แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
การซื้อขายปุ๋ยระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 มีข้อตกลงว่าหากจำเลยที่ 1 ชำระเงินค่าปุ๋ยไม่ครบจำนวนในวันทำสัญญา โจทก์ยอมให้จำเลยที่ 1 ผ่อนชำระโดยคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 9 ต่อปี หากชำระเกิน 12 เดือน ถือว่าผิดนัดผิดสัญญาคิดดอกเบี้ยในส่วนที่เกิน 12 เดือน ในอัตราร้อยละ 12 ต่อปี จนกว่าจะชำระเสร็จสิ้น เมื่อโจทก์มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 1 ตามข้อตกลงดังกล่าวและจำเลยที่ 1 ยังไม่ได้ชำระจึงเป็นดอกเบี้ยค้างส่งหรือค้างชำระตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/33 (1) ซึ่งมีอายุความ 5 ปี ไม่ใช่ 10 ปี
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์และจำเลยที่ 1 เป็นคณะบุคคล จำเลยที่ 1 ประชุมคณะกรรมการและมีมติสั่งซื้อปุ๋ยจากโจทก์โดยมอบอำนาจให้จำเลยที่ 7 ทำสัญญาซื้อขายปุ๋ยกับโจทก์และจำเลยที่ 7 หรือที่ 13 หรือที่ 16 รับมอบปุ๋ย เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2531 จำเลยที่ 1 ทำสัญญาซื้อขายปุ๋ยกับโจทก์จำนวน 70,000 กิโลกรัม เป็นเงิน 381,500 บาท ชำระราคาในวันทำสัญญาจำนวน 19,075 บาท ส่วนค่าปุ๋ยที่เหลือหากชำระไม่เกิน 12 เดือน คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 9 ต่อปี หากชำระเกิน 12 เดือน ถือว่าผิดนัดผิดสัญญาคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 12 ต่อปี จนกว่าจะชำระเสร็จสิ้น จำเลยที่ 2 ถึงที่ 18 เป็นผู้ค้ำประกัน โจทก์ส่งมอบปุ๋ยให้จำเลยที่ 1 ครบถ้วนแล้ว จำเลยที่ 1 ชำระค่าปุ๋ยบางส่วนเป็นเงิน 20,000 บาท เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2536 คงค้างชำระค่าปุ๋ยและดอกเบี้ยถึงวันฟ้องรวมเป็นเงิน 869,053.35 บาท โจทก์ทวงถามแล้วจำเลยทั้งสิบแปดเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสิบแปดร่วมกันชำระเงินจำนวน 869,053.36 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 12 ต่อปี ของต้นเงิน 362,425 บาท นับตั้งแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 และที่ 5 ถึงที่ 18 ให้การว่า โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องเรียกดอกเบี้ยเกิน 5 ปี ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 4 ขาดนัดยื่นคำให้การ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 521,482.81 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 12 ต่อปี ของต้นเงิน 362,425 บาท นับตั้งแต่วันฟ้องย้อนหลังขึ้นไปเป็นเวลา 5 ปี และนับตั้งแต่วันถัดจากวันฟ้องในอัตราดอกเบี้ยและต้นเงินเดียวกันกับก่อนฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระให้จำเลยที่ 4 ที่ 7 และที่ 16 ชำระแทน กับให้จำเลยที่ 1 ที่ 4 ที่ 7 และที่ 16 ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 8,000 บาท ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 5 ที่ 6 ที่ 8 ถึงที่ 15 ที่ 17 และที่ 18 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ยกฟ้องให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 7 ทำสัญญาซื้อขายปุ๋ยตามเอกสารหมาย จ.6 กับโจทก์ และค้างชำระค่าปุ๋ยแก่โจทก์จำนวน 362,425 บาท มีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์เพียงประการเดียวว่าดอกเบี้ยตามคำฟ้องที่โจทก์เรียกจากจำเลยที่ 1 เป็นดอกเบี้ยค้างชำระซึ่งมีกำหนดอายุความ 5 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/33 (1) หรือไม่ เห็นว่า การซื้อขายปุ๋ยระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 มีข้อตกลงว่าหากจำเลยที่ 1 ชำระเงินค่าปุ๋ยไม่ครบจำนวนในวันทำสัญญา โจทก์ยอมให้จำเลยที่ 1 ผ่อนชำระโดยคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 9 ต่อปี หากชำระเกิน 12 เดือน ถือว่าผิดนัดผิดสัญญาคิดดอกเบี้ยในส่วนที่เกิน 12 เดือน ในอัตราร้อยละ 12 ต่อปี จนกว่าจะชำระเสร็จสิ้น เมื่อโจทก์มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 1 ตามข้อตกลงดังกล่าวและจำเลยที่ 1 ยังไม่ได้ชำระจึงเป็นดอกเบี้ยค้างส่งหรือค้างชำระตามนัยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/33 (1) ซึ่งมีอายุความ 5 ปี ไม่ใช่ 10 ปี ตามที่โจทก์อุทธรณ์”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นนี้ให้เป็นพับ.