คำวินิจฉัยที่ 1/2554

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

ไม่มีย่อสั้น

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๑/๒๕๕๔

วันที่ ๑๓ มกราคม ๒๕๕๔

เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔)

ศาลปกครองกลาง
ระหว่าง
ศาลแพ่ง

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลปกครองกลางโดยสำนักงานศาลปกครองส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๒๙ มกราคม ๒๕๕๒ บริษัทไบโอลาสโก้ จำกัด ผู้ฟ้องคดี ยื่นฟ้อง กรมปศุสัตว์ ผู้ถูกฟ้องคดี ต่อศาลปกครองกลาง เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๑๒๘/๒๕๕๒ ความว่า เมื่อวันที่ ๒๐ กันยายน ๒๕๕๐ ผู้ถูกฟ้องคดีได้ทำสัญญาซื้อเครื่องคัดขนาดไข่และฆ่าเชื้อไข่ขนาด ๓,๖๐๐-๕,๔๒๐ ฟอง จำนวน ๑ เครื่อง จากผู้ฟ้องคดี ในราคา ๒,๗๐๖,๐๐๐ บาท ผู้ฟ้องคดีส่งมอบสินค้าให้แล้ว แต่คณะกรรมการตรวจรับสินค้าของผู้ถูกฟ้องคดีแจ้งว่า สินค้าไม่ถูกต้องตามสัญญา ไม่สามารถตรวจรับได้ และได้ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาและริบหลักประกันสัญญาจำนวน ๑๓๕,๐๐๐ บาท พร้อมค่าปรับเป็นรายวันในอัตราร้อยละ ๐.๒ ของราคาสิ่งของตามสัญญา ซึ่งผู้ฟ้องคดีเห็นว่า ผู้ฟ้องคดีได้เสนอการชำระหนี้โดยส่งมอบสินค้าที่ซื้อขายเพื่อเป็นประกันการชำระหนี้ให้แก่ผู้ถูกฟ้องคดี แต่ผู้ถูกฟ้องคดีไม่ยอมรับ โดยอ้างเหตุผลอันนอกเหนือจากที่กำหนดไว้ในสัญญาจะถือว่าผู้ฟ้องคดีผิดนัดไม่ได้ เป็นเหตุให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับผู้ถูกฟ้องคดีชำระค่าสินค้าเป็นเงินจำนวน ๒,๗๐๖,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่ผู้ฟ้องคดี
ผู้ถูกฟ้องคดียื่นคำให้การว่า ผู้ฟ้องคดีไม่ส่งมอบเครื่องคัดขนาดไข่และฆ่าเชื้อไข่ให้ถูกต้องตามสัญญา ผู้ถูกฟ้องคดีเป็นหน่วยงานราชการที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายรวมทั้งระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. ๒๕๓๕ และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม จึงไม่อาจรับสินค้าที่ไม่ถูกต้องดังกล่าวได้และไม่มีหน้าที่ชำระเงินค่าซื้อสินค้าให้แก่ผู้ฟ้องคดี ขอให้ยกฟ้อง
ผู้ถูกฟ้องคดียื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า สัญญาซื้อขายมีวัตถุประสงค์เพียงเพื่อการคัดไข่ที่เก็บจากโรงเรือนไก่เพื่อนำไข่ที่ผ่านการคัดจากเครื่องไปฟักเป็นวัตถุดิบในการผลิตและทดสอบวัคซีนสำหรับป้องกันโรคในสัตว์ปีก และเป็นการซื้อเพื่อทดแทนของเดิมที่มีอยู่และใช้งานมาเป็นเวลานาน ซึ่งวัตถุประสงค์ของการใช้เครื่องและการซื้อขายตามสัญญา ไม่มีลักษณะเป็นสัญญาทางปกครอง สินค้าที่ซื้อขายมิใช่สิ่งสาธารณูปโภคที่มีไว้ให้สาธารณชนสามารถใช้ประโยชน์ได้โดยตรง และมิใช่สินค้าที่ไม่สามารถหาซื้อแทนกันได้ในท้องตลาด จึงเป็นเพียงสัญญาพัสดุธรรมดาที่เป็นสัญญาสนับสนุนให้การจัดทำบริการสาธารณะสำเร็จลุล่วงไปได้เท่านั้น ข้อสัญญามิได้ให้เอกสิทธิ์แก่ผู้ถูกฟ้องคดีเหนือกว่าผู้ฟ้องคดี จึงมิใช่คดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครองตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ แต่เป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า ผู้ถูกฟ้องคดีเป็นนิติบุคคลมีฐานะเป็นกรม สังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๓๔ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๔๕ ประกอบกับพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. ๒๕๔๕ มีอำนาจหน้าที่ดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยโรคระบาดสัตว์ กฎหมายว่าด้วยการบำรุงพันธุ์สัตว์ กฎหมายว่าด้วยการควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์ กฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาลสัตว์ กฎหมายว่าด้วยโรคพิษสุนัขบ้า และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง ศึกษา วิจัย ด้านการผลิต การปรับปรุงพันธุ์และขยายพันธุ์สัตว์ อาหารสัตว์ เพื่อให้ได้สัตว์พันธุ์ดีถูกสุขลักษณะ รวมทั้งการอนุรักษ์พันธุกรรมและความหลากหลายทางชีวภาพด้านการปศุสัตว์และรักษาสิ่งแวดล้อมจากการปศุสัตว์ ดำเนินการพัฒนา การตรวจสอบ รับรองคุณภาพสินค้าปศุสัตว์ให้ได้มาตรฐานถูกสุขอนามัยและปลอดภัยต่อผู้บริโภค ดำเนินการผลิต และจัดหาชีวภัณฑ์ และเวชภัณฑ์ รวมทั้งศึกษา วิจัย ด้านระบาดวิทยาโรคระบาดสัตว์ กำจัดโรคสัตว์ โรคติดต่อระหว่างสัตว์และคน ศึกษา วิเคราะห์ และพัฒนาการถ่ายทอดเทคโนโลยีชั้นสูงด้านการปศุสัตว์ ทั้งด้านการผลิต สุขศาสตร์ และสุขอนามัยสัตว์ที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศ ปฏิบัติการอื่นใดตามที่กฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของกรมปศุสัตว์หรือตามที่กระทรวงหรือคณะรัฐมนตรีมอบหมาย ผู้ถูกฟ้องคดีจึงเป็นหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายให้ใช้อำนาจทางปกครองหรือให้ดำเนินกิจการทางปกครอง อันเป็นหน่วยงานทางปกครองตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ และสัญญาซื้อขายระหว่างผู้ฟ้องคดีกับผู้ถูกฟ้องคดีในกรณีนี้เป็นสัญญาซื้อเครื่องคัดขนาดไข่และฆ่าเชื้อไข่ขนาด ๓,๖๐๐-๕,๔๒๐ ฟอง การจัดซื้อสินค้าดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินบริการสาธารณะตามอำนาจหน้าที่ดังกล่าวของผู้ถูกฟ้องคดีให้บรรลุผล สัญญาซื้อเครื่องคัดขนาดไข่และฆ่าเชื้อไข่ขนาด ๓,๖๐๐-๕,๔๒๐ ฟอง จึงมีลักษณะเป็นสัญญาจัดทำบริการสาธารณะที่ประชาชนมีส่วนร่วมจะได้รับประโยชน์จากการดำเนินการนั้น และเนื่องจากวัตถุแห่งสัญญานี้ คือ เพื่อนำไข่ที่ผ่านการคัดจากเครื่องนี้ไปฟักเป็นวัตถุดิบในการผลิตและทดสอบวัคซีนสำหรับป้องกันโรคในสัตว์ปีก สัญญาดังกล่าวจึงเป็นสัญญาทางปกครองตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ กรณีจึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครองซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งของศาลปกครองตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติฉบับเดียวกัน คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลแพ่งพิจารณาแล้วเห็นว่า ตามมาตรา ๙ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ บัญญัติให้ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีหรือมีคำสั่งในเรื่องต่อไปนี้ … (๔) คดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง และมาตรา ๓ บัญญัติว่า “สัญญาทางปกครอง” หมายความรวมถึง สัญญาที่คู่สัญญาอย่างน้อยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองหรือเป็นบุคคลซึ่งกระทำการแทนรัฐ และมีลักษณะเป็นสัญญาสัมปทาน สัญญาที่ให้จัดทำบริการสาธารณะ หรือจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภค หรือแสวงประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ ในเรื่องนี้เมื่อพิจารณาจาก คำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลของผู้ถูกฟ้องคดีแล้ว ได้ความว่า การตกลงซื้อเครื่องคัดขนาดไข่และฆ่าเชื้อไข่ขนาด ๓,๖๐๐-๕,๔๒๐ ฟอง มีวัตถุประสงค์เพื่อนำไปคัดขนาดไข่ที่เก็บจากโรงเรือนไก่ เพื่อนำไข่ที่ผ่านการคัดจากเครื่องดังกล่าวไปฟักเป็นวัตถุดิบในการผลิตและทดสอบวัคซีนสำหรับป้องกันโรคสัตว์ปีก และสินค้าที่ซื้อขายตามสัญญาเป็นเพียงเครื่องมือที่ผู้ถูกฟ้องคดีใช้ประกอบการจัดทำบริการสาธารณะ ซึ่งไม่ใช่ลักษณะสัญญาสัมปทาน สัญญาที่ให้จัดทำบริการสาธารณะ หรือจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภคหรือแสวงประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ และไม่ได้มอบหมายให้ผู้ฟ้องคดีดำเนินการแทนหรือร่วมจัดทำด้วย ในเรื่องนี้เห็นว่า สัญญาซื้อเครื่องมือใช้คัดแยกไข่และฆ่าเชื้อดังกล่าว เป็นเพียงการจัดหาเครื่องมือในการตระเตรียมวัสดุหรืออุปกรณ์ที่จะนำไปใช้ในโครงการผลิตวัคซีนสำหรับป้องกันโรคในสัตว์ปีกอันเป็นโครงการในความรับผิดชอบของหน่วยงานผู้ถูกฟ้องคดีโดยตรงและเป็นภาระหน้าที่ความรับผิดชอบของหน่วยงานผู้ถูกฟ้องคดีเท่านั้น หาได้มีสาระสำคัญแห่งข้อสัญญาใด ๆ ระหว่างผู้ฟ้องคดีและผู้ถูกฟ้องคดีที่มีลักษณะเป็นการว่าจ้างหรือกำหนดหน้าที่อื่นใดแก่ ผู้ฟ้องคดีเกี่ยวกับการดำเนินการให้บริการสาธารณะ หรือได้รับสัมปทาน หรือมีลักษณะให้ผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นคู่สัญญาดำเนินการจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภคหรือแสวงประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ อย่างหนึ่งอย่างใดอันจะแปลความไปได้ว่าเป็นสัญญาทางปกครองตามบทนิยามตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ แต่อย่างใดไม่ ดังนั้น จึงเห็นว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นเพียงคู่สัญญาซื้อขายที่มีหน้าที่ในการส่งมอบทรัพย์หรือสิ่งของที่ตกลงซื้อขายต่อกันให้แก่ผู้ถูกฟ้องคดี โดยไม่มีหน้าที่ดำเนินการต่อไปแต่อย่างใดในการให้บริการสาธารณะตามโครงการหรือวัตถุประสงค์ของผู้ถูกฟ้องคดี กล่าวโดยเฉพาะ คือ ผู้ฟ้องคดีไม่มีส่วนร่วมรู้เห็นหรือหน้าที่จะต้องดำเนินการตามขั้นตอนใด ๆ ในการผลิตหรือทดสอบวัคซีนสำหรับใช้ป้องกันโรคในสัตว์ปีกซึ่งเป็นโครงการให้บริการสาธารณะของผู้ถูกฟ้องคดีแต่อย่างใด อีกนัยหนึ่งเมื่อผู้ฟ้องคดีส่งมอบทรัพย์สินที่ซื้อขายต่อกันเป็นไปตามสัญญาย่อมสิ้นความผูกพันกับผู้ถูกฟ้องคดี หรือหากจะต้องมีความรับผิดหรือเกี่ยวข้องอยู่ต่อไปก็เป็นเพียงความรับผิดหรือเกี่ยวข้องในความบกพร่องชำรุดเสียหายของทรัพย์ตามสัญญาซื้อขายต่อกันเท่านั้น