คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2486/2544

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

การที่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ถือประทานบัตรให้โจทก์เช่าประทานบัตรเพื่อผลิตหินแกรนิต เป็นการให้โจทก์รับช่วงการทำเหมืองตามที่พระราชบัญญัติแร่ พ.ศ.2510มาตรา 76 วรรคหนึ่ง บัญญัติห้ามไว้นั่นเอง เพียงแต่บทบัญญัติดังกล่าวมิได้ห้ามการรับช่วงการทำเหมืองโดยเด็ดขาดหากรัฐมนตรีหรือผู้ที่รัฐมนตรีมอบหมายอนุญาต ก็รับช่วงการทำเหมืองได้
โจทก์และจำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าประทานบัตรโดยโจทก์เป็นผู้ผลิตหินแกรนิตแล้วให้จำเลยที่ 1 ผู้ถือประทานบัตรติดต่อขอใบอนุญาตขนแร่จากทรัพยากรธรณีจังหวัด เพื่อโจทก์จะได้นำหินแกรนิตที่ผลิตได้ออกจำหน่าย แสดงว่าโจทก์ทราบแล้วว่าตนไม่มีสิทธิขนแร่ได้เองเสมือนเป็นผู้ถือบัตรประทานบัตรเพราะโจทก์ไม่ได้เป็นผู้รับช่วงการทำเหมืองตามพระราชบัญญัติแร่พ.ศ. 2510 มาตรา 77 ทั้งมีเจตนาฝ่าฝืนบทห้ามของพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 ซึ่งได้กำหนดโทษทางอาญาสำหรับผู้ถือประทานบัตรไว้ในมาตรา 140 นอกจากนี้มาตรา 75ว่า ประทานบัตรให้ใช้ได้เฉพาะตัวผู้ถือประทานบัตรด้วยประสงค์ให้ผู้ถือประทานบัตรดำเนินการตามประทานบัตรเองการที่จำเลยที่ 1 ทำสัญญาให้โจทก์เช่าประทานบัตรโดยไม่ยื่นขออนุญาต จึงมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายและขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้ถือประทานบัตรเหมืองแร่หินประดับชนิดหินแกรนิต ที่ตำบลปรังเผล อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี 3 ฉบับ เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2534 จำเลยที่ 1 ตกลงให้โจทก์เช่าประทานบัตรเหมืองแร่ทั้งสามฉบับ เพื่อผลิตและจำหน่ายหินแกรนิตมีกำหนดเวลา 6 ปี นับแต่วันที่ 25 กุมภาพันธ์2535 เป็นต้นไปโดยคิดค่าเช่าตามจำนวนหินแกรนิตที่ผลิตได้เป็นเงินคิวบิกเมตรละ 1,200 บาท สำหรับระยะเวลาเช่า 3 ปีแรกและค่าเช่า 3 ปี ต่อไปจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 10 ของค่าเช่าในช่วง3 ปีแรก แต่ในปีหนึ่ง ๆ จะต้องผลิตหินแกรนิตให้ได้ไม่น้อยกว่า2,160 คิวบิกเมตร ในวันทำสัญญาเช่าโจทก์มอบเงินมัดจำการเช่าให้แก่จำเลยที่ 1 จำนวน 300,000 บาท ซึ่งจำเลยที่ 1จะต้องคืนให้แก่โจทก์เมื่อครบกำหนดสัญญาเช่า และเป็นที่ตกลงกันว่า เมื่อโจทก์ผลิตหินแกรนิตได้จำเลยที่ 1 จะเป็นผู้ติดต่อประสานงานกับกรมทรัพยากรธรณี กระทรวงอุตสาหกรรมเพื่อขอใบอนุญาตขนแร่ อันจะทำให้โจทก์สามารถขนหินแกรนิตที่ผลิตออกจำหน่ายได้ ซึ่งโจทก์และจำเลยที่ 1 ก็ได้ปฏิบัติตามที่ตกลงกันนี้เรื่อยมา ต่อมาวันที่ 13 กรกฎาคม 2535 จำเลยที่ 1ขายประทานบัตรเหมืองแร่ทั้งสามฉบับดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 2โดยจำเลยที่ 2 ตกลงรับพันธะตามสัญญาเช่าระหว่างจำเลยที่ 1กับโจทก์ด้วย หลังจากทำสัญญาดังกล่าวจำเลยทั้งสองไม่ได้ปฏิบัติตามสัญญาเช่าโดยไม่ยอมขอใบอนุญาตขนแร่จากกรมทรัพยากรธรณีทำให้โจทก์ไม่สามารถขนหินแกรนิตที่ผลิตได้ออกจากเหมืองเพื่อนำไปขาย โจทก์ได้รับความเสียหาย ต่อมาวันที่ 28 ตุลาคม2535 บริษัท โอ.เอ็น.เค.ไมนิ่ง แอนด์ คอนสตรั๊คชั่น จำกัด ผู้รับมอบดูแลกิจการเหมืองแร่ของจำเลยที่ 2 มีหนังสือขับไล่โจทก์ออกจากเหมืองแร่ โดยโจทก์มิได้ผิดสัญญาเช่า การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการผิดสัญญา ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายคิดเป็นค่าเสียหายตามระยะเวลาที่เหลืออยู่ 5 ปี 5 เดือน เป็นเงิน 45,279,000 บาทและจำเลยทั้งสองต้องคืนเงินมัดจำการเช่า 300,000 บาท ให้แก่โจทก์ด้วย รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 45,579,000 บาท โจทก์ทวงถามแล้วแต่จำเลยทั้งสองไม่ชำระ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้เงิน46,542,090.39 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน45,579,000 บาท นับจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันขอใบอนุญาตขนแร่ตามจำนวนที่โจทก์ผลิตได้ให้แก่โจทก์ หากจำเลยทั้งสองไม่ยอมหรือไม่สามารถขอใบอนุญาตขนแร่ให้แก่โจทก์ได้ ก็ให้ชดใช้ราคาในอัตราคิวบิกเมตรละ 7,500 บาท

จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญาขายประทานบัตรเหมืองแร่ทั้งสามฉบับให้แก่จำเลยที่ 2 มีข้อตกลงว่า จำเลยที่ 2ต้องรับพันธะตามสัญญาเช่าระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ด้วยซึ่งโจทก์ทราบและตกลงยินยอมด้วย จำเลยที่ 1 ได้ส่งมอบเหมืองแร่ตามประทานบัตรเหมืองแร่ทั้งสองฉบับพร้อมโอนสิทธิประทานบัตรเหมืองแร่ทั้งหมดให้จำเลยที่ 2 เสร็จสิ้นแล้ว โจทก์จึงเป็นผู้เช่าประทานบัตรเหมืองแร่ทั้งสามฉบับจากจำเลยที่ 2 นับแต่วันที่ 13กรกฎาคม 2535 เป็นต้นไป จำเลยที่ 1 และโจทก์ไม่มีสิทธิและหน้าที่ใด ๆ ที่จะต้องปฏิบัติตามสัญญาเช่าอีกต่อไป โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง

จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 ไม่ได้ปฏิบัติผิดสัญญาเช่าและไม่ได้เป็นผู้กระทำให้เกิดผลเสียหายแก่โจทก์ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 คืนเงินมัดจำการเช่าจำนวน 300,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับตั้งแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยกและให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ด้วย

