คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 246/2497

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การใช้บทกฎหมายที่อาญาหนักลงโทษความผิดที่ละเมิดกฎหมายหลายบทนั้น ต้องถืออัตราโทษจำคุกสูงสุดที่ศาลอาจวางกำหนดลงโทษแก่จำเลยสำหรับความผิดที่จำเลยกระทำลงได้นั้นเป็นสำคัญ มิใช่ถืออัตราโทษปรับมากน้อยหรือต้องลงโทษทั้งจำทั้งปรับ
ตาม พ.ร.บ.ศุลกากร นั้น ความผิดฐานพยายามมีโทษเท่ากับความผิดสำเร็จ เมื่อความผิดของจำเลยเป็นความผิดฐานพยายาม พ.ร.บ.ศุลกากร จึงเป็นบทหนักกว่า พ.ร.บ.ควบคุมการส่งออกไปนอก ฯ

ย่อยาว

โจทย์ฟ้องว่าจำเลยกับพวกได้บังอาจสมคบกันพยายามนำสินค้าและสิ่งของต่างๆ ท้ายฟ้องซึ่งเป็นของต้องห้ามมิให้นำออกนอกราชอาณาจักร ออกไปประเทศพะม่านอกราชอาณาจักร เจ้าพนักงานจับจำเลยได้พร้อมของกลางเสียก่อน จึงนำออกไปไม่สำเร็จ ขอให้ลงโทษ
จำเลยทั้ง ๒ ปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นชี้ขาดว่าจำเลยได้กระทำผิดจริงดังข้อหา และพิพากษาว่าการกระทำผิดของจำเลยเป็นกรรมเดียว แต่ผิดกฎหมาย ๒ บท ให้ลงโทษตาม พ.ร.บ.ควบคุมการส่งออกไปนอกและการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้าบางอย่าง ( ฉบับที่ ๓ ) พ.ศ. ๒๔๙๐ มาตรา ๓ ซึ่งเป็นบทหนัก ลดฐานพยายาม ๑ ใน ๓
จำเลยฝ่ายเดียวอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ฟังว่าจำเลยกระทำผิดจริง แต่เห็นว่าตามมาตรา ๒๗ แห่ง พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. ๒๔๖๙ นั้น ความผิดฐานพยายามและความผิดสำเร็จมีอัตราโทษเดียวกัน ฉะนั้น พ.ร.บ.ศุลกากรจึงเป็นบทหนักกว่า พ.ร.บ.ควบคุมการส่งออกไปนอก ฯ และสินบลนำจับก็ไม่มี พิพากษาแก้ว่าจำเลยผิดตาม พ.ร.บ.ศุลากากร พ.ศ.๒๔๖๙ ม.๒๗ และ พ.ร.บ.ศุลกากร ( ฉบับที่ ๑๑ ) ม.๓ และปรับ ๔ เท่าราคาของ ลดฐานปราณีตามกฎหมายลักษณะอาญา ม.๕๙ เสีย ๑ ใน ๓ นอกจากนี้ยืน
โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษตาม พ.ร.บ. ควบคุมการส่งออกไปนอก ฯ ( ฉบับที่ ๓ ) พ.ศ.๒๔๙๐ ม.๓ ซึ่งเป็นบทหนักกว่า
ศาลฎีกาได้ประชุมปรึกษาในที่ประชุมใหญ่และลงมติว่าการกกระทำของจำเลยต้องด้วยกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา ๗๐ ต้องถืออัตราโทษจำคุกสุงสุดที่ศาลอาจวางกำหนดโทษแก่จำเลยสำหนับความผิดที่จำเลยกระทำลงได้นั้นเป็นสำคัญ มิใช่ถืออัตราโทษปรับมากน้อยหรือต้องลงโทษทั้งจำทั้งปรับ
ความผิดของจำเลยเป็นเรื่องพยายามและละเมิดกฎหมาย ๒ บท ถ้าจะลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.ควบคุมการส่งออกไปนอก ๆ ( ฉบับที่ ๓ ) พ.ศ. ๒๔๙๐ มาตรา ๓ ก็จะต้องประกอบด้วยกฎหมายลักษณะอาญามาตรา ๖๐ ซึ่งลงโทษได้เพียง ๒ ใน ๓ ส่วนของไม่เกิน ๑๐ ปี ( ๖ ปี ๘ เดือน ) ส่วนความผิดตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.๒๔๖๙ มาตรา ๒๗ บัญญัติไว้เป็นพิเศษว่าแม้เพียงพยายามก็ต้องลงโทษเท่ากับความผิดสำเร็จซึ่งศาลอาจวางโทษได้ถึง ๑๐ ปี เห็นได้ชัดว่าอัตราโทษสูงสุดตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. ๒๔๖๙ มาตรา ๒๗ แก้ไขโดย พ.ร.บ.ศุลกากร ( ฉบับที่ ๑๑ ) พ.ศ.๒๔๙๐ มาตรา ๓ นั้นเป็นบทกฎหมายที่มีอาญาหนักกว่า
พิพากษายืน

Share