คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7618/2542

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์จำเลยไม่สามารถจดทะเบียนซื้อขายที่ดินพิพาทได้ เนื่องจากยังไม่ครบกำหนดระยะเวลาตามประกาศขายที่ดินพิพาท และการประกาศดังกล่าวเป็นการประกาศตามกฎกระทรวงฉบับที่ 35 (พ.ศ. 2531) ข้อ 5 ออกตามความใน พ.ร.บ.ให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 ซึ่งอยู่ในอำนาจหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่เป็นผู้ปิดประกาศ ฉะนั้นการที่จำเลยไม่สามารถจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์จึงเป็นพฤติการณ์ที่จำเลยไม่ต้องรับผิดชอบตาม ป.พ.พ. มาตรา 205 จำเลยจึงยังไม่ผิดนัดและไม่ผิดสัญญา และพฤติการณ์ก็ไม่ใช่ความรับผิดชอบของโจทก์เช่นกัน เมื่อโจทก์และจำเลยต่างก็ไม่ได้ผิดนัดผิดสัญญา และโจทก์ไม่ติดใจที่จะนัดจดทะเบียนโอนกันใหม่ โดยให้ทนายความมีหนังสือเรียกค่าเสียหายและเรียกมัดจำคืน ส่วนจำเลยมีหนังสือแจ้งโจทก์ขอนัดจดทะเบียนโอนกันใหม่ แต่โจทก์มิได้มีหนังสือตอบตกลงด้วย จำเลยจึงมีหนังสือถึงโจทก์ขอริบมัดจำ แสดงว่าโจทก์จำเลยต่างตกลงเลิกสัญญากันโดยปริยาย คู่สัญญาต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิมตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 จำเลยจึงต้องคืนเงินมัดจำพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอบังคับให้จำเลยรับผิดต่อโจทก์เป็นเงิน ๑,๕๐๔,๔๓๘.๓๖ บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ ๗.๕ ต่อปี จากเงินต้น ๓๐๐,๐๐๐ บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จ
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๑ พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่า เมื่อวันที่ ๕ กรกฎาคม ๒๕๓๘ โจทก์จำเลยตกลงทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทในราคา ๓,๕๐๐,๐๐๐ บาท โจทก์วางเงินมัดจำไว้แก่จำเลยจำนวน ๓๐๐,๐๐๐ บาท ตกลงจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทในวันที่ ๒๕ สิงหาคม ๒๕๓๘ ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกมีว่า จำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาไม่ไปทำการจดทะเบียนโอนที่ดินตามวันที่ได้มีการตกลงกันไว้ในสัญญาหรือไม่ โจทก์มีตัวโจทก์และนายจำลักษณ์ กันเพ็ชร เป็นพยานเบิกความว่า วันที่ ๒๕ สิงหาคม ๒๕๓๘ เวลา ๘.๓๐ นาฬิกา โจทก์ นายจำลักษณ์ นางสกุลรัตน์ ตรีนาคพันธุ์ และนางศากุน สุนรบดี ได้ไปที่สำนักงานที่ดินจังหวัดอุบลราชธานี เพื่อทำการจดทะเบียนซื้อขายที่ดินพิพาท และได้ยื่นคำร้องขอประเมินราคาที่ดินพิพาทเพื่อที่จะทราบว่า จะต้องเสียภาษีเท่าใด จึงทำให้ทราบว่าจำเลยไม่สามารถโอนสิทธิที่ดินพิพาทให้ในวันดังกล่าวได้ เนื่องจากปิดประกาศขายที่ดินพิพาทยังไม่ครบกำหนด ๓๐ วัน ส่วนจำเลยมีตัวจำเลยและนายรุ่งฤทธิ์ ตันสุขเกษม เป็นพยานเบิกความว่า วันที่ ๒๕ สิงหาคม ๒๕๓๘ เวลาประมาณ ๑๓ นาฬิกา จำเลยและนายรุ่งฤทธิ์ได้ไปที่สำนักงานที่ดินสอบถามเจ้าพนักงานที่ดินแล้ว เจ้าพนักงานที่ดินบอกว่า ยังไม่สามารถโอนที่ดินพิพาทได้เนื่องจากยังไม่ครบกำหนดเวลาตามประกาศขายที่ดินพิพาท เห็นว่า โจทก์จำเลยต่างนำสืบว่า ได้ไปยังสำนักงานที่ดินแต่ไม่สามารถจดทะเบียนซื้อขายที่ดินพิพาทได้ เนื่องจากยังไม่ครบกำหนดระยะเวลาตามประกาศขายที่ดินพิพาท และการประกาศดังกล่าวเป็นการประกาศตามกฎกระทรวงฉบับที่ ๓๕ (พ.ศ. ๒๕๓๑) ข้อ ๕ ออกตามความในพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. ๒๔๙๗ ซึ่งอยู่ในอำนาจหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่เป็นผู้ปิดประกาศ ฉะนั้นการที่จำเลยไม่สามารถจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์จึงเป็นพฤติการณ์ที่จำเลยไม่ต้องรับผิดชอบตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา ๒๐๕ จำเลยจึงยังไม่ผิดนัดและไม่ผิดสัญญา
สำหรับปัญหาว่า โจทก์เสียหายหรือไม่เพียงใด โจทก์ฎีกาเป็นข้อสุดท้ายแต่เพียงว่า จำเลยต้องคืนเงินมัดจำแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยหรือไม่ เห็นว่า เมื่อโจทก์และจำเลยต่างก็ไม่ได้ผิดนัดผิดสัญญา และโจทก์ไม่ติดใจที่จะนัดจดทะเบียนโอนกันใหม่โดยให้ทนายความมีหนังสือเรียกค่าเสียหายและเรียกมัดจำคืน ส่วนจำเลยมีหนังสือแจ้งโจทก์ขอนัดจดทะเบียนโอนกันใหม่ แต่โจทก์มิได้มีหนังสือตอบตกลงด้วย จำเลยไปแจ้งความว่า โจทก์ไม่ไปตามนัดในครั้งหลังและมีหนังสือถึงโจทก์ขอริบมัดจำ แสดงว่าโจทก์จำเลยต่างตกลงเลิกสัญญากันโดยปริยายคู่สัญญาต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิมตาม ป.พ.พ. มาตรา ๓๙๑ จำเลยจึงต้องคืนเงินมัดจำ ๓๐๐,๐๐๐ บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับตั้งแต่เวลาที่ได้รับเงินไว้เป็นต้นไป
พิพากษากลับให้จำเลยชำระเงิน ๓๐๐,๐๐๐ บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จ

Share