โจทก์และจำเลยที่ 2 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์และจำเลยที่ 2 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า จำเลยที่ 1เป็นผู้ถือประทานบัตรเหมืองแร่ที่ตำบลปรังเผล อำเภอสังขละบุรีจังหวัดกาญจนบุรี เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2534 โจทก์และร้อยตำรวจเอกนิคม มุสิกบุตร ได้เช่าประทานบัตรเหมืองแร่ดังกล่าวจากจำเลยที่ 1 เพื่อผลิตหินแกรนิตมีกำหนดเวลา 6 ปี นับแต่วันที่ 25กุมภาพันธ์ 2535 ถึงวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2541 ตามสัญญาเช่าเอกสารหมาย จ.3 ในวันทำสัญญาเช่าโจทก์ได้วางเงินมัดจำ300,000 บาท ให้แก่จำเลยที่ 1 ไว้และจำเลยที่ 1 ได้ตกลงกับโจทก์ว่า จำเลยที่ 1 จะขอใบอนุญาตขนแร่จากทรัพยากรธรณีจังหวัดกาญจนบุรีให้โจทก์ใช้ในการขนหินแกรนิตด้วยเพราะโจทก์ไม่ใช่ผู้ได้รับประทานบัตรจึงไม่สามารถยื่นขอใบอนุญาตขนแร่ได้ ต่อมาวันที่ 13 กรกฎาคม 2535 จำเลยที่ 1 ขายประทานบัตรเหมืองแร่หินแกรนิตให้แก่จำเลยที่ 2 ตามสำเนาสัญญาจะซื้อขายเอกสารหมาย ล.15 โดยมีข้อตกลงว่าจำเลยที่ 2 จะต้องผูกพันตามสัญญาเช่าที่จำเลยที่ 1 ทำไว้กับโจทก์แต่หลังจากทำสัญญาซื้อขายกันแล้ว จำเลยทั้งสองไม่ดำเนินการขอใบอนุญาตขนแร่ให้แก่โจทก์ โจทก์จึงไม่ชำระค่าเช่าตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2535 เป็นต้นมา ต่อมาวันที่ 28 ตุลาคม 2535 บริษัทโอ.เอ็น.เค. ไมนิ่ง แอนด์ คอนสตรั๊คชั่น จำกัด ผู้รับมอบอำนาจจากจำเลยที่ 2 มีหนังสือแจ้งให้โจทก์ออกจากเหมืองดังกล่าวอ้างว่า โจทก์ละเมิดต่อกฎหมายและสิทธิของจำเลยที่ 2ตามหนังสือบอกกล่าวเอกสารหมาย จ.12 มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยเป็นข้อแรกตามฎีกาของโจทก์และของจำเลยที่ 2 ว่าโจทก์มีสิทธิเรียกเงินมัดจำพร้อมดอกเบี้ยและค่าเสียหายฐานผิดสัญญาเช่าจากจำเลยทั้งสองหรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติแร่พ.ศ. 2510 มาตรา 76 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ห้ามมิให้ผู้ถือประทานบัตรยอมให้ผู้อื่นรับช่วงการทำเหมืองไม่ว่าเฉพาะส่วนใดส่วนหนึ่ง หรือทั้งหมดของเขตเหมืองแร่ เว้นแต่ละได้รับใบอนุญาตจากรัฐมนตรีหรือผู้ที่รัฐมนตรีมอบหมาย” มาตรา 77วรรคสอง บัญญัติว่า “รัฐมนตรีหรือผู้ที่รัฐมนตรีมอบหมายเป็นผู้ออกใบอนุญาตให้มีการรับช่วงการทำเหมืองได้ตามที่จะพิจารณาเห็นสมควร… ผู้ถือประทานบัตรที่ได้ให้ผู้อื่นรับช่วงการทำเหมืองดังกล่าวตามวรรคหนึ่งคงมีหน้าที่และความรับผิดตามกฎหมายและให้ผู้รับช่วงการทำเหมืองนั้นมีสิทธิหน้าที่และความรับผิดตามกฎหมายเสมือนเป็นผู้ถือประทานบัตรด้วย” การที่จำเลยที่ 1ซึ่งเป็นผู้ถือประทานบัตรให้โจทก์เช่าประทานบัตรเพื่อผลิตหินแกรนิตตามสัญญาเช่าเอกสารหมาย จ.3 ก็คือการให้โจทก์รับช่วงการทำเหมืองตามที่พระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510มาตรา 76 วรรคหนึ่ง บัญญัติห้ามไว้นั่นเอง เพียงแต่บทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวมิได้ห้ามการรับช่วงการทำเหมืองโดยเด็ดขาดหากรัฐมนตรีหรือผู้ที่รัฐมนตรีมอบหมายอนุญาตก็ย่อมรับช่วงการทำเหมืองได้ แต่กรณีตามคดีนี้ข้อเท็จจริงได้ความว่าโจทก์และจำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าเอกสารหมาย จ.3 โดยโจทก์ผลิตหินแกรนิตแล้วให้จำเลยที่ 1 ผู้ถือประทานบัตรติดต่อขอใบอนุญาตขนแร่จากทรัพยากรธรณีจังหวัดกาญจนบุรี เพื่อโจทก์จะได้นำหินแกรนิตที่ผลิตได้ออกจำหน่าย โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1ได้ยื่นขออนุญาตให้โจทก์รับช่วงการทำเหมือง แสดงว่าโจทก์ทราบแล้วว่าตนไม่มีสิทธิขนแร่ได้เองเสมือนเป็นผู้ถือบัตรประทานบัตรเพราะโจทก์ไม่ได้เป็นผู้รับช่วงการทำเหมืองตามมาตรา 77ทั้งการที่จำเลยที่ 1 ทำสัญญาให้โจทก์เช่าประทานบัตรเหมืองแร่ดังกล่าวเป็นการกระทำที่มีเจตนาฝ่าฝืนบทบัญญัติห้ามของพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 อย่างชัดแจ้ง การฝ่าฝืนบทบัญญัติดังกล่าว พระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 ได้กำหนดโทษทางอาญาสำหรับผู้ถือประทานบัตรไว้ในมาตรา 140 ว่า ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท และรัฐมนตรีมีอำนาจสั่งเพิกถอนประทานบัตรนั้นเสียได้ นอกจากนี้พระราชบัญญัติดังกล่าวได้บัญญัติไว้ในมาตรา 75 ว่า ประทานบัตรให้ใช้ได้เฉพาะตัวผู้ถือประทานบัตรและให้คุ้มถึงลูกจ้างของผู้ถือประทานบัตรด้วย เห็นได้ว่าความมุ่งหมายของพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 ประสงค์ให้ผู้ถือประทานบัตรดำเนินการตามประทานบัตรเอง ไม่อาจให้ผู้อื่นมาดำเนินการแทนได้ตามอำเภอใจ การที่จำเลยที่ 1 ทำสัญญาให้โจทก์เช่าประทานบัตรเหมืองแร่ดังกล่าวโดยไม่ยื่นขออนุญาตจึงเป็นการกระทำที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย และขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน สัญญาเช่าประทานบัตรเหมืองแร่ดังกล่าวตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150ไม่มีผลผูกพันโจทก์และจำเลยที่ 1 รวมทั้งไม่มีผลผูกพันจำเลยที่ 2ผู้ซื้อประทานบัตรจากจำเลยที่ 1 โดยยอมผูกพันตามสัญญาเช่าประทานบัตรดังกล่าวแทนจำเลยที่ 1 ด้วย ปัญหานี้แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(5)ประกอบมาตรา 246 และ 247 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องบังคับจำเลยทั้งสองได้ กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยปัญหาข้ออื่น”

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 2 เสียด้วยนอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share