คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2468/2537

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

เดิมที่ดินของโจทก์เป็นของ ป. ต่อมาตกได้แก่ ย.ส่วนที่ดินของจำเลยแบ่งเป็น 2 แปลง เป็นของ ก. และ ม.ซึ่งทั้งหมดต่างเป็นญาติกัน ป. และ ย. ต่างเดินผ่านที่พิพาทบนที่ดินของ ก. และ ม. ออกสู่ทางสาธารณะมากกว่า 10 ปีโดยมิได้ขออนุญาตหรืออาศัยสิทธิของผู้ใดทั้งเจ้าของที่ดินแต่ละแปลงต่อ ๆ มาก็มิได้เป็นญาติเกี่ยวข้องกัน แสดงว่ามีการใช้ทางพิพาทอย่างเป็นเจ้าของโดยมิได้อาศัยสิทธิของผู้ใด หรือเป็นการใช้อย่างฉันพี่น้องกัน ทางพิพาทจึงเป็นภาระจำยอมนับแต่ป. และ ย. เป็นเจ้าของแล้ว เมื่อโจทก์และจำเลยรับโอนที่ดินในภายหลัง โจทก์ย่อมได้สิทธิในภาระจำยอมนั้นด้วย โจทก์ในฐานะเจ้าของสามยทรัพย์มีสิทธิขอให้ศาลบังคับจำเลยไปจดทะเบียนสิทธิภาระจำยอมในโฉนดของจำเลยได้ ถือเป็นการกระทำอันจำเป็นเพื่อรักษาสิทธิของโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1391

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่11599 จำเลย เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 2077ที่ดินของโจทก์สามีโจทก์ขอรังวัดแบ่งแยกมาจากที่ดินโฉนดเลขที่ 2077เมื่อ พ.ศ. 2530 ก่อนแบ่งแยกผู้มีกรรมสิทธิ์ต่างครอบครองที่ดินแบ่งแยกผู้มีกรรมสิทธิ์ต่างครอบครองที่ดินเป็นสัดส่วนตลอดมาโจทก์และญาติโจทก์ออกสู่ถนนโดยใช้รถยนต์แล่นผ่านกลางที่ดินของจำเลยซึ่งเป็นทางกว้าง 2.70 เมตร ยาว 47 เมตร โดยความสงบเปิดเผยและด้วยเจตนาเป็นเจ้าของเกินกว่า 10 ปี จึงได้ภาระจำยอมต่อมานายไกรเจ้าของที่ดินเดิมของจำเลยได้ย้ายทางภารจำยอมออกมาอยู่ทางทิศตะวันตกของที่ดินมีขนาดกว้างยาวเท่าเดิม โจทก์และญาติโจทก์ใช้ทางนี้เป็นทางเดินและทางรถยนต์ตลอดมาเกินกว่า10 ปี เมื่อปลายเดือนธันวาคม 2531 จำเลยปิดกั้นทางภารจำยอมดังกล่าว ขอให้จำเลยเปิดทางภาระจำยอมภายในเส้นสีแดงของแผนที่สังเขปท้ายฟ้องกับห้ามกระทำการใด ๆ อันเป็นเหตุให้ประโยชน์แห่งภารจำยอมลดหรือเสื่อมความสะดวกอีกต่อไป ให้ไปจดทะเบียนทางภารจำยอมกว้าง 2.70 เมตร ยาว 47 เมตร หากไม่ไปให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย โดยให้ส่งโฉนดที่ดินแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์และญาติโจทก์อาศัยสิทธิจากเจ้าของเดิมใช้เป็นทางเดินออกสู่ถนนทางเดินดังกล่าวกว้างประมาณ 1 เมตรโจทก์ไม่เคยใช้รถยนต์แล่นเข้าสู่บ้านโจทก์ ปัจจุบันโจทก์ไปอยู่กับสามีนาน ๆ จึงจะกลับมาสักครั้ง เมื่อ พ.ศ. 2527 นายไกรเจ้าของที่ดินเดิมได้ย้ายทางเดินดังกล่าวไปอยู่ทางด้านทิศตะวันตกมีความกว้าง 1 เมตรเท่าเดิม ต่อมา พ.