คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4676/2557

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังเป็นที่ยุติได้ว่า เดิมโจทก์เป็นผู้เช่าที่ดินจากเรืออากาศตรีหญิง ว. เมื่อขณะยังมีชีวิตอยู่ ระยะเวลาเช่า 30 ปี ครบกำหนดวันที่ 1 กันยายน 2562 ต่อมาจำเลยที่ 1 มีชื่อในโฉนดที่ดินดังกล่าวในฐานะผู้จัดการมรดกของเรืออากาศตรีหญิง ว. จากนั้นวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2550 โจทก์และจำเลยที่ 1 ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินดังกล่าว แล้วโจทก์ได้ยื่นฟ้องจำเลยที่ 1 ต่อศาลชั้นต้นในข้อหาผิดสัญญาจะซื้อจะขาย และขอให้บังคับจำเลยที่ 1 โอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าวแก่โจทก์ ในระหว่างพิจารณาอันเป็นเวลาก่อนที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวให้ระงับการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับที่ดินนั้นไว้จนกว่าคดีถึงที่สุดหรือศาลจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น จำเลยที่ 1 ได้จดทะเบียนการเช่าที่ดินดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 2 มีกำหนดเวลา 30 ปี นับแต่วันที่ 2 กันยายน 2562 เป็นต้นไป ต่อมาศาลชั้นต้นในคดีดังกล่าวพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มิได้เป็นฝ่ายผิดสัญญา คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองเพียงว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนการเช่าระหว่างจำเลยทั้งสองหรือไม่ เห็นว่า ไม่ว่าการเช่าที่ดินระหว่างจำเลยทั้งสองจะทำให้สิทธิของโจทก์ในฐานะเจ้าหนี้ซึ่งเป็นผู้เช่าตามสัญญาเช่าเดิมได้รับผลกระทบหรือไม่ก็ตาม แต่เมื่อโจทก์ยังมีฐานะเป็นเจ้าหนี้ตามสัญญาจะซื้อจะขายของจำเลยที่ 1 ในคดีก่อนอยู่อีกด้วย และได้ใช้สิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้ปฏิบัติตามสัญญาจะซื้อจะขายโดยการยื่นฟ้องจำเลยที่ 1 ต่อศาลขอให้บังคับจำเลยที่ 1 โอนที่ดินให้แก่โจทก์ตามสัญญาดังกล่าวแล้ว แม้ว่าศาลชั้นต้นจะพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มิได้เป็นฝ่ายผิดสัญญาจะซื้อจะขาย คดีเดิมมีประเด็นว่าจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาจะซื้อจะขายหรือไม่ คดีนี้มีประเด็นว่าโจทก์มีสิทธิฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนการเช่าระหว่างจำเลยทั้งสองหรือไม่ เป็นคดีฟ้องขอให้เพิกถอนการฉ้อฉลระหว่างจำเลยทั้งสอง อันเป็นการทำให้โจทก์เสียเปรียบ ป.พ.พ. มาตรา 237 ที่ให้สิทธิแก่เจ้าหนี้ที่จะสงวนไว้ซึ่งกองทรัพย์สินของลูกหนี้เนื่องจากทรัพย์สินของลูกหนี้เหล่านี้ย่อมเป็นหลักประกันการชำระหนี้ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 214 มิได้ฟ้องขอบังคับชำระหนี้โดยตรงจากที่ดินพิพาทดังเช่นในคดีก่อนอีกด้วย กรณีจึงเป็นเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับคำพิพากษาผูกพันคู่ความหรือไม่ จำเลยทั้งสองไม่อาจอ้างเอาผลคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นในคดีก่อนที่ยังไม่ถึงที่สุดมาผูกพันโจทก์ในคดีนี้ได้ ดังนั้น เมื่อโจทก์อ้างว่าโจทก์เป็นเจ้าหนี้ตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินและจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้ตามสัญญาดังกล่าวได้ทำสัญญาเช่าที่ดินให้จำเลยที่ 2 โดยรู้อยู่ว่าเป็นทางให้โจทก์เสียเปรียบอันเป็นการฉ้อฉลโจทก์ โจทก์จึงมีสิทธิที่จะฟ้องจำเลยทั้งสองขอให้เพิกถอนนิติกรรมการเช่าที่ดินนั้นได้ตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว การกระทำของจำเลยทั้งสองตามฟ้องโจทก์ถือได้ว่าเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ที่มีอยู่ก่อนในอันที่จะได้รับโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินตามสัญญาจะซื้อจะขายโดยปลอดภาระผูกพันใด ๆ แล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนการเช่าระหว่างจำเลยทั้งสองได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 โอนที่ดินโฉนดเลขที่ 132027 ตำบลบางกะปิ (ลาดพร้าวฝั่งเหนือ) อำเภอห้วยขวาง (บางกะปิ) กรุงเทพมหานคร และขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนการเช่าระหว่างจำเลยทั้งสอง หากจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้เพิกถอนการจดทะเบียนการเช่าระหว่างจำเลยทั้งสอง กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 20,000 บาท
