แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
การที่จำเลยที่ 1 พูดสำทับกับผู้เสียหายว่า “ถ้ามึงไม่ให้เดี๋ยวมันก็แทงมึงหรอกกูช่วยมึงไม่ได้” หลังจากจำเลยที่ 1 ขอยืมเงินและผู้เสียหายปฏิเสธ แล้วจำเลยที่ 1 หันไปคุยกับจำเลยที่ 2 ว่า “เฮ้ย แม่งไม่ให้เว้ย” จำเลยที่ 2 จึงลุกขึ้นยืนพร้อมกับล้วงมีดออกมาจากด้านหลังแล้วเดินเข้ามาใกล้ผู้เสียหาย และจำเลยที่ 1 ได้ผลักจำเลยที่ 2 พร้อมกับพูดว่า “มึงไม่ต้องแทง” ตามที่ผู้เสียหายซึ่งเป็นเด็กอายุไม่เกินสิบแปดปีเบิกความ ซึ่งศาลชั้นต้นได้ใช้วิธีการพิจารณาคดีสำหรับพยานที่เป็นเด็กเป็นการเฉพาะต่างจากพยานบุคคลทั่วไป โดยอยู่ในกำหนดหลักการว่าในคดีที่มีพยานเป็นเด็กอายุไม่เกินสิบแปดปี ศาลต้องจัดให้พยานเด็กอยู่ในสถานที่ที่เหมาะสมโดยการถามนั้นศาลจะเป็นผู้ถามพยานเอง หรือถามผ่านทางนักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์ หรือจะให้คู่ความถามผ่านนักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์ผลของกฎหมายดังกล่าวย่อมทำให้กระบวนการยุติธรรมสามารถได้ข้อเท็จจริงจากพยานเด็กมากขึ้นกว่าเดิม เพราะเมื่อมีวิธีการการถามผ่านนักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์ซึ่งเป็นผู้มีความรู้เกี่ยวกับจิตวิทยาเด็กและความเชี่ยวชาญในการซักถามเด็ก เชื่อว่าจะเป็นผลให้พยานเด็กสามารถให้ข้อเท็จจริงที่ถูกต้องสมบูรณ์ เช่นนี้ย่อมถือได้ว่าการกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการร่วมกันข่มขู่ผู้เสียหายว่าในทันทีทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้ายอันเป็นเหตุให้ผู้เสียหายเกิดความกลัวจึงได้มอบเงินให้แก่จำเลยทั้งสองจำเลยทั้งสองจึงมีความผิดฐานร่วมกันชิงทรัพย์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกหมายอาญา มาตรา 339, 371, 93, 91, 83, 33 ริบอาวุธมีดของกลาง ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนหรือใช้เงินสดจำนวน 83 บาท ที่ยังไม่ได้คืนแก่ผู้เสียหาย และขอให้ศาลเพิ่มโทษจำเลยที่ 2 ตามกฎหมาย และนับโทษจำเลยที่ 1 ต่อจากโทษของจำเลยที่ 2 ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 5482/2546 ของศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ แต่จำเลยที่ 1 รับว่าเป็นบุคคลเดียวกันกับจำเลยที่ 2 ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 5482/2546 ของศาลชั้นต้น และจำเลยที่ 2 รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกันกับจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1343/2543 ของศาลชั้นต้น
