คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2465/2537

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การที่จะเรียกให้ลูกจ้าง หรือผู้ทำการแทน หรือผู้ทำการติดต่อรับผิดตาม ป.รัษฎากร มาตรา 76 ทวิ วรรคแรกนั้นเจ้าพนักงานประเมินจะต้องดำเนินการตาม มาตรา 19 และ 20ก่อน กล่าวคือ จะต้องเรียกบุคคลผู้ต้องรับผิดนั้นมาไต่สวนแล้วแจ้งจำนวนเงินที่จะประเมินไปยังบุคคลผู้ต้องรับผิด เพื่อที่บุคคลนั้นจะได้มีโอกาสอุทธรณ์การประเมินตามความใน มาตรา 76 ทวิวรรคสามก่อน มิฉะนั้นกรมสรรพากร โจทก์ยังไม่มีอำนาจฟ้องบุคคลนั้นให้รับผิดตาม มาตรา 76 ทวิ และย่อมไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยในฐานะผู้ค้ำประกันบุคคลนั้นให้ต้องรับผิดเช่นเดียวกัน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าบริษัทเกรตอีสเทอร์น ดริลลิ่ง แอนด์ เซอร์วิสอิงค์ เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด จดทะเบียนตามกฎหมายที่ประเทศปานามา ได้รับอนุญาตจากกรมทะเบียนการค้า กระทรวงพาณิชย์ให้ประกอบธุรกิจรับจ้างขุดเจาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในประเทศไทยโดยมีนายเดเนียล เจ.วาร์ด หรือ แดนี่ เจ.วาร์ด เป็นผู้จัดการผู้ทำการติดต่อและผู้ทำการแทนในประเทศไทย จำเลยได้ทำหนังสือสัญญาค้ำประกัน นายเดเนียล เจ.วาร์ด กับพวกรวม 43 คน ซึ่งเป็นคนต่างด้าวและเป็นพนักงานของบริษัทเกรตอีสเทอร์น ดริลลิ่งแอนด์ เซอร์วิส อิงค์ ภายในวงเงินไม่เกิน 500,000 บาท เพื่อเป็นประกันการชำระภาษีอากรในการยื่นคำขอรับใบผ่านภาษีอากรเพื่อเดินออกนอกประเทศไทย เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2531เจ้าพนักงานประเมินของโจทก์ได้ออกหมายเรียกไปยังบริษัทเกรตอีสเทอร์น ดริลลิ่ง แอนด์ เซอร์วิส อิงค์ เพื่อตรวจสอบการเสียภาษีอากรสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2528ถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2530 ผลจากการตรวจสอบไต่สวนพบว่าบริษัทเกรตอีสเทอร์น ดริลลิ่ง แอนด์ เซอร์วิส อิงค์ ได้ยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีอากรไว้ไม่ครบถ้วนถูกต้อง ดังนั้นเจ้าพนักงานประเมินของโจทก์จึงได้แจ้งการประเมินค่าภาษีอากรและเงินเพิ่มทั้งสิ้น 51,204,505.55 บาท ไปให้ บริษัทเกรตอีสเทอร์น ดริลลิ่ง แอนด์ เซอร์วิส อิงค์ ทราบ และให้นำเงินค่าภาษีอากรไปชำระต่อโจทก์ บริษัทเกรตอีสเทอร์น ดริลลิ่งแอนด์ เซอร์วิส อิงค์ ได้ยื่นอุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ต่อมาคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้วินิจฉัยยกอุทธรณ์พร้อมกับได้แจ้งคำวินิจฉัยดังกล่าวให้ทราบ และให้นำเงินภาษีอากรพร้อมเงินเพิ่มไปชำระแต่บริษัทเกรตอีสเทอร์นดริลลิ่ง แอนด์ เซอร์วิส อิงค์ มิได้นำเงินภาษีอากรไปชำระและมิได้อุทธรณ์ต่อศาลภายในกำหนดระยะเวลา 30 วัน หนี้ค่าภาษีอากรค้างดังกล่าวจึงเป็นหนี้เด็ดขาด โจทก์ได้ฟ้องบริษัทเกรตอีสเกรตดริลลิ่ง แอนด์ เซอร์วิส อิงค์ ให้เป็นบุคคลล้มละลายซึ่งศาลแพ่งได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์บริษัทเกรตอีสเทอร์น ดริลลิ่งแอนด์ เซอร์วิส อิงค์ เด็ดขาดแล้ว สำหรับนายเดเนียล เจ.วาร์ดเป็นลูกจ้าง หรือผู้ทำการแทน หรือผู้ทำการติดต่อให้กับบริษัทเกรตอีสเทอร์น ดริลลิ่ง แอนด์ เซอร์วิส อิงค์ ในประเทศไทยจึงมีหน้าที่และความรับผิดในการเสียภาษีอากรตามประมวลรัษฎากรมาตรา 76 ทวิ ให้แก่โจทก์ นายเดเนียล เจ.