือปีละ 1,200,000 บาทหากไม่ถูกเวนคืนโจทก์ทั้งห้าจะได้รับประโยชน์จากค่าเช่าไปเรื่อย ๆโจทก์ทั้งห้าขอคิดค่าขาดประโยชน์มีกำหนด 10 ปี เป็นเงิน 12,000,000บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 17,300,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 13 ต่อปี ตามอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทประจำของธนาคารออมสินจากต้นเงิน14,786,625 บาท นับแต่วันที่ 30 มีนาคม 2534 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเงินเสร็จแก่โจทก์ทั้งห้า
จำเลยให้การว่า จำเลยที่ 1 ไม่ใช่เจ้าหน้าที่และไม่มีอำนาจหน้าที่ในการเวนคืนและมิได้โต้แย้งสิทธิของโจทก์ทั้งห้า โจทก์ทั้งห้าจึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 และมีการประกาศใช้บังคับพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยจึงตั้งคณะกรรมการเบื้องต้นเพื่อทำหน้าที่กำหนดราคาและจำนวนเงินค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์ที่ต้องเวนคืนขึ้น ที่ดินโฉนดเลขที่ 2354 ของโจทก์ถูกเวนคืนและโจทก์ทั้งห้าได้รับเงินค่าทดแทนที่ดินไปเรียบร้อยแล้วส่วนอาคารโรงเรือนของโจทก์ทั้งห้าถูกเวนคืน 4 หลัง คือ อาคารเลขที่148 หลังที่ 1 เป็นตึกคอนกรีตเสริมเหล็กชั้นเดียว คณะกรรมการฯ กำหนดเงินค่าทดแทน ค่ารื้อถอนและค่าขนย้ายให้ 454,451 บาท อาคารเลขที่148 หลังที่ 2 เป็นตึก 3 ชั้น กำหนดเงินค่าทดแทนให้ 620,098 บาทอาคารเลขที่ 148 หลังที่ 3 เป็นตึก 2 ชั้น กำหนดเงินค่าทดแทนให้910,728 บาท และอาคารเลขที่ 148/1 เป็นตึก 2 ชั้น กำหนดเงินค่าทดแทนให้ 528,099 บาท รวมเป็นเงิน 2,513,375 บาท การกำหนดเงินค่าทดแทน ค่ารื้อถอนอาคารดังกล่าวของโจทก์ทั้งห้า ถูกต้องเหมาะสมและเป็นธรรมแก่โจทก์ทั้งห้าแล้ว เพราะการคิดราคาเงินค่าทดแทนประมาณราคาค่ารื้อถอนและค่าวัสดุตามราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดของปี 2534 โดยหักค่าเสื่อมสภาพไม่เกิน10 เปอร์เซ็นต์ โจทก์ทั้งห้าไม่มีสิทธิได้รับเงินค่าความเสียหายในการขาดผลประโยชน์จากการให้เช่าอาคารที่ต้องเวนคืนทั้งสี่หลังเพราะโจทก์ทั้งห้าไม่เคยให้เช่าเพื่อทำกิจการค้ามาก่อน การเรียกเอาเงินค่าทดแทนส่วนนี้เป็นการแสวงหากำไร เมื่อทรัพย์ประธานถูกเวนคืนไปย่อมทำให้ดอกผลหรือประโยชน์ใด ๆ ในการแสวงหากำไรสิ้นไปด้วย โจทก์ทั้งห้าไม่มีสิทธิได้เงินค่าทดแทนจึงเรียกดอกเบี้ยไม่ได้ และโจทก์เรียกดอกเบี้ยได้ก็ต่อเมื่อเป็นไปตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 26 คือกรณีที่รัฐมนตรีหรือศาลได้วินิจฉัยให้ชำระค่าทดแทนเพิ่มแล้ว กรณีของโจทก์ทั้งห้า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยยังไม่มีคำวินิจฉัยและขณะที่ศาลยังไม่มีคำพิพากษาให้จำเลยทั้งสองชำระเงินค่าทดแทนเพิ่มแก่โจทก์ทั้งห้า ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ร่วมกันชำระเงิน 2,401,681 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์2537 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งห้า โดยจำเลยที่ 2ไม่ต้องรับผิดเป็นส่วนตัว
