คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2466/2549

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

คำร้องของจำเลยอ้างว่า จำเลยมีรายได้ประจำปีจากการพาณิชยกรรมเกี่ยวกับการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ในรูปแบบของหมู่บ้านจัดสรร ที่ดินพร้อมบ้านที่โจทก์นำยึดมีลูกค้าตกลงจะซื้อจากจำเลยแล้ว ซึ่งจะทำให้ได้รับเป็นรายได้เพียงพอที่จะชำระหนี้ตามคำพิพากษา อันเป็นข้อที่กล่าวอ้างเพื่อขอให้ศาลอนุญาตให้จำเลยเป็นผู้ขายทรัพย์สินที่โจทก์นำยึดให้แก่ลูกค้าของจำเลยตามสัญญาจะซื้อจะขาย โดยอาศัยอำนาจตาม ป.วิ.พ. มาตรา 307 ซึ่งหากศาลอนุญาตย่อมมีผลเป็นการงดการบังคับคดีไปในตัว แม้จำเลยจะกล่าวอ้างในคำร้องต่อไปว่าโจทก์ไม่แจ้งเรื่องดังกล่าวแก่เจ้าพนักงานบังคับคดี เป็นเหตุให้เจ้าพนักงานบังคับคดีไม่มีหมายแจ้งประกาศขายทอดตลาดให้ลูกค้าของจำเลยทราบ อันอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่จำเลยและการบังคับคดี ทั้งได้อ้างมาตรา 296 มาในคำร้องด้วย แต่จำเลยก็มิได้ขอให้ศาลมีคำสั่งตามมาตรา 296 เพียงแต่ขอให้ศาลมีคำสั่งงดการบังคับคดีและอนุญาตให้จำเลยเป็นผู้ขายทรัพย์สินที่โจทก์นำยึดให้แก่ลูกค้าของจำเลยตามสัญญาจะซื้อจะขายเท่านั้น ซึ่งเห็นได้ว่าจำเลยประสงค์ที่จะขอให้ศาลพิจารณาและมีคำสั่งตามมาตรา 307 เป็นสำคัญ คำร้องของจำเลยจึงมิได้ขัดแย้งกันเอง
ป.วิ.พ. มาตรา 307 ที่ให้อำนาจศาลตั้งผู้จัดการอสังหาริมทรัพย์หรือการประกอบกิจการแทนการสั่งขายทอดตลาดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษานั้น เป็นบทบัญญัติที่มุ่งคุ้มครองลูกหนี้ตามคำพิพากษา ให้มีโอกาสชำระหนี้จากรายได้ประจำปีโดยไม่ต้องขายทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาที่ถูกยึด การที่จำเลยยื่นคำร้องต่อศาลเพื่ออนุญาตให้จำเลยเป็นผู้ขายทรัพย์สินของจำเลยที่โจทก์นำยึดซึ่งยังคงต้องขายทรัพย์สินดังกล่าว จึงไม่ต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา 307 ทั้งมีผลเท่ากับให้จำเลยเป็นผู้ขายทรัพย์สินดังกล่าวเสียเองแทนการขายทอดตลาดโดยเจ้าพนักงานบังคับคดี ซึ่งไม่อาจกระทำได้โดยชอบ จึงชอบที่ศาลจะมีคำสั่งยกคำร้องนั้นเสียโดยไม่จำต้องไต่สวนก่อน ไม่เป็นการขัดต่อมาตรา 21

