แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ
ย่อสั้น
ไม่มีย่อสั้น
ย่อยาว
(สำเนา)
คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๑๙/๒๕๕๔
วันที่ ๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔
เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒
ศาลแพ่ง
ระหว่าง
ศาลปกครองสงขลา
การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลแพ่งโดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น
ข้อเท็จจริงในคดี
นางนิม๊ะ กาเซ็ง ที่ ๑ นายอนุวัฒน์ กาเซ็ง ที่ ๒ นางสาววนิดา กาเซ็ง ที่ ๓ นางสาววราภรณ์ กาเซ็ง ที่ ๔ โจทก์ ยื่นฟ้องกระทรวงกลาโหม ที่ ๑ กองทัพบก ที่ ๒ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ ๓ จำเลย ต่อศาลแพ่ง เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๑๐๘๔/๒๕๕๒ ความว่า โจทก์ที่ ๑ เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายยะผา กาเซ็ง ผู้ตาย โจทก์ที่ ๒ ถึงที่ ๔ เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ที่ ๑ กับนายยะผา เมื่อวันที่ ๑๙ มีนาคม ๒๕๕๑ พันตำรวจเอก ทนงศักดิ์ วังสุภา ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรรือเสาะสั่งการผู้ใต้บังคับบัญชา กับพันตรี วิชา ภู่ทอง ผู้รักษาการแทนผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจนราธิวาสที่ ๓๙ นำกำลังเข้าตรวจค้นบ้านของนายยะผาและโจทก์ทั้งสี่ และทำการจับกุมนายยะผา นายอามิง กาเซ็ง และนายอนันต์ กาเซ็ง โดยไม่แสดงหมายค้น หมายจับ และไม่แจ้งข้อกล่าวหา แล้วควบคุมตัวบุคคลดังกล่าวไปที่ศูนย์ปฏิบัติการกองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัดนราธิวาส จากนั้นพันตำรวจเอก สมพงษ์ ชิงดวง และพันตำรวจเอก ทนงศักดิ์ กับพวก ได้ร่วมกันแถลงข่าวด้วยข้อความอันฝ่าฝืนต่อความจริงว่า นายยะผา นายอนันต์ และนายอามิง เป็นแกนนำผู้ก่อการร้ายแบ่งแยกดินแดนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งการกระทำดังกล่าวเป็นการดูหมิ่นซึ่งหน้าและหมิ่นประมาทนายยะผา นายอนันต์ และนายอามิง และทำให้โจทก์ทั้งสี่ได้รับความเสียหายต่อชื่อเสียงถูกชาวบ้านที่เคยให้ความเคารพนับถือนายยะผาในฐานะโต๊ะอิหม่ามดูหมิ่นและเกลียดชัง เมื่อแถลงข่าวเสร็จก็ได้นำตัวนายยะผา นายอนันต์ นายอามิง และบุคคลอื่นที่ถูกควบคุมตัวพร้อมกันมอบให้หน่วยเฉพาะกิจนราธิวาสที่ ๓๙ ต่อมาวันที่ ๒๐ มีนาคม ๒๕๕๑ ระหว่างที่นายยะผาถูกควบคุมตัวอยู่บนรถบรรทุกหกล้อซึ่งใช้สำหรับควบคุมตัวผู้ต้องหาของสถานีตำรวจภูธรรือเสาะจอดอยู่ภายในฐานปฏิบัติการของหน่วยเฉพาะกิจนราธิวาสที่ ๓๙ พันตรี วิชา ร้อยเอก ศิริเขตต์ วานิชบำรุง จ่าสิบเอก เริงณรงค์ บัวงาม สิบเอก ณรงค์ฤทธิ์ หาญเวช สิบเอก บัณฑิต ถิ่นสุข กับเจ้าหน้าที่ทหารจากหน่วยเฉพาะกิจนราธิวาสที่ ๓๙ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ทหารในสังกัดจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ร่วมกันนำตัวนายยะผาออกไปจากสถานที่ควบคุมแล้วร่วมกันทำร้ายร่างกายนายยะผา เพื่อบังคับให้รับสารภาพว่ามีส่วนเกี่ยวข้องรู้เห็นกับการก่อการร้ายในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ จนนายยะผาได้รับบาดเจ็บสาหัส แล้วนำกลับไปควบคุมตัวในรถหกล้อโดยไม่นำไปรักษาพยาบาล เป็นเหตุให้นายยะผาถึงแก่ความตายภายในรถหกล้อคันดังกล่าวเมื่อวันที่ ๒๑ มีนาคม ๒๕๕๑ การกระทำของเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจซึ่งอยู่ในความควบคุมกำกับดูแลของจำเลยทั้งสาม เป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสี่ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ย และให้จำเลยทั้งสามร่วมกันลงประกาศขอโทษนายยะผาและครอบครัวโจทก์ทั้งสี่ทางหนังสือพิมพ์ เป็นเวลาติดต่อกันเจ็ดวัน กับให้ส่งหนังสือขอโทษของจำเลยทั้งสามไปตามหน่วยงานทหารและตำรวจในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ทุกหน่วยด้วยค่าใช้จ่ายของจำเลยทั้งสาม