ศ. 2530 นายไกรขายที่ดินให้จำเลย จำเลยจึงล้อมรั้วลวดหนามเพื่อแสดงอาณาเขตที่แน่นอนและเปิดรั้วทางด้านทิศตะวันตกให้เป็นทางเดินให้โจทก์เข้าออกกว้างประมาณ 1 เมตร ที่ดินโจทก์และจำเลยเดิมเป็นที่ดินแปลงเดียวกันเพิ่งแบ่งแยกเมื่อ พ.ศ. 2530 นับถึงวันฟ้องยังไม่ครบ 10 ปีโจทก์จึงไม่ได้ภาระจำยอมโดยอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ทางพิพาทเป็นทางภาระจำยอม พิพากษาให้จำเลยเปิดทางภาระจำยอมในที่ดินโฉนดเลขที่ 2077 ตำบลเกาะศาลพระอำเภอวัดเพลง จังหวัดราชบุรี ตามเส้นหมึกสีแดง ก.ค.ง. และ ฉ.ในแผนที่พิพาท ให้ถอนต้นกล้วยกับรื้อรั้วลวดหนามออกจากทางพิพาทให้จำเลยไปจดทะเบียนภาระจำยอม หากไม่ไปให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยและให้จำเลยส่งมอบโฉนดที่ดินเลขที่ 2077ตำบลเกาะศาลพระ อำเภอวัดเพลง จังหวัดราชบุรี ให้โจทก์เพื่อดำเนินการจดทะเบียน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำขอของโจทก์ที่ให้จำเลยไปจดทะเบียนภาระจำยอม หากไม่ไปให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยและให้จำเลยส่งมอบโฉนดที่ดินเลขที่ 2077 ตำบลเกาะศาลพระ อำเภอวัดเพลง จังหวัดราชบุรี ให้โจทก์เพื่อดำเนินการจดทะเบียน นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นได้ความตามที่คู่ความไม่โต้เถียงว่า ที่ดินของโจทก์และของจำเลยเดิมเป็นที่ดินแปลงเดียวกันมีเนื้อที่ 2 ไร่ 32 ตารางวา มีชื่อผู้ถือกรรมสิทธิ์ 4 คน คือ นายเกิด ด้วงลัด นางปาน คงมั่นนายมอน พิมพา และนายเส็ง ด้วงลัด ปรากฏตามโฉนดเลขที่ 2077เอกสารหมาย จ.2 ที่ดินดังกล่าวทิศเหนือติดแม่น้ำอ้อม ทิศใต้ติดถนนสายราชบุรี-วัดเพลง ซึ่งประชาชนรวมทั้งเจ้าของเดิมและโจทก์กับจำเลยใช้สัญจรไปมา ผู้ถือกรรมสิทธิ์เดิมต่างครอบครองเป็นเจ้าของคนละแปลงเป็นส่วนสัดมากกว่า 10 ปี โดยด้านทิศเหนือแบ่งเป็น 2 แปลง มีเนื้อที่เท่า ๆ กัน คือ แปลงละ 2 งาน 8 ตารางวาแปลงด้านทิศตะวันออกเป็นของนายเส็ง แปลงด้านทิศตะวันตกเป็นของนางปาน ส่วนด้านทิศใต้เนื้อที่ 1 ไร่ 16 ตารางวา เป็นของนายเกิดและนายมอน ต่อมาที่ดินส่วนของนางปานและส่วนของนายเกิดกับนายมอนได้โอนต่อ ๆ กันมาหลายเจ้าของ ในที่สุดตกได้แก่โจทก์และจำเลยตามลำดับ ในปี 2530 ได้มีการแบ่งแยกโฉนด ของโจทก์ได้โฉนดเลขที่ 11599 ตามเอกสารหมาย จ.1 ส่วนของจำเลยโฉนดคงเดิมคือเอกสารหมาย จ.2 เจ้าของคนเดิมคนก่อน ๆได้ใช้ทางพิพาทเดินผ่านที่ดินที่ต่างครอบครองเป็นส่วนสัดเพื่อไปสู่แม่น้ำอ้อมหรือไปสู่ถนนสายราชบุรี-วัดเพลง มาหลายสิบปีปัญหาในชั้นฎีกามีว่า ทางพิพาทเป็นทางภาระจำยอมโดยอายุความหรือไม่และมีความกว้างเท่าใด กับจะบังคับให้จำเลยไปจดทะเบียนภาระจำยอมและให้ส่งมอบโฉนดที่ดินเลขที่ 2077 ตำบลเกาะศาลพระ อำเภอวัดเพลง จังหวัดราชบุรี ให้โจทก์เพื่อดำเนินการจดทะเบียนได้หรือไม่ สำหรับปัญหาแรกจำเลยฎีกาว่าทางพิพาทใช้กันฉันญาติพี่น้อง