แต่ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับวัตถุประสงค์ของโครงการบริการสาธารณะของผู้ถูกฟ้องคดีดังกล่าวมาแล้วไม่ ข้อพิพาทระหว่างผู้ฟ้องคดีและผู้ถูกฟ้องคดีเป็นเพียงข้อพิพาทเกี่ยวกับสัญญาซื้อขายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๓ เอกเทศสัญญา ลักษณะ ๑ เท่านั้น คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้ผู้ถูกฟ้องคดีมีฐานะเป็นกรม สังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๓๔ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๔๕ ประกอบกับพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. ๒๕๔๕ จึงเป็นหน่วยงานทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ เมื่อผู้ฟ้องคดีฟ้องให้ผู้ถูกฟ้องคดีรับผิดตามสัญญาซื้อเครื่องคัดขนาดไข่และฆ่าเชื้อไข่จึงต้องพิจารณาว่า สัญญาจ้างดังกล่าวเป็นสัญญาทางแพ่งหรือสัญญาทางปกครอง เห็นว่า พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) บัญญัติว่า ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษา คดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง และมาตรา ๓ บัญญัติว่า สัญญาทางปกครอง หมายความรวมถึง สัญญาที่คู่สัญญาอย่างน้อยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองหรือเป็นบุคคลซึ่งกระทำการแทนรัฐ และมีลักษณะเป็นสัญญาสัมปทาน สัญญาที่ให้จัดทำบริการสาธารณะ หรือจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภคหรือแสวงประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ แต่สัญญาซื้อเครื่องคัดขนาดไข่และฆ่าเชื้อไข่ระหว่างผู้ฟ้องคดีและผู้ถูกฟ้องคดีไม่มีลักษณะเป็นสัญญาสัมปทาน สัญญาที่ให้จัดทำบริการสาธารณะ หรือจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภคหรือแสวงประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ หรือเป็นสัญญาที่หน่วยงานทางปกครองให้โจทก์เข้าดำเนินการหรือเข้าร่วมดำเนินการจัดทำบริการสาธารณะโดยตรง มีสาระสำคัญเป็นการให้ผู้ฟ้องคดีจัดหาและส่งมอบเครื่องคัดขนาดไข่และฆ่าเชื้อไข่ อันเป็นการตระเตรียมวัสดุหรืออุปกรณ์ที่จะนำไปใช้ในโครงการผลิตวัคซีนสำหรับป้องกันโรคในสัตว์ปีกของผู้ถูกฟ้องคดีเท่านั้น สัญญาพิพาทจึงเป็นสัญญาจัดหาพัสดุธรรมดาที่สนับสนุนภารกิจหลักของผู้ถูกฟ้องคดีเท่านั้น จึงมิใช่เป็นสัญญาทางปกครอง แต่เป็นสัญญาทางแพ่งที่มีหน่วยงานทางปกครองเป็นคู่สัญญา ข้อพิพาทระหว่างผู้ฟ้องคดีกับผู้ถูกฟ้องคดีจึงมิใช่คดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ อันจะอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง แต่เป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่างบริษัทไบโอลาสโก้ จำกัด ผู้ฟ้องคดี กรมปศุสัตว์ ผู้ถูกฟ้องคดี อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) สบโชค สุขารมณ์ (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายสบโชค สุขารมณ์) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลโท ศิลปชัย สรภักดี (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(ศิลปชัย สรภักดี) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share