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 วรรคสอง ประกอบมาตรา 83 จำคุก 10 ปี จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 วรรคสอง ประกอบมาตรา 371, 83 การกระทำของจำเลยที่ 2 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานพามีดไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควร ปรับ 100 บาท ฐานร่วมกันชิงทรัพย์โดยมีอาวุธจำคุก 10 ปี รวมจำคุก 10 ปี ปรับ 100 บาท เพิ่มโทษจำเลยที่ 2 กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายกฎหมายอาญา มาตรา 93 เป็นจำคุก 15 ปี และปรับ 200 บาท ให้นับโทษจำเลยที่ 1 ต่อจากโทษของจำเลยที่ 2 ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 5482/2546 ของศาลชั้นต้น ถ้าจำเลยที่ 2 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ริบอาวุธมีดของกลาง ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนหรือใช้เงินสดจำนวน 83 บาท ที่ยังไม่ได้คืนแก่ผู้เสียหาย
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติว่า ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง จำเลยทั้งสองพบกับนายพินิจ ผู้เสียหายคดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยว่า จำเลยทั้งสองได้ร่วมกันชิงทรัพย์ผู้เสียหายโดยมีอาวุธและจำลยที่ 2 ได้พาอาวุธไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุอันควรตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่า ข้อสงสัยของศาลอุทธรณ์เป็นเพียงรายละเอียดเล็กน้อยที่ไม่อาจจะทำให้น้ำหนักในการรับฟังพยานโจทก์ลดน้อยลงจนไม่อาจรับฟังได้นั้น โจทก์มีนายพินิจ ผู้เสียหาย ซึ่งเป็นเด็กอายุไม่เกิน 18 ปี ได้เบิกความผ่านนักจิตวิทยากับมารดาชื่อนางสาวสมจริต จ่าสิบตำรวจบุญเชิด พันตำรวจตรีวิภาส พนักงานสอบสวนมาเบิกความเป็นพยาน คำเบิกความของบุคคลทั้งหมดดังกล่าวสอดคล้องและเชื่อมโยงกันโดยตลอดได้ความตามที่ได้กล่าวมาแล้วในทางนำสืบของโจทก์ โดยเฉพาะผู้เสียหายนั้น ศาลชั้นต้นได้ใช้วิธีการพิจารณาคดีสำหรับพยานที่เป็นเด็กเป็นการเฉพาะต่างจากพยานบุคคลทั่วไป โดยอยู่ในกำหนดหลักการว่าในคดีที่มีพยานเป็นเด็กอายุไม่เกินสิบแปดปี ศาลต้องจัดให้พยานเด็กอยู่ในสถานที่ที่เหมาะสมโดยในการถามนั้น ศาลจะเป็นผู้ถามพยานเอง หรือถามผ่านนักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์ หรือจะให้คู่ความถามผ่านนักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์ก็ได้ซึ่งผลของกฎหมายดังกล่าวทำให้กระบวนการยุติธรรมสามารถได้ข้อเท็จจริงจากพยานเด็กมากขึ้นกว่าเดิม เพราะเมื่อมีวิธีการถามความผ่านนักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์ซึ่งเป็นผู้มีความรู้เกี่ยวกับจิตวิทยาเด็กและความเชี่ยวชาญในการซักถามเด็ก เชื่อว่าจะเป็นผลให้พยานเด็กสามารถให้ข้อเท็จจริงที่ถูกต้องสมบูรณ์ จึงเชื่อว่าผู้เสียหายเบิกความไปตามความเป็นจริง เนื่องจากผู้เสียหายรู้จักจำเลยที่ 2 ดีและถ้อยคำและกิริยาท่าทางของจำเลยทั้งสองพูดและแสดงระหว่างกันและพูดกับผู้เสียหายตามที่ผู้เสียหายเบิกความนั้นย่อมทำให้ผู้เสียหายเกิดความกลัวจึงมอบเงินจำนวน 100 บาท และผู้เสียหายได้ไปแจ้งเหตุแก่มารดาซึ่งอยู่ห่างจากที่เกิดเหตุประมาณ 500 เมตร ทราบในทันที มารดาได้พาผู้เสียหายไปติดตามตัวจำเลยทั้งสองเมื่อไม่พบก็ไปแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนที่เกิดเหตุจนจับกุมจำเลยทั้งสองมาได้ในวันเกิดเหตุนั้นเอง