แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
สัญญาเช่ารถยนต์เป็นสัญญาเดิมที่ทำขึ้นระหว่างบริษัทมหานครขนส่ง จำกัด กับโจทก์ ต่อมาเมื่อจำเลยตั้งขึ้นเป็นองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ ได้รับโอนกิจการและทรัพย์สินของบริษัทมหานครขนส่ง จำกัด มาดำเนินกิจการ ได้เช่ารถยนต์คันพิพาทสืบต่อมาโดยไม่ได้ทำสัญญาเช่ากันใหม่จึงนำสัญญาเช่าซึ่งมีอยู่เดิมมาใช้บังคับได้
สัญญาเช่ามีข้อความว่า ผู้ให้เช่าเป็นผู้รับผิดชอบในความเสียหายต่าง ๆ ที่เกิดจากการใช้รถที่เช่า รวมถึงความเสียหายอันเกิดจากอุบัติเหตุและเหตุสุดวิสัย เป็นต้นข้อที่ผู้ให้เช่าต้องรับผิดชอบในความเสียหายต่าง ๆ ที่เกิดจากการใช้รถที่เช่านั้น หมายความถึงการที่ผู้เช่าใช้รถที่เช่าอย่างปกติธรรมดาตามประเพณีนิยม โดยได้สงวนทรัพย์สินนั้นเช่นวิญญูชนจะพึงสงวนทรัพย์สินของตนเอง ผู้เช่าจึงจะไม่ต้องรับผิดในความเสียหายต่าง ๆ ที่โดยปกติย่อมเกิดขึ้นจากการใช้รถที่เช่า เมื่อจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ผู้เช่าได้ขับรถยนต์ที่เช่าด้วยความประมาทไปชนกับรถยนต์คันอื่นได้รับความเสียหายอันเป็นการละเมิดจำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดในความเสียหายของทรัพย์สินที่เช่า
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ได้เช่ารถยนต์โดยสารปรับอากาศจากโจทก์ไปใช้รับส่งคนโดยสาร โดยรับผิดชอบในความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อรถโจทก์และต่อบุคคลอื่นต่อมาจำเลยที่ 1 ได้ให้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 มารับรถโดยสารที่เช่านำออกไปรับส่งคนโดยสาร จำเลยที่ 2 ขับด้วยความประมาทเป็นเหตุให้รถโจทก์ไปเฉี่ยวชนกับรถของบุคคลอื่นได้รับความเสียหาย อนุญาโตตุลาการที่โจทก์และจำเลยที่ 1 ตั้งขึ้นได้ชี้ขาดให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์แล้ว ขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ได้ตกลงเช่ารถยนต์โดยสารปรับอากาศจากโจทก์ มีข้อตกลงว่า เมื่อรถออกปฏิบัติการ โจทก์มีหน้าที่ดูแลคนขับให้ปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ วินัย และคำสั่งของผู้เช่า จำเลยไม่ต้องรับผิดในความเสียหายเพราะอยู่ในความรับผิดชอบของโจทก์ทั้งสิ้นและต่อสู้ในข้ออื่นอีก ขอให้พิพากษายกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การ โจทก์จึงถอนฟ้องจำเลยที่ 2
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า เดิมรถยนต์โดยสารปรับอากาศคันพิพาทโจทก์ทำสัญญาให้บริษัทมหานครขนส่ง จำกัด เช่าตามเอกสารหมาย ล.1 เมื่อจำเลยที่ 1 ตั้งขึ้นเป็นองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ ตามพระราชกฤษฎีกา จัดตั้งองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ พ.ศ. 2519 จำเลยที่ 1 ได้รับโอนกิจการและทรัพย์สินของบริษัทมหานครขนส่ง จำกัด มาดำเนินกิจการและเช่ารถยนต์คันพิพาทสืบต่อมา ในวันเกิดเหตุจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ได้ขับรถยนต์คันพิพาทด้วยความประมาทไปชนกับรถยนต์ของผู้อื่น เป็นเหตุให้รถยนต์คันพิพาทได้รับความเสียหาย อนุญาโตตุลาการที่โจทก์และจำเลยที่ 1 ตั้งขึ้นกำหนดค่าเสียหายของรถยนต์คันพิพาทไว้เป็นเงิน 150,000 บาท แล้ววินิจฉัยข้อกฎหมายว่า