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังเป็นที่ยุติได้ว่า เดิมโจทก์เป็นผู้เช่าที่ดินโฉนดเลขที่ 132027 จากเรืออากาศตรีหญิงวิพัฒนาเมื่อขณะยังมีชีวิตอยู่ ระยะเวลาเช่า 30 ปี ครบกำหนดวันที่ 1 กันยายน 2562 ต่อมาจำเลยที่ 1 มีชื่อในโฉนดที่ดินดังกล่าวในฐานะผู้จัดการมรดกของเรืออากาศตรีหญิงวิพัฒนา จากนั้นวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2550 โจทก์และจำเลยที่ 1 ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินดังกล่าว แล้วโจทก์ได้ยื่นฟ้องจำเลยที่ 1 ต่อศาลชั้นต้น ในข้อหาผิดสัญญาจะซื้อจะขาย และขอให้บังคับจำเลยที่ 1 โอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าวแก่โจทก์ หากไม่ปฏิบัติตามให้ชดใช้ค่าเสียหาย ในระหว่างพิจารณาเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2551 อันเป็นเวลาก่อนที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวให้ระงับการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับที่ดินนั้นไว้จนกว่าคดีถึงที่สุดหรือศาลจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น จำเลยที่ 1 ได้จดทะเบียนการเช่าที่ดินดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 2 มีกำหนดเวลา 30 ปี นับแต่วันที่ 2 กันยายน 2562 เป็นต้นไป คิดค่าเช่า 4,200,000 บาท ต่อมาศาลชั้นต้นในคดีดังกล่าวพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มิได้เป็นฝ่ายผิดสัญญา แต่ให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าการงานที่ทำไปแล้ว คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองเพียงว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรม การจดทะเบียนการเช่าระหว่างจำเลยทั้งสองหรือไม่ เห็นว่า ไม่ว่าการเช่าที่ดินระหว่างจำเลยทั้งสองจะทำให้สิทธิของโจทก์ในฐานะเจ้าหนี้ซึ่งเป็นผู้เช่าตามสัญญาเช่าเดิมได้รับผลกระทบหรือไม่ก็ตาม แต่เมื่อโจทก์ยังมีฐานะเป็นเจ้าหนี้ตามสัญญาจะซื้อจะขายของจำเลยที่ 1 ในคดีก่อนอยู่อีกด้วย และได้ใช้สิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้ปฏิบัติตามสัญญาจะซื้อจะขายโดยการยื่นฟ้องจำเลยที่ 1 ต่อศาลขอให้บังคับจำเลยที่ 1 โอนที่ดินให้แก่โจทก์ตามสัญญาดังกล่าวแล้ว แม้ว่าศาลชั้นต้นจะพิพากษาว่าจำเลยที่ 1 มิได้เป็นฝ่ายผิดสัญญาจะซื้อจะขาย แต่คดีเดิมมีประเด็นว่าจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาจะซื้อจะขายหรือไม่ ส่วนในคดีนี้มีประเด็นว่าโจทก์มีสิทธิฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนการเช่าระหว่างจำเลยทั้งสองหรือไม่ อีกทั้งคดีนี้เป็นคดีฟ้องขอให้เพิกถอนการฉ้อฉลระหว่างจำเลยทั้งสองอันเป็นการทำให้โจทก์เสียเปรียบ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 237 ที่ให้สิทธิแก่เจ้าหนี้ที่จะสงวนไว้ซึ่งกองทรัพย์สินของลูกหนี้เนื่องจากทรัพย์สินของลูกหนี้เหล่านี้ย่อมเป็นหลักประกันการชำระหนี้ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 214 ของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เท่านั้น มิได้ฟ้องขอบังคับชำระหนี้โดยตรงจากที่ดินพิพาทดังเช่นในคดีก่อนอีกด้วย กรณีจึงเป็นเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับคำพิพากษาผูกพันคู่ความหรือไม่ จำเลยทั้งสองไม่อาจอ้างเอาผลคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นในคดีก่อนที่ยังไม่ถึงที่สุดมาผูกพันโจทก์ในคดีนี้ได้ ดังนั้น เมื่อโจทก์อ้างว่าโจทก์เป็นเจ้าหนี้ ตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินและจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้ตามสัญญาดังกล่าวได้ทำสัญญาเช่าที่ดินให้จำเลยที่ 2 โดยรู้อยู่ว่าเป็นทางให้โจทก์เสียเปรียบอันเป็นการฉ้อฉลโจทก์ โจทก์จึงมีสิทธิที่จะฟ้องจำเลยทั้งสองขอให้เพิกถอนนิติกรรมการเช่าที่ดินนั้นได้ตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว การกระทำของจำเลยทั้งสองตามฟ้องโจทก์ถือได้ว่าเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ที่มีอยู่ก่อนในอันที่จะได้รับโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินตามสัญญาจะซื้อจะขายโดยปลอดภาระผูกพันใด ๆ แล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนการเช่าระหว่างจำเลยทั้งสองได้ ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share