ไม่มีเจตนาใช้อย่างเป็นเจ้าของจึงไม่เป็นทางภาระจำยอมโดยอายุความ เห็นว่า การที่นายเกิดและนายมอนเจ้าของที่ดินเดิมยอมให้ที่ดินเฉพาะส่วนเป็นทางเดินไปสู่ถนนสายราชบุรี-วัดเพลงมาหลายสิบปีและหลายชั่วอายุคน ต่อมาเมื่อที่ดินดังกล่าวนี้ตกมาเป็นของนายไกร บุญบันดาล และได้มีการแบ่งแยกโฉนดแล้วนายไกรได้เปิดทางเดินให้โจทก์เดินทางทิศตะวันตกชิดเขตแดนแทนทางเดินเก่าความดังกล่าวนี้ได้ความจากพยานบุคคล ภาพถ่ายหมาย จ.4พยานของโจทก์และแผนที่พิพาทพอสังเขปว่า เดิมมีทางผ่านที่ดินของนายเกิดและนายมอนดังปรากฏตามเส้นประสีดำของแผนที่พิพาทต่อมาในปี 2527 ขณะที่ที่ดินของนายเกิดและนายมอนตกมาเป็นของนายไกร นายไกรได้ทำทางพิพาทขึ้นใช้แทนทางเดินดังกล่าวการใช้ทางเดินของบรรพบุรุษโจทก์รวมทั้งโจทก์มานานหลายสิบปีเพื่อออกสู่ถนนสาธารณะ แม้ก่อน ๆ นั้นผู้เป็นเจ้าของเดิมของที่ดินทั้งสองแปลงจะเป็นญาติกัน แต่ก็ปรากฏว่าผู้ใช้ทางมิได้ขออนุญาตหรืออาศัยสิทธิของผู้ใดและที่ปรากฏด้วยว่า ผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินแต่ละแปลงต่อ ๆ มาก็มิได้เป็นญาติเกี่ยวข้องกัน ดังนี้ ถือไม่ได้ว่าเป็นการใช้ทางเดินอย่างฉันพี่น้องกันแต่กลับแสดงให้เห็นว่าเจ้าของเดิมใช้ทางในที่ดินของนายมอนและนายเกิดซึ่งต่อมาโอนมาเป็นของจำเลยอย่างเป็นเจ้าของโดยมิได้อาศัยสิทธิของผู้ใด ทางพิพาทจึงเป็นทางภาระจำยอมที่จำเลยอุทธรณ์ว่าที่ดินแปลงใหญ่เพิ่งมีการแบ่งแยกเมื่อปี 2530จึงต้องเริ่มนับอายุความนับแต่มีการแบ่งแยกและโอนกรรมสิทธิ์กันแล้วนับถึงวันฟ้องคดีนี้โจทก์ใช้ทางมาได้เพียง 2 ปีเท่านั้นทางพิพาทจึงยังไม่เป็นทางภาระจำยอมโดยอายุความเห็นว่า ผู้ถือกรรมสิทธิ์เดิมต่างครอบครองเป็นเจ้าของคนละแปลงเป็นส่วนสัดฉะนั้นเมื่อครบ 10 ปีแล้ว ต่างฝ่ายต่างก็เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในส่วนที่ตนครอบครองแต่ผู้เดียว หลังจากนั้นฝ่ายนางปานหรือนางปุยบุตรนางปานคงเดินผ่านที่ดินของนายมอนและนายเกิดซึ่งต่อมาตกมาเป็นของจำเลยมากกว่า 10 ปี นางปานหรือนางปุยจจึงได้สิทธิภาระจำยอมในที่ดินของจำเลยเพราะในตอนนั้นที่ดินทั้ง2 แปลง นี้มิใช่กรรมสิทธิ์ของบุคคลคนเดียวกันจึงเกิดสิทธิภาระจำยอมได้ เมื่อโจทก์และจำเลยรับโอนมา ดังนั้น โจทก์จึงย่อมได้สิทธิในภาระจำยอมเหนือที่ดินที่จำเลยรับโอนมาซึ่งจำเลยจะต้องยอมรับกรรมบางอย่างซึ่งกระทบถึงทรัพย์สินของตนเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินของโจทก์ ดังนั้นแม้ที่ดินแปลงใหญ่เพิ่งจะมีการแบ่งแยกและโอนกรรมสิทธิ์เมื่อปี 2530 นับถึงวันฟ้องคดีนี้โจทก์ใช้ทางพิพาทมาได้เพียง 2 ปี ก็ตาม ทางพิพาทย่อมเป็นภาระจำยอมโดยอายุความเพราะโจทก์เป็นผู้สืบสิทธิต่อจากนางปานและนางปุยเจ้าของเดิมฎีกาจำเลยในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น