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ร่วมกันชำระเงิน 701,895 บาทแก่โจทก์ทั้งห้า โดยจำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิดเป็นส่วนตัว นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ทั้งห้าและจำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งห้าและของจำเลยทั้งสองในชั้นนี้ว่า จำเลยทั้งสองกำหนดเงินค่าทดแทน ค่ารื้อถอน ค่าขนย้าย และค่าความเสียหายอันเนื่องจากการขาดผลประโยชน์ที่ได้จากอาคารที่ต้องเวนคืนทั้งสี่หลังโดยถูกต้องและเป็นธรรมแก่โจทก์ทั้งห้าแล้วหรือไม่ เพียงใด เกี่ยวกับเรื่องเงินค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์ที่ต้องเวนคืนพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 18 บัญญัติว่า”เงินค่าทดแทนนั้นให้กำหนดให้แก่บุคคลดังต่อไปนี้
(2) เจ้าของโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่นที่รื้อถอนไม่ได้ซึ่งมีอยู่ในที่ดินที่ต้องเวนคืนนั้นในวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาที่ออกตามมาตรา 6 หรือได้ปลูกสร้างขึ้นภายหลังโดยได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่
(3) ผู้เช่าที่ดิน โรงเรือน หรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่นในที่ดินที่ต้องเวนคืน แต่การเช่านั้นต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ ซึ่งได้ทำไว้ก่อนวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาที่ออกตามมาตรา 6 หรือได้ทำขึ้นภายหลังโดยได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่และการเช่านั้นยังมิได้ระงับไปในวันที่เจ้าหน้าที่หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากเจ้าหน้าที่ได้เข้าครอบครองที่ดินโรงเรือน หรือสิ่งปลูกสร้างดังกล่าว แต่เงินค่าทดแทนในการเช่านี้พึงกำหนดให้เฉพาะที่ผู้เช่าได้เสียหายจริงโดยเหตุที่ต้องออกจากที่ดินโรงเรือน หรือสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวก่อนสัญญาเช่าระงับ
(6)…” นอกจากนี้ มาตรา 21 วรรคสุดท้าย ยังบัญญัติถึงความเสียหายของเจ้าของหรือผู้ครอบครองอสังหาริมทรัพย์ที่ต้องเวนคืนไว้ว่า “ถ้าเจ้าของหรือผู้ครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมายอยู่อาศัยหรือประกอบการค้าขายหรือการงานอันชอบด้วยกฎหมายอยู่ในอสังหาริมทรัพย์ที่ต้องเวนคืนนั้น และบุคคลดังกล่าวได้รับความเสียหายเนื่องจากการที่ต้องออกจากอสังหาริมทรัพย์นั้น ให้กำหนดเงินค่าทดแทนให้สำหรับความเสียหายนั้นด้วย” จากบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวจะเห็นได้ว่า เจ้าของหรือผู้ครอบครองจะได้รับค่าตอบแทนเนื่องจากการที่ต้องออกจากอสังหาริมทรัพย์ที่ต้องเวนคืนก็เฉพาะกรณีที่เจ้าของหรือผู้ครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมายอยู่อาศัยหรือประกอบการค้าขาย หรือประกอบการงานอันชอบด้วยกฎหมายอยู่ในอสังหาริมทรัพย์ที่ต้องเวนคืนนั้นเท่านั้น