คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6443/2545

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 และที่ 2 พาผู้เสียหายขึ้นรถกระบะจากบ้านพักของผู้เสียหายไปให้หญิงไม่ทราบชื่อทำแท้งโดยผู้เสียหายยินยอม ในระหว่างนั้นจำเลยที่ 1 นั่งขวางประตูบ้านอยู่ด้วย เป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกก่อนหรือขณะกระทำความผิดจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงมีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 302 วรรคแรก ประกอบมาตรา 86 ซึ่งแม้โจทก์มิได้ขอให้ลงโทษตามมาตรานี้ศาลก็ลงโทษได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคท้ายเพราะการทำให้หญิงแท้งลูกไม่ว่าหญิงนั้นจะยินยอมหรือไม่ ประมวลกฎหมายอาญาบัญญัติเป็นความผิดทั้งนั้น

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้หญิงคนหนึ่งไม่ทราบชื่อทำให้นางสาวปราณี วังพล ผู้เสียหายแท้งลูกโดยผู้เสียหายไม่ยินยอม ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 84, 303 กับขอให้นับโทษจำเลยที่ 1 ต่อจากโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 3157/2540 ของศาลชั้นต้น

จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 302 วรรคแรก ประกอบมาตรา 86, 83 ลงโทษจำคุกคนละ 8 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1และที่ 2 มีว่า ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นผู้สนับสนุนให้ผู้อื่นทำให้ผู้เสียหายแท้งลูกโดยผู้เสียหายยินยอมตามคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 8 หรือไม่ โจทก์มีผู้เสียหายเป็นพยานเบิกความว่าเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม2540 เวลาประมาณ 19 นาฬิกา ผู้เสียหายถูกจำเลยที่ 1 ข่มขืนกระทำชำเราที่บ้านของจำเลยที่ 1 จนสำเร็จความใคร่ 1 ครั้ง โดยจำเลยที่ 1 พูดขู่ว่าหากเอาเรื่องไปบอกคนอื่นจะถูกฆ่า ต่อมาประมาณ 6 ถึง 7 วัน ผู้เสียหายได้เล่าให้นางปราณี บุตรแขก ญาติผู้เสียหายฟัง ประมาณวันที่ 17 ถึง 26 พฤษภาคม 2540 รอบประจำเดือนของผู้เสียหายไม่มาตามปกติ ผู้เสียหายเข้าใจว่าตั้งครรภ์จึงไปเล่าให้นางปราณีฟังอีก เมื่อวันที่ 27พฤษภาคม 2540 นางปราณีได้พาผู้เสียหายไปตรวจที่สถานีอนามัยบ้านช่องพลี เจ้าหน้าที่อนามัยยืนยันว่าผู้เสียหายตั้งครรภ์ กลับบ้านแล้วผู้เสียหายได้เล่าให้พี่ชายผู้เสียหายฟังพี่ชายผู้เสียหายโกรธมาก ผู้เสียหายจึงหนีไปอยู่บ้านบิดาอดีตสามีผู้เสียหาย จากนั้นนางปราณีได้แจ้งให้ผู้เสียหายทราบว่าจำเลยที่ 1 ยอมรับว่าจะอยู่กินฉันสามีภริยากับผู้เสียหาย โดยทำให้ถูกต้องตามประเพณีของศาสนาอิสลาม แต่จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นมารดาของจำเลยที่ 1 ไม่ยินยอม ครั้นวันที่ 29 พฤษภาคม 2540 เวลาประมาณ 6 นาฬิกาจำเลยทั้งสามมาหาผู้เสียหายที่บ้าน โดยจำเลยที่ 1 และที่ 2 บอกว่าจะมารับไปทำพิธีแต่งงานตามประเพณีของศาสนาอิสลาม ผู้เสียหายเชื่อจึงขึ้นรถกระบะไปกับจำเลยทั้งสามโดยมีจำเลยที่ 1 เป็นผู้ขับ ระหว่างทางจำเลยที่ 3 บอกให้ผู้เสียหายไปทำแท้งลูกเสียก่อนเพราะจำเลยที่ 