แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การออกหมายจับและหมายค้นในชั้นสอบสวน เป็นเพียงขั้นตอนหนึ่งเพื่อให้การสอบสวนดำเนินไปได้ แม้พนักงานสอบสวนจะต้องมาร้องขอต่อศาลชั้นต้นเพื่อขอให้ออกหมายจับและหมายค้น แต่ก็ยังไม่ใช่เรื่องที่ฟ้องเป็นคดีมาถึงศาล เมื่อศาลชั้นต้นเห็นสมควรสั่งประการใดแล้ว ก็ไม่ใช่เรื่องที่กฎหมายประสงค์จะให้อุทธรณ์ได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 193 หากผู้ร้องอ้างข้อมูลอันเป็นเท็จ ผู้ต้องหาก็มีสิทธิ์ที่จะดำเนินการแก่ผู้ร้องตามที่เห็นสมควรเป็นกรณีต่างหากได้ ผู้ต้องหาจึงไม่อาจอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้ยกคำร้องของผู้ต้องหาที่ให้เพิกถอนหมายจับและหมายค้นในชั้นสอบสวน
ย่อยาว
คดีนี้สืบเนื่องมาจากเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2552 ศาลชั้นต้นออกหมายจับผู้ต้องหา นางสาวเดือนเพ็ญ นายเสรีหรือหมี นายประพัฒน์ วันที่ 3 กรกฎาคม 2552 ศาลชั้นต้นออกหมายค้นบ้านของผู้ต้องหา บ้านของนางสาวเดือนเพ็ญ และบ้านของบุคคลอื่น ผู้ต้องหายื่นคำร้องลงวันที่ 24 กรกฎาคม 2552 ว่า ได้มีการจับกุม ค้นบ้านและรถยนต์ของผู้ต้องหาไปโดยมิชอบตามหมายจับและหมายค้นของศาลชั้นต้น ซึ่งผู้ร้องได้อ้างข้อมูลอันเป็นเท็จให้ศาลออกหมายดังกล่าว ขอให้เพิกถอนหมายจับและหมายค้นนั้น ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง
ผู้ต้องหาอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้ต้องหาฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เห็นสมควรยกปัญหาว่า เมื่อศาลชั้นต้นยกคำร้องของผู้ต้องหาที่ขอให้เพิกถอนคำสั่งออกหมายจับและหมายค้นแล้ว ผู้ต้องหาจะอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นได้หรือไม่ เห็นว่า การออกหมายจับและหมายค้นในกรณีนี้เป็นการดำเนินการในชั้นสอบสวน เป็นเพียงขั้นตอนหนึ่งเพื่อให้การสอบสวนดำเนินไปได้เท่านั้น แม้พนักงานสอบสวนจะต้องมาร้องขอต่อศาลชั้นต้นเพื่อขอให้ออกหมายจับและหมายค้น แต่ก็ยังไม่ใช่เรื่องที่ฟ้องเป็นคดีมาถึงศาล เมื่อศาลชั้นต้นเห็นสมควรสั่งประการใดแล้ว ก็ไม่ใช่เรื่องที่กฎหมายประสงค์จะให้อุทธรณ์ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 193 หากผู้ร้องอ้างข้อมูลอันเป็นเท็จ ผู้ต้องหาก็มีสิทธิที่จะดำเนินการแก่ผู้ร้องตามที่เห็นสมควรเป็นกรณีต่างหากได้ ปัญหาข้อนี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 ดังนั้น ผู้ต้องหาจึงไม่อาจอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้ยกคำร้องของผู้ต้องหาที่ขอให้เพิกถอนหมายจับและหมายค้น ในชั้นสอบสวนดังกล่าวได้ เมื่อผู้ต้องหาไม่อาจอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นได้ดังกล่าวแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้ต้องหาจึงเป็นการไม่ชอบ ผู้ต้องหาไม่อาจฎีกาคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ต่อศาลฎีกาได้ เพราะเป็นข้อที่มิได้ว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยฎีกาของผู้ต้องหา
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์และยกฎีกาของผู้ต้องหา