ดังนั้น เมื่อข้อเท็จจริงฟังยุติได้ตามข้อนำสืบของโจทก์ทั้งห้าว่า โจทก์ทั้งห้าได้ให้นายนิกร เดชะบุญศิริพานิชย์ เช่าอาคารที่ต้องเวนคืนทั้งสี่หลังประกอบธุรกิจการค้าเปิดเป็นร้านขายอาหารและใช้เป็นที่อยู่อาศัยมาเป็นเวลานานหลายปีแล้ว จนกระทั่งถึงเดือนมกราคม 2536 ก็แสดงว่าโจทก์ทั้งห้าหรือผู้ที่เป็นเจ้าของอาคารทั้งสี่หลังดังกล่าวมิได้อยู่อาศัยหรือประกอบการค้าขายหรือประกอบการงานอันชอบด้วยกฎหมายอยู่ในอาคารที่ต้องเวนคืนทั้งสี่หลังนั้นแต่อย่างใด โจทก์ทั้งห้าจึงไม่มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนค่าความเสียหายอันเนื่องจากการขาดผลประโยชน์ที่ได้จากการให้เช่าอาคารที่ต้องเวนคืนทั้งสี่หลังนั้นจากจำเลยทั้งสองตามกฎหมาย เพราะสิทธิที่จะได้รับเงินค่าทดแทนจากการไม่ได้ใช้ประโยชน์อาคารทั้งสี่หลังดังกล่าวตกได้แก่นายนิกรผู้เช่าแต่ฝ่ายเดียวตามมาตรา 18 (3) หาได้ตกอยู่แก่โจทก์ทั้งห้าดังที่โจทก์ทั้งห้าฎีกาไม่
ส่วนที่โจทก์ทั้งห้าและจำเลยทั้งสองฎีกาในปัญหาเงินค่าทดแทน ค่ารื้อถอนและค่าขนย้ายอาคารที่ต้องเวนคืนทั้งสี่หลังโดยโจทก์ทั้งห้าฎีกาขอเงินค่าทดแทนในส่วนนี้เพิ่มตามที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้ แต่จำเลยทั้งสองฎีกาว่าคณะกรรมการ ฯ กำหนดเงินค่าาทดแทนให้แก่โจทก์ทั้งห้าจำนวน 2,513,375 บาท โดยคำนวณจากราคาค่าวัสดุตามราคาท้องตลาดของปี 2534 จึงเป็นธรรมและชอบด้วยกฎหมายแล้ว จำเลยทั้งสองไม่ต้องรับผิดชดใช้เงินค่าทดแทนเพิ่มให้แก่โจทก์ทั้งห้าอีกนั้น เห็นว่าจำเลยทั้งสองมิได้นำสืบปฏิเสธว่า อาคารที่ต้องเวนคืนหลังที่ 3 ที่มีชื่อว่าบ้านป้อมเพชร์มิได้ก่อสร้างโดยช่างฝีมือพิเศษ จึงฟังได้ว่าอาคารหลังดังกล่าวเป็นอาคารที่ก่อสร้างโดยช่างฝีมือชาวอิตาเลียนซึ่งเป็นช่างฝีมือพิเศษดังที่โจทก์ทั้งห้านำสืบจริง และสภาพของอาคารหลังนี้ที่ปรากฏตามภาพถ่ายหมาย จ.7 และในนิตยสารไลฟ์แอนด์เดดคอร์ หมาย จ.12 ยังอยู่ในสภาพที่ใช้งานได้ดีและมีลวดลายทางศิลปะอยู่ทั้งภายนอกและภายในอาคารด้วย จึงมีราคาสูงกว่าราคากลางทั่วไป ที่คณะกรรมการ ฯ ได้กำหนดเงินค่าทดแทนอาคารหลังที่มีชื่อบ้านป้อมเพชร์ให้แก่โจทก์ทั้งห้า โดยอาศัยราคากลางที่ใช้สำหรับการก่อสร้างทั่วไปมิได้รวมคุณค่าของการก่อสร้างที่ต้องก่อสร้างโดยช่างฝีมือพิเศษรวมทั้งราคาค่าตกแต่งอาคารเข้าไปด้วย เป็นการกำหนดค่าทดแทนที่ต่ำเกินไป และที่ศาลอุทธรณ์กำหนดค่าทดแทนสำหรับอาคารหลังดังกล่าวเฉลี่ยตารางเมตรละ 5,000 บาท ก็ยังต่ำเกินไป ค่าทดแทนสำหรับอาคารหลังนี้ที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้เพิ่มขึ้นอีก 455,363 บาท รวมกับที่คณะกรรมการ ฯ กำหนดจำนวน 910,727 บาท แล้วเป็นเงินค่าทดแทนทั้งสิ้น 1,366,090 บาท เฉลี่ยตารางเมตรละ 5,581.57 บาท นับว่าเป็นประโยชน์แก่จำเลยทั้งสองแล้ว ส่วนอาคารอีกสามหลังคืออาคารเลขที่ 148 หลังที่ 1 และหลังที่ 2 กับอาคารเลขที่ 148/1 นั้น