คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 948/2525

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สัญญาจ้างเหมาก่อสร้างอาคาร จำเลยผู้ว่าจ้างมีหน้าที่ต้องมอบพื้นที่และกำหนดแนวเขตพื้นที่ที่โจทก์จะต้องก่อสร้าง การที่จำเลยสั่งระงับการก่อสร้าง เฉพาะการวางผังและตอกเสาเข็มรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของผู้อื่นนั้นเป็นความผิดของจำเลยที่ไม่ตรวจแนวเขตที่ดินให้แน่นอนเสียก่อน จำเลยจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญาที่ไม่สามารถให้โจทก์ดำเนินการก่อสร้างตามสัญญาต่อไปได้แต่ในสัญญาจ้างเหมาไม่มีข้อสัญญาให้สิทธิในการบอกเลิกสัญญาไว้เลย สิทธิในการบอกเลิกสัญญาจึงย่อมมีอยู่เฉพาะตามที่กฎหมายบัญญัติไว้เท่านั้นแม้สัญญาจ้างเหมาจะกำหนดเวลาชำระหนี้ไว้แน่นอนแต่เมื่อมีพฤติการณ์แสดงให้เห็นว่าคู่สัญญาไม่ถือเอากำหนดเวลาชำระหนี้ตามสัญญาเป็นข้อสำคัญอีกต่อไป กรณีจึงต้องด้วยบทบัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 387 โจทก์จะต้องบอกกล่าวให้จำเลยดำเนินการให้โจทก์ลงมือก่อสร้างต่อไปโดยกำหนดระยะเวลาพอสมควรให้จำเลยแก้ไขข้อขัดข้อง ไม่สามารถแก้ไขภายในระยะเวลาที่กำหนดให้แล้ว โจทก์จึงจะบอกเลิกสัญญาได้ หากโจทก์ยังมิได้ปฏิบัติดังกล่าว โจทก์ก็ยังไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาเมื่อโจทก์ยังไม่มีแม้แต่สิทธิที่จะบอกเลิกสัญญา โจทก์ก็ไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหาย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ โดยจำเลยที่ ๒ และจำเลยที่ ๓ ซึ่งเป็นผู้แทนและในฐานะส่วนตัวได้ทำสัญญาให้โจทก์เป็นผู้รับเหมาก่อสร้างอาคารที่ทำการกองบัญชาการศึกษา ๑ หลัง พร้อมทั้งส่วนประกอบอื่น ๆ ต่อมาจำเลยที่ ๑ มีหนังสือแจ้งให้โจทก์ระงับการก่อสร้างไว้ก่อนเนื่องจากการวางผังและตอกเสาเข็มได้รุกล้ำเข้าไปในที่ดินของเอกชน โจทก์จึงต้องยุติการก่อสร้างเป็นเหตุให้โจทก์ไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญาต่อไปได้ ถือได้ว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายขอให้จำเลยทั้งสามใช้ค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ย
จำเลยทั้งสามให้การว่า จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ปฏิบัติราชการตามหน้าที่ให้แก่จำเลยที่ ๑ มิได้กระทำการในฐานะส่วนตัว จึงไม่ต้องรับผิดเป็นส่วนตัวการที่จำเลยที่ ๑ มีหนังสือแจ้งให้โจทก์ระงับการก่อสร้างไว้ก่อนเป็นการกระทำโดยสุจริตเพื่อป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นและเป็นการขอให้ระงับไว้เพียงชั่วคราว ต่อมาเมื่อเดือนพฤศจิกายน ๒๕๒๑ จำเลยที่ ๑ มีหนังสือแจ้งให้โจทก์ลงมือก่อสร้างต่อไปตามสัญญาและได้มีหนังสือเร่งรัดอีกเมื่อเดือนธันวาคม ๒๕๒๑ แต่โจทก์เพิกเฉย โจทก์จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญาไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าการที่จำเลยที่ ๑ สั่งระงับการก่อสร้างทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย การที่โจทก์ไม่ยอมก่อสร้างต่อจะหาว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญายังไม่ได้ การละเว้นของจำเลยที่ ๑ เป็นการผิดสัญญา พิพากษาให้จำเลยที่ ๑ ชดใช้ค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ย ยกฟ้องเฉพาะจำเลยที่ ๒ ที่ ๓