ที่โจทก์ฎีกาว่า จะนำสัญญาเช่าตามเอกสารหมาย ล.1 มาใช้บังคับระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 ไม่ได้ เพราะสัญญาดังกล่าวผูกพันระหว่างโจทก์และบริษัทมหานครขนส่ง จำกัด เท่านั้น เห็นว่าตามสัญญาเอกสารหมาย ล.1 เป็นสัญญาเช่ารถโดยสารปรับอากาศระหว่างบริษัทมหานครขนส่ง จำกัด กับโจทก์ทำขึ้นเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2519 เป็นสัญญาเดิม เมื่อจำเลยที่ 1 ตั้งขึ้นเป็นองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ รับโอนกิจการและทรัพย์สินของบริษัทมหานครขนส่ง จำกัด มาดำเนินกิจการ ได้เช่ารถยนต์คันพิพาทสืบต่อมาโดยไม่ได้ทำสัญญาเช่ากันใหม่ จึงนำสัญญาเช่าซึ่งมีอยู่เดิมมาใช้บังคับได้ จำเลยที่ 1 ให้การปฏิเสธฟ้องโจทก์ว่าไม่ต้องรับผิดในความเสียหายใด ๆ ที่เกิดขึ้นการที่ศาลหยิบยกสัญญาเช่าเอกสารหมาย ล.1 ขึ้นวินิจฉัยจึงไม่ใช่เป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น
ตามสัญญาเช่าเอกสารหมาย ล.1 ข้อ 6 มีข้อความว่า “ผู้ให้เช่าเป็นผู้รับผิดชอบในความเสียหายต่าง ๆ ที่เกิดจากการใช้รถที่เช่าทั้งนี้รวมถึงความเสียหายอันเกิดจากอุบัติเหตุ เหตุสุดวิสัย การจราจล หรือการก่อความวุ่นวายของกลุ่มชน ความเสียหายอันเกิดจากการกระทำของผู้โดยสารความเสียหายต่อตัวรถและอุปกรณ์ของรถ ความเสียหายต่อทรัพย์สิน ร่างกายชีวิตของผู้โดยสารและหรือบุคคลภายนอก ความเสียหายอันเกิดจากการที่ผู้ให้เช่าต้องขาดประโยชน์กรณีที่รถเกิดอุบัติเหตุดังกล่าว
ผู้ให้เช่าตกลงไม่ให้ผู้เช่าต้องรับผิด ฯลฯ”
เห็นว่า สัญญาข้อ 6 วรรคแรก ที่ผู้ให้เช่าต้องรับผิดชอบในความเสียหายต่าง ๆ ที่เกิดจากการใช้รถที่เช่านั้น หมายความถึงการที่ผู้เช่าใช้รถที่เช่าอย่างปกติธรรมดาตามประเพณีนิยม โดยได้สงวนทรัพย์สินนั้นเช่นวิญญูชนจะพึงสงวนทรัพย์สินของตนเองผู้เช่าจึงจะไม่ต้องรับผิดในความเสียหายต่าง ๆ ที่โดยปกติย่อมเกิดขึ้นจากการใช้รถที่เช่าเพราะหลักทั่วไปในเรื่องการเช่าทรัพย์ ผู้เช่าจะใช้ทรัพย์สินที่เช่าเพื่อการอย่างอื่นนอกจากที่ใช้กันตามประเพณีนิยมปกติไม่ได้ และมีหน้าที่ต้องสงวนทรัพย์สินที่เช่าเสมอกับที่วิญญูชนจะพึงสงวนทรัพย์สินของตนเอง กรณีของจำเลยที่ 1 ได้ความว่าจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ได้ขับรถคันพิพาทที่เช่าไปจากโจทก์ด้วยความประมาทไปชนกับรถยนต์คันอื่นได้รับความเสียหายอันเป็นการละเมิด แสดงว่ามิได้สงวนทรัพย์สินที่เช่าอย่างวิญญูชนจะพึงสงวนทรัพย์สินของตนเอง และมิได้ใช้รถที่เช่าอย่างปกติธรรมดาตามประเพณีนิยม และความเสียหายดังกล่าวก็มิใช่ความเสียหายที่โดยปกติย่อมเกิดขึ้นจากการใช้รถคันพิพาทตามสัญญาเช่าจำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดในความเสียหายของทรัพย์สินที่เช่า การที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่าไม่ต้องรับผิดตามสัญญาข้อ 6 ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ส่วนค่าเสียหายโจทก์ขอให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการซึ่งโจทก์และจำเลยที่ 1 ตั้งขึ้นไว้ก่อนนำคดีมาสู่ศาลซึ่งได้กำหนดไว้เป็นเงิน 150,000 บาท เหมาะสมแก่รูปคดีแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน 150,000 บาทพร้อมทั้งดอกเบี้ย