คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3501/2535

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องจำเลยในข้อหาเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 49ตามบทบัญญัติดังกล่าวให้อำนาจศาลแรงงานใช้ดุลพินิจพิพากษาให้นายจ้างรับลูกจ้างกลับเข้าทำงานได้อยู่แล้วหากเห็นว่าการเลิกจ้างลูกจ้างผู้นั้นไม่เป็นธรรมต่อลูกจ้าง หาจำเป็นต้องอาศัยบทบัญญัติพ.ร.บ.พนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2534 อีกไม่ ฟ้องของโจทก์จึงมิใช่ฟ้องที่อ้างสิทธิตาม พ.ร.บ.พนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ฯแม้โจทก์เป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจ โจทก์ก็ไม่ต้องดำเนินการตามมาตรา 18 แห่ง พ.ร.บ.พนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ฯ แต่ประการใดโจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างของจำเลยเมื่อประมาณเดือนมีนาคม 2516 ทำหน้าที่พนักงานรายชั่วโมง 1 สังกัดกองการใบยา โรงงานยาสูบ 5 ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายชั่วโมงละ 30.23 บาท ต่อมาวันที่ 31 กรกฎาคม 2534 หัวหน้าฝ่ายผลิตโรงงานยาสูบ 5 มีคำสั่งไล่โจทก์ออกจากงานโดยกล่าวหาว่าละทิ้งหน้าที่ตั้งแต่วันที่ 17 ถึงวันที่ 21 มิถุนายน 2534 เป็นเวลาเกินกว่า 5วันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันควร โจทก์เห็นว่าการที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์นั้นไม่เป็นธรรมต่อโจทก์ตามมาตรา 49 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 เพราะการที่โจทก์หยุดงานในช่วงวันเวลาดังกล่าวนั้นก็เพราะโจทก์เจ็บป่วยจึงเป็นการหยุดงานที่มีเหตุอันสมควรขอให้พิพากษาเพิกถอนคำสั่งที่ฝผล. 100001/250/2534 ของจำเลย ให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานในตำแหน่งหน้าที่และอัตราค่าจ้างไม่ต่ำกว่าเดิม และให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ในระหว่างถูกเลิกจ้าง พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจากจำนวนเงินที่จำเลยต้องจ่ายนับแต่วันที่จำเลยมีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์จนกว่าจะชำระเสร็จ หากจำเลยไม่สามารถรับโจทก์กลับเข้าทำงานได้ให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายจำนวน1,404,606.70 บาท เงินบำเหน็จจำนวน 83,697.32 บาท ค่าชดเชยจำนวน 43,531.20 บาท และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน 1,209.20 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจากจำนวนเงินที่จำเลยต้องจ่ายดังกล่าวนับตั้งแต่วันเลิกจ้างจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่าการฟ้องคดี โจทก์ซึ่งเป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจจะต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติพนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2534มาตรา 18 ซึ่งกำหนดขั้นตอนไว้ว่า โจทก์ต้องดำเนินการร้องทุกข์ต่อคณะกรรมการกิจการสัมพันธ์ เมื่อคณะกรรมการกิจการสัมพันธ์พิจารณาแล้ว หากโจทก์ยังไม่พอใจโจทก์ต้องใช้สิทธิอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์อีกชั้นหนึ่งก่อนมิใช่ว่าเมื่อมีกรณีเกิดเรื่องขึ้น โจทก์จะนำคดีมาสู่ศาลแรงงานกลางได้ทันทีดังนั้น โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้ อีกทั้งโจทก์ได้ขาดงานละทิ้งหน้าที่ตั้งแต่เดือนเมษายน 2534 ถึงเดือนมิถุนายน 2534 ครั้งละ 5วันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควรและไม่มีใบรับรองแพทย์ตามระเบียบหลายครั้งหลายหน ในครั้งสุดท้ายโจทก์ละทิ้งหน้าที่ไปตั้งแต่วันที่ 17 มิถุนายน 2534 ถึงวันที่ 21 มิถุนายน 2534 โดยไม่มีเหตุอันสมควร และไม่มีใบรับรองแพทย์ตามระเบียบ จำเลยจึงมีคำสั่งไล่โจทก์ออกจากงานตั้งแต่วันที่ 24 มิถุนายน 2534 ซึ่งเป็นไปตามระเบียบข้อบังคับของจำเลย จึงเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายและระเบียบทุกประการ จำเลยไม่ต้องรับผิดชดใช้เงินใด ๆ ตามฟ้องแก่โจทก์ทั้งสิ้น ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานในตำแหน่งหน้าที่และอัตราค่าจ้างไม่ต่ำกว่าเดิม คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “คดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยในข้อหาเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 49 ตามบทบัญญัติดังกล่าวให้อำนาจศาลแรงงานใช้ดุลพินิจพิพากษาให้นายจ้างรับลูกจ้างกลับเข้าทำงานได้อยู่แล้วหากเห็นว่าการเลิกจ้างลูกจ้างผู้นั้นไม่เป็นธรรมต่อลูกจ้าง หาจำต้องอาศัยบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติพนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2534 อีกไม่ ฟ้องของโจทก์จึงมิใช่ฟ้องที่อ้างสิทธิตามพระราชบัญญัติพนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2534แม้โจทก์เป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจโจทก์ก็ไม่ต้องดำเนินการตามมาตรา18 แห่งพระราชบัญญัติพนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2534 แต่ประการใด โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.

Share