คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 203/2504

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้ชนะคดี เพียงแต่ขอหมายบังคับคดีไว้เฉยๆ 5-6 ปี มิได้นำยึดเพื่อบังคับให้เป็นผลตามคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นต่อไเมื่อโจทก์ผู้ชนะคดีนี้ได้บังคับคดีเอากับจำเลยผู้ร้องจึงโต้แย้งสิทธิขึ้นมา ดังนี้ จึงเป็นการยากที่จะถือว่ายังอยู่ในระยะเวลาที่ผู้ร้องจะปฏิบัติตามคำพิพากษาเท่าที่จำเป็นเพื่อบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้น

ย่อยาว

คดีนี้ได้ความว่า โจทก์ชนะคดีจำเลยเรื่องยืม จึงได้นำยึดที่ดินของจำเลย กองหมายได้จัดการให้ศาลจังหวัดนนทบุรี ขายทอดตลาดไปแล้ว โดยพลจัตวาโกศล อ่อนสุวรรณ์ เป็นผู้ซื้อได้และได้สั่งให้เจ้าพนักงานที่ดินโอนกรรมสิทธิ์ให้ แต่ได้รับแจ้งเหตุขัดข้องว่าศาลแพ่ง ได้สั่งอายัดที่ดินดังกล่าวไว้ในคดีระหว่างผู้ร้องและจำเลย พลจัตวาโกศลผู้ซื้อที่ดินได้ๆ ยื่นคำร้องขอให้สั่งโอนกรรมสิทธิ์
ศาลแพ่งมีคำสั่งว่า การอายัดที่ดินของจำเลยไว้ก่อนคำพิพากษาในคดีที่ผู้ร้องเป็นโจทก์นั้น มิใช่การอายัดโดยเจ้าพนักงานบังคับคดีตามมาตรา ๒๙๐ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง แม้ผู้ร้องจะได้ขอหมายบังคับคดีไว้ภายในกำหนดตามมาตรา ๒๖๐ (๒) แต่ผู้ร้องก็มิได้นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินของจำเลยปล่อยทิ้งไว้หลายปี ฉะนั้น โจทก์ในคดีนี้จึงมีสิทธินำเจ้าพนักงานยึดที่ดินของจำเลยออกขายทอดตลาดได้ ผู้ซื้อได้กรรมสิทธิ์
สำนักนายกรัฐมนตรีอุทธรณ์คัดค้านคำสั่งของศาลแพ่ง
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
สำนักนายกรัฐมนตรีฎีกา
ศาลฎีกาเห็นพ้องกับคำวินิจฉัยของศาลล่างทั้งสองที่ได้อ้างบทกฎหมายมาโดยถูกต้องแล้ว ทั้งนี้ เพราะภายหลังหลังเมื่อโจทก์ในคดีแพ่งแดงที่ ๙๐๓/๒๔๙๓ ชนะคดีจำเลยแล้ว โจทก์ในคดีนั้นเพียงแต่ขอหมายบังคับคดีไว้ภายในกำหนดเวลาเท่านั้น แต่หาได้นำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปทำการยึดเพื่อบังคับให้เป็นผลตามคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นไม่ เป็นแต่ยื่นคำร้องขอบังคับคดีไว้เฉยๆ และผ่อนผันให้จำเลยชำระหนี้แก่โจทก์บางส่วน ต่อมาทอดทิ้งระยะไว้ถึง ๕-๖ ปี ต่อเมื่อโจทก์ผู้ชนะคดีได้บังคับคดีเอากับจำเลย โจทก์ในคดีแพ่งแดงที่ ๙๐๓/๒๔๙๓ จึงได้โต้แย้งสิทธิขึ้นมา ดังนี้ จึงเป็นการยากที่จะถือว่ายังอยู่ในระยะเวลาที่โจทก์ผู้ชนะคดีแพ่งแดงที่ ๙๐๒/๒๔๙๓ จะปฏิบัติตามคำพิพากษาเท่าที่จำเป็นเพื่อบังคับตามคำพิพากษานั้น ดังที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๖๐ (๒) กำหนดให้การยึดทรัพย์ชั่วคราวคงมีผลต่อไป ข้อโต้เถียงในฎีกาซึ่งอ้างเหตุผลทำนองเดียวกันกับในชั้นอุทธรณ์ขึ้นมานั้น ไม่มีทางจะชนะคดีได้
พิพากษายืน

Share