แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งเลขาธิการสำนักงานประกันสังคมที่มีคำสั่งยืนตามคำสั่งพนักงานเงินทดแทน สำนักงานประกันสังคมกำแพงเพชร ซึ่งคำสั่งดังกล่าวออกโดยอาศัยอำนาจตามความในข้อ 60แห่งประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน เมื่อโจทก์ซึ่งเป็นนายจ้างเป็นฝ่ายนำคดีมาสู่ศาล โจทก์ก็ต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติในวรรคสี่ของข้อ 60 แห่งประกาศกระทรวงมหาดไทยดังกล่าวข้างต้น โดยจะต้องวางเงินต่อศาลตามจำนวนที่ถึงกำหนดชำระตามคำสั่งของเลขาธิการสำนักงานประกันสังคมจึงจะฟ้องคดีได้อันเป็นเงื่อนไขในการยื่นฟ้อง ซึ่งโจทก์มีหน้าที่จะต้องปฏิบัติตามโดยไม่จำต้องได้รับคำสั่งจากศาลแรงงานกลางก่อน เพราะหาใช่เป็นหน้าที่ของศาลแรงงานกลางที่จะต้องมีคำสั่งเช่นนั้นไม่ และเมื่อศาลจังหวัดกำแพงเพชรมีอำนาจที่จะรับคำฟ้องโจทก์ไว้ได้ก็ย่อมมีอำนาจรับเงินที่ต้องวางต่อศาลดังกล่าวได้ด้วย โดยไม่จำต้องได้รับคำสั่งจากศาลแรงงานกลางก่อนเช่นกัน ดังนั้น เมื่อโจทก์มิได้วางเงินต่อศาลจึงไม่มีสิทธิฟ้องคดีนี้ตามบทกฎหมายข้างต้น
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนายจ้างของนายฉลอง อินทร์ประจักษ์เกษมเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2534 เวลาประมาณ 15 นาฬิกา นายฉลองลูกจ้างได้ให้นายสังวาลนำรถบรรทุกไปหารถคันอื่นมาลากรถบรรทุกที่ติดหล่มอยู่ โดยนายฉลองเดินทางไปด้วย ระหว่างทางรถเสียหลักพลิกคว่ำเป็นเหตุให้นายฉลองบาดเจ็บสาหัสและเสียชีวิตเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2535 พนักงานเงินทดแทนของจำเลยได้สอบสวนข้อเท็จจริงและมีคำสั่งพนักงานเงินทดแทนสำนักงานประกันสังคมจังหวัดกำแพงเพชร ที่ 2/2535 ให้โจทก์จ่ายเงินทดแทนให้แก่ผู้มีสิทธิ โจทก์อุทธรณ์คำสั่งพนักงานเงินทดแทนดังกล่าวต่อเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม เลขาธิการสำนักงานประกันสังคมได้มีคำสั่งเลขาธิการสำนักงานประกันสังคมที่ 30/2536 ยืนตามคำสั่งพนักงานเงินทดแทนที่ 2/2535 โจทก์ไม่เห็นพ้องด้วยกับคำสั่งเลขาธิการสำนักงานประกันสังคมที่ 30/2536 เนื่องจากนายฉลองมิได้เป็นพนักงานขับรถประจำคันที่ประสบอุบัติเหตุและได้ขับรถออกนอกเส้นทางและมารดาของนายฉลองได้รับค่าเสียหายและทำสัญญาประนีประนอมยอมความไว้ต่อหน้าพนักงานสอบสวนว่าจะไม่เรียกร้องค่าเสียหายใด ๆ อีก โจทก์มีลูกจ้างไม่ถึงสิบคน ไม่อยู่ในข่ายบังคับตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 แต่อย่างใด ขอให้พิพากษาเพิกถอนคำวินิจฉัยของจำเลยและพิพากษาว่าโจทก์ไม่ต้องจ่ายค่าเสียหายใด ๆ กับไม่ต้องปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานเงินทดแทนดังกล่าว
ศาลแรงงานกลางตรวจคำฟ้องของโจทก์แล้วมีคำสั่งว่าโจทก์ไม่วางเงินต่อศาลตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ข้อ 60 วรรคสี่ เป็นการไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนของกฎหมาย ให้ยกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า โจทก์อื่นฟ้องต่อศาลจังหวัดกำแพงเพชร เจ้าหน้าที่ของศาลดังกล่าวบอกว่าหากจะมีการวางเงินอย่างใด ศาลแรงงานกลางจะต้องมีหนังสือแจ้งให้ศาลจังหวัดกำแพงเพชรแจ้งให้คู่ความนั้น ๆ มาวางเงินและให้ศาลจังหวัดกำแพงเพชรรับเงินแทน ทนายโจทก์เห็นว่าศาลแรงงานกลางเป็นศาลพิเศษ จึงเชื่อตามที่เจ้าหน้าที่บอกการที่ศาลแรงงานกลางไม่ได้มีคำสั่งเป็นหนังสือแจ้งไปเช่นนี้ทำให้โจทก์ไม่สามารถวางเงินและไม่สามารถปฏิบัติตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 60 วรรคสี่ได้นั้น เห็นว่าคดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของจำเลยซึ่งพอแปลได้ว่า ขอให้เพิกถอนคำสั่งเลขาธิการสำนักงานประกันสังคมที่ 30/2536 ที่มีคำสั่งยืนตามคำสั่งพนักงานเงินทดแทน สำนักงานประกันสังคมจังหวัดกำแพงเพชร ที่ 2/2535 ซึ่งคำสั่งดังกล่าวออกโดยอาศัยอำนาจตามความในข้อ 60 แห่งประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน เมื่อโจทก์ซึ่งเป็นนายจ้างเป็นฝ่ายนำคดีมาสู่ศาล โจทก์ก็ต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติในวรรคสี่ของข้อ 60 แห่งประกาศกระทรวงมหาดไทยดังกล่าวข้างต้น โดยจะต้องวางเงินต่อศาลตามจำนวนที่ถึงกำหนดชำระตามคำสั่งของเลขาธิการสำนักงานประกันสังคมจึงจะฟ้องคดีได้ อันเป็นเงื่อนไขในการยื่นฟ้อง ซึ่งโจทก์มีหน้าที่จะต้องปฏิบัติตามโดยไม่จำต้องได้รับคำสั่งจากศาลแรงงานกลางก่อน เพราะหาใช่เป็นหน้าที่ของศาลแรงงานกลางที่จะต้องมีคำสั่งเช่นนั้นไม่และเมื่อศาลจังหวัดกำแพงเพชรมีอำนาจที่จะรับคำฟ้องโจทก์ไว้ได้ก็ย่อมมีอำนาจรับเงินที่ต้องวางต่อศาลดังกล่าวได้ด้วย โดยไม่จำต้องได้รับคำสั่งจากศาลแรงงานกลางก่อนเช่นกัน ดังนั้น เมื่อโจทก์มิได้วางเงินต่อศาลจึงไม่มีสิทธิฟ้องคดีนี้ตามบทกฎหมายข้างต้น
พิพากษายืน