แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
จำเลยให้การว่า คำฟ้องของโจทก์ที่เรียกค่าจ้างตามสัญญาจ้างบำรุงรักษาสาธารณูปโภคส่วนกลางของโครงการหมู่บ้านที่เกินกว่าสองปีนับถึงวันฟ้องนั้นขาดอายุความ โจทก์ไม่สามารถฟ้องได้เป็นการขัดต่อกฎหมาย โจทก์จะฟ้องเรียกค่าจ้างได้ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2542 จนถึงวันฟ้องได้เป็นเวลา 24 เดือน ถือเป็นการให้การโดยละเอียดแล้วว่า กรณีเป็นสัญญาจ้างบำรุงรักษามีอายุความ 2 ปี มีค่าจ้างส่วนที่ขาดอายุความไปแล้ว และส่วนที่ยังไม่ขาดอายุความเหลืออยู่เพียงใด จึงเป็นคำให้การที่ชัดแจ้งแสดงถึงเหตุแห่งคดีขาดอายุความแล้ว
สัญญาจ้างบำรุงรักษาเป็นข้อตกลงที่โจทก์จัดให้มีบริการต่างๆ ภายในหมู่บ้านโดยโจทก์จะได้รับผลตอบแทนจากสมาชิกในหมู่บ้านรวมทั้งจำเลยเป็นค่าธรรมเนียมตามอัตราที่กำหนดไว้ในสัญญา อันเป็นการดำเนินการประจำเป็นปกติธุระ ถือว่าโจทก์เป็นผู้ประกอบธุรกิจในการรับทำการงานต่างๆ เรียกเอาสินจ้างจะพึงได้รับในการนั้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (7) มีอายุความ 2 ปี
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองทำสัญญาว่าจ้างให้โจทก์มีหน้าที่บำรุงรักษาดูแลสาธารณูปโภคส่วนกลางของโครงการหมู่บ้านที่จำเลยทั้งสองมีบ้านและที่ดินตั้งอยู่แต่จำเลยทั้งสองไม่ชำระค่าธรรมเนียมการบำรุงรักษาให้โจทก์ตามสัญญาตั้งแต่เดือนธันวาคม 2534 ถึงเดือนพฤษภาคม 2544 ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 534,554.47 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 332,178.14 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า ฟ้องโจทก์ในส่วนที่เรียกค่าจ้างตามสัญญาเกินกว่าสองปีนับถึงวันฟ้องขาดอายุความ ค่าจ้างจึงไม่เกิน 47,232 บาท ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 95,624.70 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 29 มิถุนายน 2544) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความให้ 3,000 บาท
โจทก์และจำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า สำหรับดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนั้น ให้คิดจากต้นเงิน 84,487.20 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 29 มิถุนายน 2544) เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสองจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกว่า ตามคำให้การของจำเลยทั้งสองมีประเด็นเรื่องอายุความหรือไม่ เห็นว่า ตามคำให้การของจำเลยทั้งสอง ข้อ 4 มีความว่า คำฟ้องของโจทก์ขาดอายุความกล่าวคือ คำฟ้องของโจทก์ในส่วนที่ฟ้องเรียกค่าจ้างตามสัญญาจ้างบำรุงรักษาดังกล่าวที่เกินกว่าสองปีนับถึงวันฟ้องนั้นขาดอายุความ โจทก์ไม่สามารถที่จะฟ้องเรียกร้องค่าจ้างในส่วนที่ขาดอายุความดังกล่าวต่อจำเลยได้เป็นการขัดต่อกฎหมาย โจทก์จะฟ้องเรียกค่าจ้างได้เพียงตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2542 ถึงวันฟ้องเป็นเวลา 24 เดือนๆ ละ 1,968 บาท รวมเป็นเงินไม่เกิน 47,232 บาท อันเป็นการให้การโดยละเอียดแล้วว่า กรณีเป็นสัญญาจ้างบำรุงรักษา มีอายุความ 2 ปี มีค่าจ้างส่วนที่ขาดอายุความไปแล้ว และส่วนที่ยังไม่ขาดอายุความเหลืออยู่เพียงใด จึงเป็นคำให้การที่ชัดแจ้งแสดงถึงเหตุแห่งคดีขาดอายุความแล้ว ที่ศาลล่างทั้งสองหยิบยกประเด็นเรื่องอายุความขึ้นวินิจฉัยจึงชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาประการต่อมามีว่า คดีขาดอายุความหรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่า คดีต้องใช้อายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 เห็นว่า สัญญาจ้างบำรุงรักษาเป็นข้อตกลงที่โจทก์จัดให้มีบริการต่างๆ ภายในหมู่บ้าน เช่น รักษาความสะอาด จัดเก็บขยะมูลฝอย รักษาความปลอดภัย จัดให้มีแสงสว่าง เป็นต้น โดยโจทก์จะได้รับผลตอบแทนจากสมาชิกในหมู่บ้านรวมทั้งจำเลยทั้งสองเป็นค่าธรรมเนียมตามอัตราที่กำหนดไว้ในสัญญา อันเป็นการดำเนินการประจำเป็นปกติธุระถือว่าโจทก์เป็นผู้ประกอบธุรกิจในการรับทำการงานต่างๆ เรียกเอาสินจ้างอันจะพึงได้รับในการนั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 (7) มีอายุความ 2 ปี ดังที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัย ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