โจทก์และจำเลยที่ ๑ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าให้จำเลยที่ ๑ ชดใช้ค่าเสียหาย๑,๐๑๔,๗๐๐ บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗ ครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเงินเสร็จแก่โจทก์
โจทก์และจำเลยที่ ๑ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยที่ ๑ ฎีกาว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญานั้นศาลฎีกาเห็นว่าเมื่อจำเลยที่ ๑ ทำสัญญาจ้างเหมาให้โจทก์ก่อสร้างอาคารจำเลยที่ ๑ ก็มีหน้าที่ต้องมอบพื้นที่และกำหนดแนวเขตพื้นที่ที่โจทก์จะต้องก่อสร้าง การที่จำเลยที่ ๑ สั่งระงับการก่อสร้างเพราะการวางผังและตอกเสาเข็มรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของเอกชนนั้นเป็นความผิดของจำเลยที่ ๑ ที่ไม่ตรวจสอบแนวเขตที่ดินให้แน่นอนเสียก่อน จำเลยที่ ๑ จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญาที่ไม่สามารถให้โจทก์ดำเนินการก่อสร้างตามสัญญาต่อไปได้ ปัญหาที่จะต้องพิจารณาต่อไปก็คือ โจทก์บอกเลิกสัญญาแล้วหรือยัง เห็นว่าสัญญาจ้างเหมาตามเอกสารหมาย จ.๒ ไม่มีข้อสัญญาให้สิทธิโจทก์ในการบอกเลิกสัญญาไว้เลย สิทธิของโจทก์ในการบอกเลิกสัญญาจึงมีอยู่เฉพาะตามที่กฎหมายบัญญัติไว้เท่านั้นสัญญาจ้างเหมาดังกล่าว แม้จะกำหนดเวลาชำระหนี้ไว้แน่นอน กล่าวคือโจทก์จะต้องเริ่มลงมือทำงาน ณ สถานที่ก่อสร้างภายในวันที่ ๕ ตุลาคม ๒๕๒๐ และจะต้องทำงานแต่ละงวดให้แล้วเสร็จภายในวันเวลาที่กำหนดไว้จนถึงงวดสุดท้ายจะต้องแล้วเสร็จภายในวันที่ ๒๖ พฤษภาคม ๒๕๒๒แต่เมื่อจำเลยที่ ๑ มีคำสั่งให้โจทก์ระงับการก่อสร้างไว้ก่อน คู่สัญญาก็ได้เจรจากันตลอดมาจนแม้เมื่อโจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้แล้ว โจทก์ก็ยังเสนอเงื่อนไขต่อจำเลยที่ ๑ ในการที่จะดำเนินการก่อสร้างต่อไปอีก แสดงให้เห็นว่าคู่สัญญาไม่ถือเอากำหนดเวลาชำระหนี้ตามสัญญาเป็นข้อสำคัญอีกต่อไปกรณีจึงต้องด้วยบทบัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๓๘๗ กล่าวคือ เมื่อจำเลยที่ ๑ ผิดสัญญาไม่สามารถมอบพื้นที่ให้โจทก์ดำเนินการก่อสร้างตามสัญญาต่อไปได้ เป็นการไม่ชำระหนี้ในส่วนที่เป็นหน้าที่ของตนโจทก์จะต้องบอกกล่าวให้จำเลยที่ ๑ ดำเนินการให้โจทก์ลงมือก่อสร้างต่อไปโดยกำหนดระยะเวลาพอสมควร ให้จำเลยที่ ๑ แก้ไขข้อขัดข้อง ถ้าจำเลยที่ ๑ยังไม่สามารถแก้ไขข้อขัดข้องภายในระยะเวลาที่กำหนดให้แล้ว โจทก์จึงจะบอกเลิกสัญญาได้ เมื่อโจทก์ยังไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวโจทก์ก็ยังไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญา ศาลฎีกาเห็นว่า โจทก์ต้องบอกเลิกสัญญาเสียก่อนจึงจะมีสิทธิเรียกค่าเสียหาย เมื่อโจทก์ยังไม่มีแม้แต่สิทธิที่จะบอกเลิกสัญญา โจทก์ก็ไม่มีสิทธิฟ้องเรียกค่าเสียหาย เมื่อวินิจฉัยฎีกาโจทก์และจำเลยที่ ๑ในประเด็นอื่นต่อไป
พิพากษาแก้เป็นให้ยกฟ้องจำเลยที่ ๑ ด้วย

Share