คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 786/2535

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยครอบครองที่ดินพิพาทในฐานะเป็นผู้จัดการมรดก เป็นการครอบครองแทนทายาทอื่นด้วย เมื่อการจัดการมรดกยังไม่เสร็จสิ้นแม้จำเลยจะครอบครองนานเพียงใด จำเลยก็จะยกอายุความตาม ป.พ.พ.มาตรา 1754 วรรคหนึ่ง และวรรคสี่ขึ้นต่อสู้โจทก์ซึ่งเป็นทายาทหาได้ไม่.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้ศาลบังคับจำเลยทั้งสองไปจัดการเพิกถอนการโอนนิติกรรมการซื้อขาย ฉบับลงวันที่ 2 มิถุนายน 2529และให้จำเลยที่ 1 จัดการโอนมรดกเฉพาะส่วนที่โจทก์ทั้งสองจะได้รับ1 ใน 5 ส่วน ลงในโฉนดเลขที่ 123 และโฉนดเลขที่ 11585 ตำบลสนามจันทร์อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม หากจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสองในการใส่ชื่อโจทก์ทั้งสองเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ร่วม โดยจำเลยทั้งสองเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย หากจำเลยทั้งสองไม่อาจจะปฏิบัติได้ ให้จำเลยทั้งสองชดใช้เงินแก่โจทก์ทั้งสองเท่าราคาที่ดินทรัพย์มรดกที่ตกแก่โจทก์ทั้งสองเป็นเงินคนละ 104,540 บาท
จำเลยที่ 1 ให้การว่า ที่ดินพิพาททั้งสองแปลงเป็นทรัพย์มรดกของเจ้ามรดก จำเลยที่ 1 ครอบครองแต่เพียงผู้เดียวมาก่อนเจ้ามรดกตาย โจทก์มิได้ฟ้องเรียกเอาส่วนมรดกภายใน 1 ปี ย่อมหมดสิทธิที่จะได้รับส่วนมรดก โจทก์มาฟ้องคดีนี้เกินกว่า 10 ปี นับแต่เจ้ามรดกตาย ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ จำเลยที่ 1 ขายที่ดินทั้งสองแปลงไปในราคาที่เหมาะสม จำเลยที่ 2 ได้ซื้อที่ดินถูกต้องตามกฎหมายโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน มิได้ฉ้อฉลโจทก์แต่อย่างใด
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 ซื้อที่ดินพิพาททั้งสองแปลงมาโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน จำเลยที่ 1 จดทะเบียนรับโอนเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์มาเกินกว่า 1 ปี โจทก์มาฟ้องเรียกทรัพย์มรดกส่วนของตนเกินกว่า 1 ปี ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินระหว่างจำเลยทั้งสอง ให้จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกแบ่งปันทรัพย์มรดกแก่โจทก์ทั้งสองรวมกันได้หนึ่งในห้าส่วน หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาของจำเลย ใส่ชื่อโจทก์ทั้งสองถือกรรมสิทธิ์ร่วมตามส่วนดังกล่าวในที่ดินโฉนดเลขที่ 123 และโฉนดเลขที่11585 ตำบลสนามจันทร์ อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม หากไม่ปฏิบัติตามให้จำเลยที่ 1 ใช้เงินแก่โจทก์ทั้งสองร่วมกันเป็นเงิน209,080 บาท
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติได้ตามที่คู่ความไม่โต้แย้งกันว่า นางทรัพย์ ไข่แก้ว เจ้ามรดกมีทายาทซึ่งเป็นบุตรรวม 5 คน และบุตรทุกคนมีสิทธิได้รับมรดก ในจำนวนบุตรทั้งห้าคนนั้นมีนางชื่น เปียแก้ว มารดาโจทก์ทั้งสอง กับนางสาวอรุณ ไข่แก้ว จำเลยที่ 1 เจ้ามรดกมีที่ดิน 2 แปลง เป็นทรัพย์มรดกโดยแปลงแรกโฉนดเลขที่ 123 และแปลงที่สองโฉนดเลขที่ 11585 ทั้งสองแปลงอยู่ที่ตำบลสนามจันทร์ อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม เจ้ามรดกตายเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2511 โดยก่อนตายไม่ได้ทำพินัยกรรมไว้และต่อมาปี 2519 นางชื่นมารดาโจทก์ทั้งสองถึงแก่กรรม ทรัพย์มรดกของนางชื่นตกได้แก่โจทก์ทั้งสอง เมื่อจำเลยที่ 1 ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการมรดกของนางทรัพย์เจ้ามรดกแล้ว ต่อมาวันที่ 27ธันวาคม 2527 จำเลยที่ 1 โอนที่ดินพิพาททั้งสองแปลงมาเป็นชื่อของจำเลยที่ 1 ในฐานะเป็นผู้จัดการมรดก และแล้วในวันที่ 2 มิถุนายน2529 จำเลยที่ 1 ขายที่ดินดังกล่าวในราคา 350,000 บาทให้แก่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นหลาน
ปัญหาแรกมีว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความมรดกหรือไม่นั้น จำเลยฎีกาว่าจำเลยที่ 1 ครอบครองที่ดินมรดกทั้งสองแปลงมาโดยตลอดโดยเจ้ามรดกตายตั้งแต่วันที่ 6 ธันวาคม 2511 โจทก์มาฟ้องเมื่อวันที่25 กรกฎาคม 2529 พ้นกำหนด 10 ปี นับแต่เจ้ามรดกตาย ฟ้องโจทก์ขาดอายุความแล้วนั้น… ข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ดังกล่าวแสดงว่าจำเลยที่ 1 ได้ครอบครองที่ดินพิพาทในฐานะเป็นผู้จัดการมรดกมิได้ครอบครองในฐานะเป็นของตนเองจึงเป็นการครอบครองแทนทายาทอื่นด้วย แม้จำเลยที่ 1 จะครอบครองนานสักเท่าใดเมื่อการจัดการมรดกยังไม่เสร็จสิ้นจำเลยที่ 1 จะยกอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754วรรคแรกและวรรคสุดท้ายขึ้นมาต่อสู้กับโจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นทายาทหาได้ไม่… พฤติการณ์ทั้งหมดดังกล่าวฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้รับโอนได้กระทำการโดยสุจริต และเห็นว่าที่ดินพิพาททั้งสองโฉนดนั้นโจทก์ทั้งสองมีส่วนได้รับ 1 ใน 5 ส่วน จึงให้เพิกถอนการโอนเฉพาะส่วนของโจทก์ทั้งสองเท่านั้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินโฉนดเลขที่123 ตำบลสระน้ำจัน (สนามจันทร์) อำเภอพระปฐมเจดีย์ (อำเภอเมืองนครปฐม) แขวงเมืองนครไชยศรี (จังหวัดนครปฐม) และที่ดินโฉนดเลขที่11585 ตำบลสนามจันทร์ อำเภอเมืองนครปฐม (พระปฐมเจดีย์) จังหวัดนครปฐม ระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 เฉพาะส่วนของโจทก์ทั้งสองนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.

Share