1 ยังไม่พร้อมที่จะรับผิดชอบ หลังจากจำเลยที่ 3 ลงจากรถที่ตลาดเหนือคลองแล้ว จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้พาผู้เสียหายไปบ้านไม้ชั้นเดียวหลังหนึ่งซึ่งผู้เสียหายเข้าใจว่าอยู่ที่จังหวัดตรัง ที่บ้านหลังดังกล่าวมีหญิงคนหนึ่งอายุ 40 ปีเศษเป็นคนทำแท้งโดยใช้ตะขอใส่เข้าไปในช่องคลอดของผู้เสียหายแล้วเขย่า ๆ โดยมีหญิงวัยรุ่น 2 คน ช่วยกันจับขาของผู้เสียหายไว้ซึ่งใช้เวลาประมาณ 30 นาที ระหว่างนั้นมีจำเลยที่ 1 นั่งขวางประตูบ้านไว้ เห็นว่า แม้โจทก์มีผู้เสียหายเป็นประจักษ์พยานเบิกความเพียงปากเดียว แต่ก็เบิกความสมเหตุผลมีน้ำหนักน่าเชื่อถือ เมื่อพิจารณาประกอบรายงานผลการตรวจชันสูตรบาดแผลของแพทย์ตามเอกสารหมาย จ.1 ซึ่งระบุว่าผู้เสียหายมีแผลถลอกใหม่ที่บริเวณช่องคลอดทางด้านล่างปากมดลูกเปิดแสดงว่าผู้เสียหายผ่านการทำแท้ง อาจจะเป็นไปได้ว่าผ่านการทำแท้งเพราะมีบาดแผลถลอกใหม่เกิดขึ้นที่เกิดจากมีการสอดใส่วัตถุเข้าไปในช่องคลอด เอกสารดังกล่าวจัดทำขึ้นโดยแพทย์ประจำโรงพยาบาลกระบี่ผู้ตรวจร่างกายผู้เสียหาย ตามที่ร้อยตำรวจเอกสุเมธปานคงพนักงานสอบสวนซึ่งเป็นพยานโจทก์เป็นผู้นำส่งจำเลยที่ 1 และที่ 2 มิได้ปฏิเสธความถูกต้องของเอกสารดังกล่าวเชื่อว่าในวันเกิดเหตุหญิงไม่ทราบชื่อกับพวกอีก 2 คนทำให้ผู้เสียหายแท้งลูก ที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 นำสืบอ้างว่าเพียงแต่ร่วมกันพาผู้เสียหายซึ่งมีอาการปวดท้องไปให้แพทย์ที่โรงพยาบาลห้วยยอด จังหวัดตรัง ตรวจร่างกายนั้นขัดต่อเหตุผลเนื่องจากจำเลยที่ 1 อ้างว่าในวันดังกล่าวจำเลยที่ 1 จะไปทำงานขับรถไถรับจ้างตามปกติแต่กลับพาจำเลยที่ 2 ไปรับผู้เสียหายไปตรวจร่างกาย เป็นพิรุธ พยานจำเลยที่ 1และที่ 2 ไม่มีน้ำหนักและเหตุผลเพียงพอหักล้างพยานหลักฐานโจทก์ได้ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ตามวันเวลาเกิดเหตุจำเลยที่ 1 และที่ 2 พาผู้เสียหายขึ้นรถกระบะจากบ้านพักของผู้เสียหายไปให้หญิงไม่ทราบชื่อกับพวกอีก 2 คน ทำให้ผู้เสียหายแท้งลูกโดยผู้เสียหายยินยอม ในระหว่างการทำแท้งนั้น จำเลยที่ 1 นั่งขวางประตูบ้านอยู่ด้วย พฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกก่อนหรือขณะกระทำความผิดในการที่ผู้อื่นทำแท้งผู้เสียหายจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงมีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดดังกล่าวตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 302 วรรคแรก ประกอบมาตรา 86 ซึ่งแม้โจทก์มิได้ขอให้ลงโทษตามมาตรานี้ดังที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกาศาลก็ย่อมลงโทษได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคท้ายเพราะการทำให้หญิงแท้งลูกไม่ว่าหญิงนั้นจะยินยอมหรือไม่ ประมวลกฎหมายอาญาบัญญัติเป็นความผิดทั้งนั้น หากแต่กำหนดโทษหนักเบาต่างกัน ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8พิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 2 มานั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share