สำหรับปัญหาที่ว่าทางพิพาทมีความกว้างเท่าใด จำเลยฎีกาว่าทางพิพาทเป็นเพียงทางเดินมิใช่เป็นทางสาธารณะควรมีความกว้างเพียง 1 เมตรนั้น เห็นว่า แม้สภาพทางเดินพิพาทตามภาพถ่ายหมาย ล.3, ล.4 และ ล.5จะมีสภาพเป็นทางคนเดินซึ่งจำเลยอ้างว่ามีความกว้างเพียง 1 เมตรก็ตาม แต่ตามภาพถ่ายหมาย จ.6 ซึ่งนายไกรพยานจำเลยตอบทนายโจทก์ถามค้านว่า ตามภาพถ่ายนี้พยานเป็นคนเปิดเป็นทางเดินให้ฝ่ายโจทก์ใช้เป็นทางเข้าออก ตามภาพถ่ายดังกล่าวจะเห็นว่าทางพิพาทมีสภาพมีความกว้างมากกว่า 1 เมตร นอกจากนี้นายไกรเบิกความเจือสมข้ออ้างของโจทก์ว่า โจทก์เคยเลี้ยงสุกรในที่ดินของโจทก์ โจทก์เคยขับรถยนต์แล่นเข้าไปในที่ดินของจำเลยเพื่อเข้าไปดูแลการเลี้ยงสุกร ซึ่งความข้อนี้นอกจากโจทก์เบิกความยืนยันดังกล่าวแล้วโจทก์ยังมีนายประมวล ตันวานิชกุล เป็นพยานเบิกความสนับสนุนอีกว่า โจทก์ขับรถยนต์ปิกอัพเข้าไปในที่ดินของจำเลยเพื่อไปดูแลการเลี้ยงสุกรในที่ดินของโจทก์เป็นประจำ ข้อเท็จจริงดังกล่าวจึงเชื่อได้ว่าโจทก์เคยขับรถยนต์ปิกอัพเข้าไปในที่ดินของจำเลยเพื่อไปดูแลการเลี้ยงสุกรในที่ดินของโจทก์เป็นประจำดังนั้น ที่จำเลยฎีกาว่าทางพิพาทเป็นทางเดินมิใช่เป็นทางรถยนต์จึงฟังไม่ขึ้น ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่าทางพิพาทมีความกว้าง2.70 เมตร ยาวตลอดเนื้อที่ของจำเลย ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยปัญหาสุดท้ายที่โจทก์ฎีกาว่าจะบังคับให้จำเลยไปจดทะเบียนภาระจำยอมและให้ส่งมอบโฉนดให้โจทก์เพื่อดำเนินการจดทะเบียนได้หรือไม่ เห็นว่า ตามมูลฟ้องของโจทก์พอเข้าใจได้ว่า โจทก์ขอให้ทางพิพาทตกเป็นภาระจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์ และโจทก์ชอบที่จะขอให้บังคับจำเลยไปจดทะเบียนสิทธิภาระจำยอมในโฉนดของจำเลยได้ตามนัยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1391 ซึ่งบัญญัติว่า “เจ้าของสามยทรัพย์มีสิทธิทำการทุกอย่างอันจำเป็นเพื่อรักษาและใช้ภาระจำยอมแต่ต้องเสียค่าใช้จ่ายของตนเอง ฯลฯ”การที่ให้จำเลยไปจดทะเบียนสิทธิภาระจำยอมเป็นการกระทำอันจำเป็นเพื่อรักษาสิทธิของโจทก์ประการหนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยกรณีนี้มายังไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาโจทก์ฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยไปจดทะเบียนสิทธิภาระจำยอมลงในที่ดินโฉนดเลขที่ 2077 ของจำเลย โดยให้โจทก์เป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการจดทะเบียนหากจำเลยไม่ไปก็ให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาของจำเลย นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share