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 17895 พร้อมบ้านเลขที่ 99/12 หมู่ที่ 3 ตำบลเชียงรากใหญ่ อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี แก่โจทก์ หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 4,264,833 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จและให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 20,000 บาท ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 และยกฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสอง ค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนฟ้องแย้งให้เป็นพับ จำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้ โจทก์จึงขอให้บังคับคดี และนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินโฉนดเลขที่ 18030 พร้อมบ้านเลขที่ 99/133 และที่ดินโฉนดเลขที่ 18031 พร้อมบ้านเลขที่ 99/134 ตำบลเชียงรากใหญ่ อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี ของจำเลยที่ 1 เพื่อขายทอดตลาดชำระหนี้แก่โจทก์ตามคำพิพากษา
จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องว่า จำเลยที่ 1 มีรายได้ประจำปีจากการพาณิชยกรรมเกี่ยวกับการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ในรูปแบบของหมู่บ้านจัดสรร ที่ดินพร้อมบ้านที่โจทก์นำยึดทั้งสองแปลงมีลูกค้าตกลงซื้อจากจำเลยที่ 1 แล้ว โดยจะซื้อแปลงแรกในราคา 4,275,000 บาท และแปลงที่สองในราคา 3,600,000 บาท ลูกค้าทั้งสองรายปฏิบัติตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินครบถ้วนและได้รับอนุมัติเงินกู้จากธนาคารเพื่อนำเงินมาชำระราคาส่วนที่เหลือแล้ว ซึ่งหากดำเนินการเสร็จจำเลยที่ 1 จะได้รับเงินเป็นรายได้รวม 7,875,000 บาท เพียงพอที่จะชำระหนี้ตามคำพิพากษา โจทก์ทราบเรื่องดี เพราะเป็นผู้จัดการฝ่ายขายจำเลยที่ 1 มาก่อน แต่โจทก์กลับไม่แจ้งแก่เจ้าพนักงานบังคับคดี เป็นเหตุให้เจ้าพนักงานบังคับคดีไม่มีหมายแจ้งประกาศขายทอดตลาดให้ลูกค้าทั้งสองรายทราบ อันอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่การขายทอดตลาด และเกิดความเสียหายแก่จำเลยที่ 1 ที่ไม่สามารถขายที่ดินพร้อมบ้านที่ถูกยึดในราคาที่แท้จริง ขอให้ศาลมีคำสั่งงดการขายทอดตลาด และอนุญาตให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้ขายที่ดินพร้อมบ้านทั้งสองแปลงให้แก่ลูกค้าทั้งสองรายตามสัญญาจะซื้อจะขาย แล้วนำรายได้มาชำระแก่โจทก์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 307 ประกอบมาตรา 296
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า คำร้องของจำเลยที่ 1 อ้างเหตุตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 เพื่อขอเพิกถอนการขายทอดตลาด ในขณะเดียวกันก็ขอใช้สิทธิตามมาตรา 307 ด้วย จึงขัดแย้งกันเอง ไม่อาจมีคำสั่งอนุญาตตามคำร้องได้ ให้ยกคำร้อง ค่าคำร้องเป็นพับ
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า คำร้องของจำเลยที่ 1 มิได้ขัดแย้งกันเอง ชอบที่ศาลจะไต่สวนคำร้องของจำเลยที่ 1 และมีคำสั่งต่อไปนั้น เห็นว่า ตามคำร้องของจำเลยที่ 1 อ้างว่า จำเลยที่ 1 มีรายได้ประจำปีจากการพาณิชยกรรมเกี่ยวกับการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ในรูปแบบของหมู่บ้านจัดสรร ที่ดินพร้อมบ้านที่โจทก์นำยึดทั้งสองแปลงมีลูกค้าตกลงจะซื้อจากจำเลยที่ 1 แล้ว ซึ่งจะทำให้จำเลยที่ 1 ได้รับเงินเป็นรายได้รวม 7,875,000 บาท เพียงพอที่จะชำระหนี้ตามคำพิพากษา อันเป็นข้อเท็จจริงที่กล่าวอ้างเพื่อขอให้ศาลอนุญาตให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้ขายทรัพย์สินที่โจทก์นำยึดให้แก่ลูกค้าของจำเลยที่ 1 ตามสัญญาจะซื้อจะขายโดยอาศัยอำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 307 ซึ่งหากศาลอนุญาตย่อมมีผลเป็นการงดการบังคับคดีไปในตัว แม้จำเลยที่ 1 จะกล่าวอ้างในคำร้องต่อไปว่า โจทก์ไม่แจ้งเรื่องดังกล่าวแก่เจ้าพนักงานบังคับคดี เป็นเหตุให้เจ้าพนักงานบังคับคดีไม่มีหมายแจ้งประกาศขายทอดตลาดให้ลูกค้าของจำเลยที่ 1 ทราบ อันอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่จำเลยที่ 1 และการบังคับคดีทั้งได้อ้างมาตรา 296 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาในคำร้องด้วยก็ตาม แต่จำเลยที่ 1 ก็มิได้ขอให้ศาลมีคำสั่งอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 296 เพียงแต่ขอให้ศาลมีคำสั่งงดการบังคับคดีและอนุญาตให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้ขายทรัพย์สินที่โจทก์นำยึดให้แก่ลูกค้าของจำเลยที่ 1 ตามสัญญาจะซื้อจะขายเท่านั้น ซึ่งเห็นได้ว่าจำเลยที่ 1 ประสงค์ที่จะขอให้ศาลพิจารณาและมีคำสั่งตามมาตรา 307 เป็นประการสำคัญ คำร้องของจำเลยที่ 1 จึงมิได้ขัดแย้งกันเองดังที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัย แต่อย่างไรก็ตามมาตรา 307 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งที่ให้อำนาจศาลตั้งผู้จัดการอสังหาริมทรัพย์หรือการประกอบกิจการแทนการสั่งขายทอดตลาดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษานั้น เป็นบทบัญญัติที่มุ่งคุ้มครองลูกหนี้ตามคำพิพากษาซึ่งมีรายได้ประจำปีจากอสังหาริมทรัพย์หรือมีการประกอบอุตสาหกรรม พาณิชยกรรม หรือกสิกรรม อยู่ในอสังหาริมทรัพย์ที่ถูกยึดนั้น ให้มีโอกาสชำระหนี้จากรายได้ประจำปีโดยไม่ต้องขายทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาที่ถูกยึด การที่จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องต่อศาลเพื่ออนุญาตให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้ขายทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ที่โจทก์นำยึดซึ่งยังคงต้องขายทรัพย์สินดังกล่าว จึงไม่ต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา 307 ทั้งมีผลเท่ากับให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้ขายทรัพย์สินดังกล่าวเสียเองแทนการขายทอดตลาดโดยเจ้าพนักงานบังคับคดี ซึ่งไม่อาจกระทำได้โดยชอบ ดังนั้น แม้ศาลจะไต่สวนได้ความตามคำร้องของจำเลยที่ 1 ก็ไม่อาจมีคำสั่งอนุญาตตามคำร้องนั้นได้ จึงชอบที่ศาลจะมีคำสั่งยกคำร้องนั้นเสียโดยไม่จำต้องไต่สวนก่อน หาเป็นการขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 21 ดังที่จำเลยที่ 1 อ้างมาในฎีกาไม่ ที่ศาลล่างทั้งสองมีคำสั่งและคำพิพากษาต้องกันมาโดยให้ยกคำร้องของจำเลยที่ 1 นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.

Share