วาร์ด จึงต้องรับผิดในหนี้ภาษีอากรจำนวน 51,204,505.55 บาท ของบริษัทต่อโจทก์ด้วย หนี้ภาษีอากรค้างรายนี้โจทก์ไม่สามารถเรียกร้องบังคับเอาจากบริษัทเกรตอีสเทอร์น ดริลลิ่ง เซอร์วิส อิงค์ ได้เนื่องจากบริษัทดังกล่าวไม่มีกิจการและทรัพย์สินในประเทศไทยแล้ว และโจทก์ไม่สามารถฟ้องเรียกร้องบังคับเอาจากนายเดเนียล เจ.วาร์ดได้ เนื่องจากบุคคลดังกล่าวได้ขอรับใบผ่านภาษีอากรจากเจ้าพนักงานและได้ใช้เดินทางออกนอกประเทศไทยไป จำเลยในฐานะเป็นผู้ค้ำประกันนายเดเนียล เจ.วาร์ด จึงต้องรับผิดชำระค่าภาษีอากรแทนตามสัญญาค้ำประกันดังกล่าวภายในจำนวนเงิน 500,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่า หนี้ค่าภาษีอากรที่โจทก์ฟ้องให้จำเลยรับผิดเป็นหนี้ค่าภาษีอากรของบริษัทเกรตอีสเทอร์น ดริลลิ่ง แอนด์เซอร์วิส อิงค์ ที่เกิดขึ้นสำหรับรอบระยะเวลาก่อนที่จำเลยจะเข้าทำสัญญาค้ำประกันต่อโจทก์ โจทก์มิได้ใช้สิทธิเรียกร้องหรือมิได้ฟ้องร้องให้จำเลยรับผิดชำระค่าภาษีอากรภายในกำหนดอายุการค้ำประกัน และนายเดเนียล เจ.วาร์ด มิได้เป็นผู้จัดการหรือผู้ทำการติดต่อ หรือผู้ทำการแทน และไม่ได้เป็นตัวแทนบริษัทเกรตอีสเทอร์น ดริลลิ่ง แอนด์ เซอร์วิส อิงค์ ในการประกอบกิจการในประเทศไทย นายเดเนียล เจ.วาร์ด จึงไม่มีหน้าที่และความรับผิดในการยื่นรายการและเสียภาษีอากรแทนบริษัทเกรตอีสเทอร์น ดริลลิ่ง แอนด์ เซอร์วิส อิงค์ ตามประมวลรัษฎากร นายเดเนียล เจ.วาร์ด ยังคงทำงานอยู่ในประเทศไทยจำเลยจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “ประมวลรัษฎากร มาตรา76 ทวิ วรรคแรก บัญญัติไว้ว่า “บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ มีลูกจ้างหรือผู้ทำการแทนหรือผู้ทำการติดต่อในการประกอบกิจการในประเทศไทย ซึ่งเป็นเหตุให้ได้รับเงินได้หรือผลกำไรในประเทศไทย ให้ถือว่าบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นประกอบกิจการในประเทศไทย และให้ถือว่าบุคคลผู้เป็นลูกจ้างหรือผู้ทำการแทน หรือผู้ทำการติดต่อเช่นว่านั้น ไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลเป็นตัวแทนของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ และให้บุคคลนั้นมีหน้าที่และความรับผิดในการยื่นรายการและเสียภาษีตามบทบัญญัติในส่วนนี้ เฉพาะที่เกี่ยวกับเงินได้หรือผลกำไรที่กล่าวแล้ว”
วรรคสาม บัญญัติไว้ว่า “ในกรณีการประเมินตามความในมาตรานี้จะอุทธรณ์การประเมินก็ได้” เมื่อพิเคราะห์บทบัญญัติดังกล่าวในวรรคแรกประกอบวรรคสามแล้วเห็นได้ว่า การที่จะเรียกให้ลูกจ้างหรือผู้ทำการแทนหรือผู้ทำการติดต่อรับผิดตามความในวรรคแรกนั้นเจ้าพนักงานประเมินจะต้องดำเนินการตามประมวลรัษฎากร มาตรา 19และ 20 ก่อน กล่าวคือ จะต้องเรียกบุคคลผู้ต้องรับผิดตามความในวรรคแรกมาไต่สวนแล้วแจ้งจำนวนเงินที่ประเมินไปยังบุคคลผู้ต้องรับผิด เพื่อที่บุคคลนั้นจะได้มีโอกาสอุทธรณ์การประเมินตามความในวรรคสามก่อน ในคดีนี้จากพยานหลักฐานของโจทก์ไม่ปรากฏว่าได้มีการเรียกนายเดเนียล เจ.วาร์ด ไปไต่สวนและแจ้งการประเมินไปยังนายเดเนียล เจ.วาร์ด ให้ต้องรับผิดตามประมวลรัษฎากร มาตรา 76 ทวิ และย่อมไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยในฐานะผู้ค้ำประกันนายเดเนียล เจ.วาร์ด ให้ต้องรับผิดเช่นเดียวกันปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่ได้ยกขึ้นว่ากล่าวและวินิจฉัยมาในชั้นศาลภาษีอากรกลาง ศาลฎีกาก็ยกขึ้นวินิจฉัยได้ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล”
พิพากษายืน

Share