เห็นได้ว่าพยานโจทก์ที่นำสืบมาให้การยืนยันข้อเท็จจริงเป็นขั้นเป็นตอนสอดคล้องต้องกัน มีความสัมพันธ์ระหว่างเหตุและผล ส่วนที่ผู้เสียหายเบิกความตอบคำถามค้านทนายจำเลยว่าได้เล่าเรื่องที่จำเลยที่ 1 พูดห้ามไม่ให้จำเลยที่ 2 ทำร้ายผู้เสียหายนั้นก็เห็นว่าถ้อยคำดังกล่าวก็มีลักษณะเหมือนจะย้ำขู่ผู้เสียหายมากกว่า เพราะคำพูดสำทับของจำเลยที่ 1 ตามที่ผู้เสียหายเบิกความว่า “ถ้ามึงไม่ให้เดี๋ยวมันก็แทงมึงหรอก กูช่วยมึงไม่ได้” นั้นย่อมทำให้ผู้เสียหายเกิดความกลัวมากขึ้น ผู้เสียหายอายุเพียง 17 ปี น้อยกว่าจำเลยทั้งสองมาก และไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยทั้งสองมาก่อน ไม่มีเหตุผลใดที่จะต้องเบิกความใส่ร้ายจำเลยทั้งสองโดยปราศจากมูลความจริง จำเลยทั้งสองก็นำสืบว่าได้พบกับผู้เสียหายที่หน้าร้านไทยฟ้าในวันและเวลาเกิดเหตุจริง เพียงแต่บ่ายเบี่ยงไปว่าเป็นการขอยืมเงินและไม่มีการข่มขู่ ก็เป็นการเจือสมกับพยานโจทก์ จำเลยทั้งสองมีอายุมากกว่าผู้เสียหายหลายปี ไม่มีเหตุใดที่จะถามยืมเงินจากผู้เสียหายซึ่งเป็นเด็กกว่าได้พยานหลักฐานจำเลยไม่อาจหักล้างพยานหลักฐานโจทก์ได้ ข้อเท็จจริงรับฟังได้โดยปราศจากสงสัยว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันข่มขู่ผู้เสียหายว่าในทันใดนั้นจะทำการประทุษร้ายอันเป็นเหตุให้ผู้เสียหายเกิดความกลัวจึงได้มอบเงินให้แก่จำเลยทั้งสอง จำเลยทั้งสองจึงต้องมีความผิดดังคำพิพากษาศาลชั้นต้น ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
อนึ่ง ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาได้มีพระราชบัญญัติล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระชนมพรรษา 80 พรรษา พ.ศ.2550 ใช้บังคับ มาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวให้ล้างมลทินให้แก่บรรดาผู้ต้องโทษในกรณีความผิดต่างๆ ซึ่งได้กระทำก่อนหรือในวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2550 และได้พ้นโทษไปก่อนแล้ว หรือในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับโดยให้ถือว่าผู้นั้นมิได้เคยถูกลงโทษในกรณีความผิดนั้นๆ ดังนั้น เมื่อความผิดที่ศาลชั้นต้นจำคุกจำเลยที่ 2 ที่โจทก์อาศัยเป็นเหตุขอให้เพิ่มโทษ จำเลยที่ 2 ได้พ้นโทษไปแล้วก่อนวันที่พระราชบัญญัติข้างต้นใช้บังคับ จำเลยที่ 2 ย่อมได้รับประโยชน์ตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว จึงเพิ่มโทษจำเลยที่ 2 ไม่ได้ แม้จำเลยที่ 2 มิได้ฎีกาในปัญหาข้อนี้แต่เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นอ้างและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 และเนื่องจากไม่ปรากฏว่าคดีอาญาหมายเลขดำที่ 5482/2546 ของศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาแล้ว จึงไม่นับโทษจำเลยที่ 1 ต่อจากโทษของจำเลยที่ 2 ในคดีดังกล่าว”
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น แต่ไม่เพิ่มโทษจำเลยที่ 2 และไม่นับโทษจำเลยที่ 1 ต่อจากโทษของจำเลยที่ 2 ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 5482/2546 ของศาลชั้นต้น