คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1082/2505

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ในกรณีที่มีผู้ยื่นคำร้องขัดทรัพย์ว่า ทรัพย์ที่โจทก์ยึดเป็นของผู้ร้องโดยจำเลยยกให้นั้น โจทก์ย่อมขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมการโอนระหว่างผู้ร้องและจำเลยได้ โดยไม่จำต้องไปฟ้องขอให้ทำลายการโอนหรือเพิกถอนการฉ้อฉลประการใดก่อน
ค่าฤชาธรรมเนียมย่อมรวมถึงค่าทนายซึ่งแม้คู่ความจะมิได้ขอขึ้นมา ศาลก็มีอำนาจใช้ดุลพินิจสั่งได้ ไม่ถือว่าเป็นการพิพากษาเกินคำขอ

ย่อยาว

คดีนี้ผู้ร้องยื่นคำร้องขัดทรัพย์ว่าทรัพย์ที่โจทก์นำยึดคือที่นาเป็นของผู้ร้องโดยจำเลยทำหนังสือจดทะเบียนยกให้ ขอให้ศาลสั่งถอนการยึด
โจทก์คัดค้านว่าการกระทำของจำเลยกับผู้ร้องเป็นการฉ้อฉล ขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมที่ผู้ร้องกล่าวอ้างมานั้น
ศาลชั้นต้นฟังว่าการยกให้ไม่สุจริตทำให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ จึงมีคำสั่งให้เลิกถอนการยกให้ และยกคำร้องของผู้ร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า แม้จำเลยจะได้ทำนิติกรรมและจดทะเบียนการยกให้ที่นารายพิพาทนี้แก่ผู้ร้องต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก่อนโจทก์ฟ้องจำเลยก็ดี แต่ข้อเท็จจริงได้ความว่าทั้งจำเลยและผู้ร้องซึ่งเป็นบิดากับบุตรทราบอยู่แล้วว่า การโอนนั้นเป็นเหตุให้เจ้าหนี้ของจำเลยเสียเปรียบ เพราะจำเลยไม่มีทรัพย์สินอื่นอีกนอกจากที่นาที่ยกให้ โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้จึงขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนรายหนี้ได้ตาม ป.พ.พ.มาตรา ๒๓๗ คดีนี้เป็นเรื่องชั้นบังคับคดี เจตนารมณ์ของการบังคับคดียอมให้ว่ากล่าวกันได้ภายหลังการยึดทรัพย์แล้ว ฉะนั้น ศาลจึงมีอำนาจชี้ขาดตามความในมาตรา ๒๓๗ ได้โดยไม่จำต้องให้โจทก์ไปดำเนินคดีฟ้องร้องขอให้ทำลายการโอนหรือเพิกถอนการฉ้อฉลเสียก่อนแต่ประการใด
ส่วนฎีกาข้อ ข. ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา ๑๖๑ ให้รวมค่าทนายความด้วยและคำสั่งในเรื่องค่าธรรมเนียมตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๖๗ ก็ให้ศาลสั่งได้ไม่ว่าคู่ความหรือแต่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจักมีคำขอหรือไม่ก็ดี ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ใช้ดุลพินิจให้ผู้ร้องเสียค่าทนายแทนโจทก์ จึงหาเกินคำขอไม่ ฎีกาผู้ร้องฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืนให้ยกฎีกาผู้ร้อง

Share