จำเลยทั้งสามให้การว่า การกระทำของเจ้าหน้าที่ทหารและเจ้าหน้าที่ตำรวจที่โจทก์ทั้งสี่กล่าวอ้างตามฟ้องอยู่ในพื้นที่ที่มีการประกาศใช้กฎอัยการศึกและการตรวจค้นกระทำโดยอาศัยอำนาจตามกฎอัยการศึก มาตรา ๘ ซึ่งบทบัญญัติมาตรา ๑๖ กำหนดว่า ความเสียหายซึ่งอาจบังเกิดขึ้นอย่างหนึ่งอย่างใด จากการดำเนินการตามมาตรา ๘ บุคคลใดๆ จะร้องขอค่าเสียหายหรือค่าปรับอย่างหนึ่งอย่างใดไม่ได้ การจับกุมและควบคุมตัวนายยะผาและบุคคลอื่นๆ เป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย โดยอาศัยอำนาจตามกฎอัยการศึก มาตรา ๑๕ ทวิ โจทก์ทั้งสี่ไม่มีอำนาจฟ้อง เพราะจำเลยทั้งสามมิได้มีอำนาจบังคับบัญชาสั่งการเจ้าหน้าที่ทหาร ฉก. นราธิวาส ๓๙ และเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ. รือเสาะ ซึ่งอยู่ภายใต้บังคับบัญชาของ กอ.รมน. ภาค ๔ ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี และเจ้าหน้าที่ดังกล่าวมิได้ปฏิบัติราชการให้แก่จำเลยทั้งสาม อีกทั้งจากการสอบสวนของคณะกรรมการสอบสวนของ ฉก. นราธิวาส ได้ความว่า เจ้าหน้าที่ทหารภายใต้บังคับบัญชา กอ.รมน. ซึ่งอยู่ในที่เกิดเหตุ ไม่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายในการซักถามผู้ถูกควบคุมตัว (นายยะผา) และการกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำที่ขัดคำสั่งและไม่ปฏิบัติตามนโยบายผู้บังคับบัญชาว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องสงสัยที่ถูกควบคุมตัว ดังนั้น การที่เจ้าหน้าที่ทหารดังกล่าวทำร้ายร่างกายนายยะผาจนเป็นเหตุให้นายยะผาถึงแก่ความตาย จึงเป็นการกระทำส่วนตัว ไม่ใช่การกระทำในการปฏิบัติหน้าที่ที่หน่วยงานของรัฐจะต้องรับผิดในการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ มาตรา ๖ อย่างไรก็ตาม จำเลยที่ ๓ ไม่มีส่วนร่วมในการกระทำของเจ้าหน้าที่ทหารและมิได้มีอำนาจบังคับบัญชาเจ้าหน้าที่ดังกล่าว ประกอบกับศาลจังหวัดนราธิวาสมีคำสั่งในคดีหมายเลขแดงที่ ๑๙/๒๕๕๑ ว่า ผู้ตายถูกเจ้าหน้าที่ทหารทำร้ายร่างกายในระหว่างที่อยู่ในความควบคุมของเจ้าหน้าที่ทหาร จำเลยที่ ๓ จึงไม่ใช่หน่วยงานของรัฐที่ต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสี่อันเนื่องมาจากการตายของนายยะผา นอกจากนี้ การกระทำของเจ้าหน้าที่ตำรวจในการแถลงข่าวประชาสัมพันธ์มิได้กระทำไปโดยมีเจตนากลั่นแกล้งหรือจงใจให้บุคคลใดเสื่อมเสียต่อเสรีภาพและชื่อเสียง ไม่เป็นการหมิ่นประมาททางแพ่ง จำเลยทั้งสามจึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่จำเลยทั้งสี่ ประกอบกับคดีในส่วนนี้ขาดอายุความ โจทก์ทั้งสี่ไม่ได้รับความเสียหายตามจำนวนที่โจทก์ทั้งสี่เรียกร้อง ทั้งค่าเสียหายที่เรียกร้องสูงเกินความเสียหายที่แท้จริง คดีไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม แต่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยทั้งสามยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีนี้มิใช่กรณีที่โจทก์เรียกร้องค่าเสียหายจากการกระทำละเมิดของเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และเหตุละเมิดที่เกิดขึ้นก็ไม่อยู่ระหว่างขั้นตอนการดำเนินกระบวนการยุติธรรมทางอาญาตามที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญากำหนดให้อำนาจเจ้าหน้าที่ของรัฐไว้ อันจะทำให้คดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม แต่เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎอัยการศึกและประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ ๑/๒๕๔๙ ลงวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ และประกาศเลิกใช้กฎอัยการศึกในบางเขตพื้นที่และให้ใช้กฎอัยการศึกในบางเขตพื้นที่ ลงวันที่ ๑๓ ธันวาคม ๒๕๕๐ อันเป็นกฎหมายเฉพาะและเป็นอำนาจของฝ่ายทหารที่กำหนดให้ฝ่ายทหารมีอำนาจเหนือเจ้าหน้าที่ฝ่ายพลเรือน อีกทั้งเหตุละเมิดตามฟ้องก็เกิดขึ้นก่อนขั้นตอนการดำเนินกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ดังนั้นกรณีจึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย หรือจากกฎ คำสั่งทางปกครองหรือคำสั่งอื่นตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) ประกอบกับศาลแพ่ง (คดีหมายเลขดำที่ ๑๐๘/๒๕๕๒) และศาลปกครองสงขลาได้มีความเห็นเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลว่าเรื่องที่มีข้อเท็จจริงเช่นคดีนี้ให้อยู่ในอำนาจศาลปกครอง มิใช่ศาลแพ่ง
ศาลแพ่งพิจารณาแล้วเห็นว่า โจทก์ทั้งสี่ฟ้องจำเลยทั้งสามให้ร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนอันเนื่องมาจากการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ทหารและเจ้าหน้าที่ตำรวจในสังกัดจำเลยทั้งสาม ซึ่งการกระทำดังกล่าวแม้เริ่มจากการจับกุมและควบคุมตัวผู้ตาย อันอาจเป็นปัญหาว่าเป็นการใช้อำนาจในทางทางปกครองหรือไม่ แต่การนำตัวผู้ตายไปแถลงข่าวและทำร้ายผู้ตายตามคำฟ้อง ก็มิใช่ขั้นตอนในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาตามที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญากำหนดให้อำนาจเจ้าหน้าที่ของรัฐไว้ และมิใช่การกระทำละเมิดโดยอาศัยอำนาจอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎอัยการศึกและประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ลงวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ และประกาศเลิกใช้กฎอัยการศึกในบางเขตพื้นที่ อันเป็นกฎหมายเฉพาะและเป็นอำนาจของฝ่ายบริหารที่กำหนดให้ฝ่ายทหารมีอำนาจเหนือเจ้าหน้าที่ฝ่ายพลเรือน เพราะกฎหมายดังกล่าวมิได้กำหนดให้อำนาจหน้าที่เจ้าหน้าที่ของรัฐให้ทำการแถลงข่าวเรื่องการควบคุมตัวผู้ต้องหาหรือทำต่อผู้ต้องหาด้วยวิธีรุนแรงเพื่อให้การรับสารภาพ จึงมิใช่คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย หรือจากกฎ คำสั่งทางปกครองหรือคำสั่งอื่น ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองสงขลาพิจารณาแล้วเห็นว่า หากพิจารณาบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๒๑๘ และมาตรา ๒๒๓ ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ จะเห็นได้ว่า เกณฑ์การพิจารณาเรื่องอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลปกครองและศาลยุติธรรมต้องพิจารณาเขตอำนาจของศาลปกครองตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญเป็นสำคัญ หากคดีพิพาทใดอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองแล้วศาลยุติธรรมย่อมไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนั้น คดีนี้เมื่อการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ทหารและเจ้าหน้าที่ตำรวจในสังกัดของจำเลยทั้งสามเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของรัฐ เป็นการใช้อำนาจทางปกครองและเป็นการปฏิบัติหน้าที่ในการดำเนินกิจการทางปกครองตามที่กฎหมายกำหนด การที่โจทก์ทั้งสี่ฟ้องว่าการกระทำของเจ้าหน้าที่ดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมายและทำให้โจทก์ทั้งสี่ได้รับความเสียหาย จึงเป็นคดีพิพาทอันเนื่องมาจากการใช้อำนาจทางปกครองหรือการดำเนินกิจการทางปกครอง ตามมาตรา ๒๒๓ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ และศาลปกครองมีอำนาจกำหนดคำบังคับเพื่อเยียวยาความเดือดร้อนหรือเสียหายแก่โจทก์ทั้งสี่ได้ตามมาตรา ๗๒ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง อนึ่ง ศาลแพ่งเคยมีความเห็นเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล ความเห็นที่ ๑๐/๒๕๕๒ ลงวันที่ ๒๙ พฤษภาคม ๒๕๕๒ ในคดีหมายเลขดำที่ ๑๐๘/๒๕๕๒ และ ๑๐๙/๒๕๕๒ ที่โจทก์ฟ้องกองทัพบกและกระทรวงกลาโหมให้รับผิดชดใช้ค่าเสียหายกรณีละเมิดอันเกิดจากการที่เจ้าหน้าที่ทหารใช้อำนาจตามกฎอัยการศึกทำนองเดียวกับคดีนี้ว่าอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้ โจทก์ทั้งสี่เป็นเอกชนยื่นฟ้องจำเลยทั้งสาม ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครอง โดยกล่าวอ้างว่า เจ้าหน้าที่ในสังกัดจำเลยทั้งสามกระทำละเมิดกรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจในสังกัดจำเลยที่ ๓ เข้าตรวจค้นและจับกุมนายยะผา กาเซ็ง กับพวก โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และร่วมกันแถลงข่าวด้วยข้อความอันฝ่าฝืนต่อความจริงว่า นายยะผากับพวกเป็นแกนนำผู้ก่อการร้ายแบ่งแยกดินแดนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ กับกรณีเจ้าหน้าที่ทหารในสังกัดจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ร่วมกันทำร้ายร่างกายนายยะผา เพื่อบังคับให้รับสารภาพว่ามีส่วนเกี่ยวข้องรู้เห็นกับการก่อการร้ายในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นเหตุให้นายยะผาถึงแก่ความตาย ทำให้โจทก์ทั้งสี่ซึ่งเป็นภริยาและบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของนายยะผาได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ย และให้จำเลยทั้งสามร่วมกันลงประกาศขอโทษนายยะผาและครอบครัวโจทก์ทั้งสี่ทางหนังสือพิมพ์ กับให้ส่งหนังสือขอโทษของจำเลยทั้งสามไปตามหน่วยงานทหารและตำรวจในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ทุกหน่วยด้วยค่าใช้จ่ายของจำเลยทั้งสาม เห็นว่า แม้ข้อพิพาทในคดีนี้มูลคดีเกิดขึ้นจากการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎอัยการศึก และประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ลงวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ และประกาศเลิกใช้กฎอัยการศึกในบางเขตพื้นที่ อันเป็นกฎหมายเฉพาะและเป็นอำนาจของฝ่ายบริหารที่กำหนดให้ฝ่ายทหารมีอำนาจเหนือเจ้าหน้าที่ฝ่ายพลเรือน แต่โดยที่อำนาจหน้าที่ตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่ดังกล่าวในการตรวจค้นและจับกุมนายยะผาเป็นการใช้อำนาจในลักษณะเดียวกันกับการใช้อำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และการกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐตามฟ้องที่นำตัวนายยะผาไปแถลงข่าวและทำร้ายนายยะผาจนถึงแก่ความตาย ก็มิใช่ขั้นตอนที่กฎอัยการศึกและประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ลงวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ และประกาศเลิกใช้กฎอัยการศึกในบางเขตพื้นที่ กำหนดให้อำนาจเจ้าหน้าที่ของรัฐไว้ ข้อพิพาทในคดีนี้จึงมิใช่เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดอันเนื่องมาจากการใช้อำนาจทางปกครอง ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แต่เป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง นางนิม๊ะ กาเซ็ง ที่ ๑ นายอนุวัฒน์ กาเซ็ง ที่ ๒ นางสาววนิดา กาเซ็ง ที่ ๓ นางสาววราภรณ์ กาเซ็ง ที่ ๔ โจทก์ กระทรวงกลาโหม ที่ ๑ กองทัพบก ที่ ๒ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ ๓ จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) สบโชค สุขารมณ์ (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายสบโชค สุขารมณ์) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
(ลงชื่อ) พลโท ศิลปชัย สรภักดี (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(ศิลปชัย สรภักดี) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร
(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