โจทก์ทั้งห้ามิได้นำสืบว่าอาคารทั้งสามหลังนี้ใช้วัสดุในการก่อสร้างและช่างฝืมือพิเศษแตกต่างจากการก่อสร้างอาคารทั่วไปอย่างไร และไม่ได้นับสืบว่าวัสดุที่ใช้การก่อสร้างอาคารทั้งสามหลังมีคุณภาพและราคาสูงกว่าราคากลางของวัสดุในปี 2534 ที่คณะกรรมการ ฯ นำมาใช้ในการคำนวณทดแทนให้แก่โจทก์ทั้งห้า แต่อย่างไรก็ตามการประมาณราคาค่าทดแทนอาคารทั้งสามหลังนี้ตามเอกสารหมาย ล.1, ล.2 และ ล.4 ของจำเลยทั้งสองนั้นนอกจากได้หักค่าเสื่อมราคาจำนวน 10 เปอร์เซ็นต์ ของวัสดุที่แยกเป็นชิ้น ๆ ทุกรายการแล้ว ยังได้หักราคาค่าวัสดุก่อสร้างที่เหลือจากการรื้อถอนซึ่งเสียหายไม่หมดออกอีกด้วย วัสดุที่เหลือจากการรื้อถอนบางรายการกำหนดค่าทดแทนให้เพียง 50 เปอร์เซ็นต์ เช่น อาคารเลขที่ 148 หลังที่ 1 หลังคามุงกระเบื้องลอนคู่กับโครงไม้เนื้อแข็งซึ่งจำเลยทั้งสองกำหนดค่ราคาวัสดุ82,593 บาท หักค่าเสื่อมสภาพ 10 เปอร์เซ็นต์ แล้วเป็นเงิน 74,333.70 บาท หักค่าวัสดุที่เหลือจากการรื้อถอนจำนวน 50 เปอร์เซ็นต์แล้ว เหลือค่าทดแทนเป็นเงิน 37,166.85 บาท และบางรายการกำหนดค่าทดแทนเพียง 20 เปอร์เซ็นต์ ทั้งราคาที่ประมาณการของราคาทั้งสามหลังดังกล่าวตามเอกสารหมาย ล.1, ล.2 และ ล.4มิได้รวมเอากำไรของผู้ดำเนินการก่อสร้างไว้ด้วย ค่าทดแทนของอาคารทั้งสามหลังดังกล่าวที่คณะกรรมการ ฯ กำหนดตามราคาที่ประมาณการตามเอกสารหมาย ล.1, ล.2และ ล.4 เฉลี่ยตารางเมตรละ 3,521 บาท ตารางเมตรละ 2,966.53 บาท และตารางเมตรละ 2,707.95 บาท ตามลำดับนั้น จึงน้อยไป และเงินค่าทดแทนอาคารทั้งสามหลังดังกล่าว ที่ศาลอุทธรณ์กำหนดให้ในราคาเฉลี่ยตารางเมตรละ 4,000 บาทเนื้อที่รวมของอาคารทั้งสามหลัง 497.88 ตารางเมตร เป็นเงินค่าทดแทน 1,991,520 บาท นั้น ก็ยังต่ำไป เห็นว่า ค่าทดแทนสำหรับอาคารเลขที่ 148 หลังที่ 2และอาคารเลขที่ 148/1 ที่ศาลชั้นต้นกำหนดเพิ่มขึ้นจากที่คณะกรรมการ ฯ กำหนดจำนวน 310,049 บาท และ 264,049 บาท ตามลำดับ ซึ่งเมื่อรวมกันกับค่าทดแทนที่คณะกรรมการ ฯ แล้ว ค่าทดแทนสำหรับอาคารเลขที่ 148 หลังที่ 2 เฉลี่ยตารางเมตรละ4,743.95 บาท และอาคารเลขที่ 148/1 เฉลี่ยตารางเมตรละ 4,354.61 บาท เป็นค่าทดแทนที่เหมาะสมและเป็นธรรมแก่โจทก์ทั้งห้าและสังคม ส่วนอาคารเลขที่ 148 หลังที่ 1 ที่ศาลชั้นต้นกำหนดค่าทดแทนเพิ่มขึ้นอีก 277,220 บาท รวมกันกับค่าทดแทนที่คณะกรรมการ ฯ กำหนดแล้วเฉลี่ยตารางเมตรละ 6,102.34 บาท สูงกว่าอัตราค่าทดแทนต่อตารางเมตรของบ้านป้อมเพชร์ที่เฉลี่ยตารางเมตรละ 5,581.57 บาทนั้นสูงเกินไป ศาลฎีกาเห็นว่า ค่าทดแทนสำหรับอาคารหลังนี้ที่เป็นธรรมแก่โจทก์ทั้งห้าและสังคมคือเฉลี่ยตารางเมตรละ 5,000 บาท อาคารหลังนี้มีพื้นที่ 119.9 ตารางเมตรคิดเป็นเงินค่าทดแทนจำนวน 599,500 บาท ค่าทดแทนสำหรับอาคารหลังนี้ที่ศษลฎีกากำหนดเพิ่มขึ้นจากที่คณะกรรมการ ฯ กำหนดจึงเป็นเงินจำนวน 145,049 บาท ดังนั้นค่าทดแทนของอาคารทั้งสี่หลังที่เพิ่มขึ้นรวมกันแล้วเป็นเงิน 1,174,510 บาท
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าทดแทนเพิ่มขึ้นแก่โจทก์ทั้งห้าจำนวน 1,174,510 บาท