คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 234/2537

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

กรณียังมีการโต้แย้งกันเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ในทรัพย์พิพาทการที่จำเลยทั้งสองไม่คืนอุปกรณ์ให้โจทก์ร่วม เพราะมีหลักฐานเชื่อได้ว่าอุปกรณ์บางส่วนเป็นของ ม. และ ม. เป็นเจ้าของบริษัทจำเลยที่ 1 ด้วย จำเลยทั้งสองจะคืนให้ เมื่อโจทก์ร่วมใช้ค่าติดตั้งในการดำเนินกิจการเคเบิ้ลทีวีร่วมกันในนามของ ว. จึงเป็นการใช้สิทธิยึดหน่วงอย่างหนึ่ง การกระทำของจำเลยทั้งสองขาดเจตนาทุจริตไม่มีความผิดฐานยักยอก

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352,83 คืนของกลางแก่ผู้เสียหายและให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ 583,000 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ร่วมอุทธรณ์ โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษา ศาลชั้นต้นอนุญาตให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ร่วมฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ร่วมมีว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ โจทก์โจทก์ร่วมนำสืบได้ความว่า บริษัทวีดีโอลิ้งค์ จำกัด เป็นผู้นำเข้าอุปกรณ์พิพาทเพื่อมาใช้ในกิจการของโจทก์ร่วมซึ่งโจทก์ร่วมได้รับอนุญาตจากกรมไปรษณีย์โทรเลขให้ใช้ช่องความถี่และบริษัทชินวัตรคอมพิวเตอร์ จำกัด เป็นผู้ชำระเงินอุปกรณ์พิพาทจึงเป็นของโจทก์ร่วม เมื่อระหว่างวันที่ 6 สิงหาคม 2531 ถึงวันที่ 10กุมภาพันธ์ 2532 จำเลยที่ 2 นายวิลเลี่ยม ไลล์ มอนซัน และนายบงการได้ยืมอุปกรณ์จำนวน 32 รายการไปจากโจทก์ร่วมเพื่อนำไปติดตั้งที่อาคารอโศกทาวเวอร์ ตามหนังสือยืมเอกสารหมาย จ.4จ.6 จ.8 และ จ.9 ต่อมาวันที่ 24 เมษายน 2532 โจทก์ร่วมให้พนักงานไปรับอุปกรณ์คืน จำเลยทั้งสองไม่ยอมคืนให้ โจทก์ร่วมยึดคืนมาได้20 รายการคงไม่ได้คืนอีก 12 รายการเป็นเงิน 583,000 บาท ฝ่ายจำเลยทั้งสองนำสืบว่าอุปกรณ์เป็นของบริษัทวีดีโอลิงค์ จำกัดซึ่งบริษัททีวีซีสเต็มท์ จำกัดของนายวิลเลี่ยม ไลล์ มอนซันถือหุ้นอยู่ด้วยตามเอกสารหมาย ล.9 ล.10 ได้นำอุปกรณ์ไปติดตั้งที่อาคารอโศกทาวเวอร์ตามคำสั่งของนายวิลเลี่ยม ไลล์ มอนซันโดยได้ทำหนังสือยืมไว้ตามเอกสาร จ.4 จ.6 จ.8 และ จ.9 จริง อุปกรณ์ดังกล่าวไม่ได้เป็นของโจทก์ร่วมแต่เป็นของบริษัทวีดีโอลิงค์จำกัด ซึ่งยังไม่ได้แบ่งปันกันกรรมสิทธิ์ในอุปกรณ์เป็นของนายวิลเลี่ยม ไลล์ มอนซัน สองในสามส่วนเป็นของพันตำรวจโททักษิณเพียงหนึ่งในสามส่วน เห็นว่าโจทก์ร่วมและนายวิลเลี่ยม ไลล์ มอนซันยังโต้เถียงกรรมสิทธิ์ในอุปกรณ์ทั้ง 32 รายการโดยโจทก์ร่วมว่าอุปกรณ์ทั้ง 32 รายการเป็นของโจทก์ร่วมแต่นายวิลเลี่ยม ไลล์มอนซัน ว่าเป็นของบริษัทวีดีโอลิงค์ จำกัด ซึ่งบริษัททีวีซีสเต็มท์ จำกัดของนายวิลเลี่ยม ไลล์ มอนซัน ร่วมลงทุนก่อตั้งบริษัทตามเอกสารหมาย จ.9 จ.10 และบริษัทวีดีโอลิงค์จำกัด เป็นผู้ซื้ออุปกรณ์ตามเอกสาร จ.5 กรณียังมีการโต้แย้งกันเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ในทรัพย์พิพาท การที่จำเลยทั้งสองไม่คืนอุปกรณ์ให้โจทก์ร่วมเพราะมีหลักฐานเชื่อได้ว่าอุปกรณ์บางส่วนเป็นของนายวิลเลี่ยม ไลล์ มอนซัน นั่นเอง และนายวิลเลี่ยมไลล์ มอนซัน เป็นเจ้าของบริษัท จำเลยที่ 1 ด้วย นอกจากนี้จำเลยทั้งสองจะคืนให้เมื่อโจทก์ร่วมใช้ค่าติดตั้งในการดำเนินกิจการเคเบิ้ลทีวีร่วมกันในนามของบริษัทวีดีโอลิงค์ จำกัด จึงเป็นการใช้สิทธิยึดหน่วงอย่างหนึ่ง การกระทำของจำเลยทั้งสองขาดเจตนาทุจริต ไม่มีความผิดฐานยักยอก ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ร่วมฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share