แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
บ้านของกลางทั้ง 2 หลังที่จำเลยปลูกสร้างขึ้นในเขตอุทยานแห่งชาติมิใช่เครื่องมือ อาวุธ สัตว์พาหนะ ยานพาหนะหรือเครื่องจักรกลใดๆ ซึ่งบุคคลได้ใช้ในการกระทำความผิด หรือได้ใช้เป็นอุปกรณ์ให้ได้รับผลในการกระทำความผิดโดยตรง ตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ฯ มาตรา 74 ทวิ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติฯ มาตรา 29 ป.ที่ดิน มาตรา 108 ทวิ วรรคห้า จึงไม่อาจริบได้
พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติฯ มาตรา 22 มีเจตนารมณ์ให้ดำเนินการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างโดยฝ่าฝืนต่อ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติฯ ออกไปให้พ้นอุทยานแห่งชาติฯ ดังนั้น แม้โจทก์จะมิได้ขอให้ศาลสั่งให้จำเลยรื้อถอนบ้านของกลางทั้ง 2 หลัง แต่เมื่อโจทก์มีคำขอให้ริบบ้านของกลางทั้ง 2 หลัง ศาลก็ย่อมมีอำนาจสั่งให้จำเลยรื้อถอนบ้านของกลางทั้ง 2 หลัง ออกไปให้พ้นอุทยานแห่งชาติได้ ไม่ต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยบุกรุกเข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินพิพาท ซึ่งอยู่ภายในเขตอุทยานแห่งชาติ เนื้อที่ 208 ไร่ โดยปลูกสร้างบ้านพัก 1 หลัง บ้านพักคนงาน 1 หลังแผ้วถางป่าและก่นสร้างแล้วทำการเกษตรปลูกมันสำปะหลังและไม้ผล อันเป็นการทำลาย ทำให้สูญหาย ทำให้เสื่อมสภาพอุทยานแห่งชาติและทำให้เป็นอันตรายเสื่อมสภาพแก่ดินหินกรวดทราย คิดเป็นค่าเสียหาย 31,200,000 บาท โดยจำเลยไม่ได้รับอนุญาต เจ้าพนักงานยึดบ้านพัก 1 หลัง บ้านพักคนงาน 1 หลัง อันเป็นทรัพย์ที่จำเลยได้ใช้ในการกระทำความผิดและใช้เป็นอุปกรณ์ให้ได้รับผลในการกระทำความผิดเป็นของกลาง ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2504 มาตรา 16 (1) (2) (13), 24, 27, 29 พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 54, 55, 72 ตรี, 74 ทวิ ประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 9, 108 ทวิ พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 มาตรา 99 ริบของกลางและให้จำเลย คนงาน ผู้รับจ้าง ตัวแทน และบริวารของจำเลยออกจากเขตอุทยานแห่งชาติด้วย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2504 มาตรา 16 (1) (2) (13), 24, 27, 29 พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง, 55, 72 ตรี วรรคหนึ่งและวรรคสาม, 74 ทวิ ประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 9 (ที่ถูกมาตรา 9 (1) (2)), 108 ทวิ วรรคหนึ่ง วรรคสอง วรรคสี่ และวรรคท้าย พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 มาตรา 99 การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายมาตรา 90 จำคุก 1 ปี และปรับ 100,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ให้คุมความประพฤติของจำเลยและให้ไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ 4 ครั้ง ภายในกำหนด 1 ปี ให้จำเลยทำงานบริการสังคมหรือบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติและจำเลยเห็นสมควรกำหนด เป็นเวลา 24 ชั่วโมง ให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือน นับแต่วันพิพากษาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ริบของกลางให้จำเลย คนงาน ผู้รับจ้าง ตัวแทน และบริวารของจำเลยออกจากเขตอุทยานแห่งชาติดังกล่าว ส่วนข้อหาอื่นให้ยก
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีสิ่งแวดล้อมวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเชื่อได้ว่าจำเลยบุกรุกเข้าไปก่นสร้าง แผ้วถาง ยึดถือครอบครองที่ดินในเขตอุทยานแห่งชาติโดยปลูกบ้านพักตากอากาศ 1 หลัง และบ้านพักคนงาน 1 หลัง ในที่ดินดังกล่าวเนื้อที่ประมาณ 1 ไร่ ตามที่โจทก์ฟ้อง ที่จำเลยอ้างว่า จำเลยสร้างบ้านที่เกิดเหตุให้นายบู๊ซึ่งนับถือเสมือนลุงไว้อยู่อาศัยและไม่เคยกันไว้เป็นของส่วนตัวนั้นไม่มีน้ำหนักรับฟังหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้ ส่วนที่โจทก์อ้างว่า จำเลยบุกรุกเข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินในเขตอุทยานแห่งชาติอีกประมาณ 207 ไร่ นั้น โจทก์ก็ไม่มีพยานหลักฐานใดที่จะชี้ว่าจำเลยเป็นเจ้าของหรือเป็นผู้ใช้จ้างวานให้คนงานปลูกมันสำปะหลังดังกล่าว จำเลยก็ให้การปฏิเสธตลอดมา พยานหลักฐานโจทก์จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยบุกรุกเข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินในเขตอุทยานแห่งชาติอีกประมาณ 207 ไร่ ตามที่โจทก์ฟ้อง
ส่วนที่โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยสถานหนัก เห็นว่า จำเลยบุกรุกเข้าไปยึดถือครอบครองปลูกบ้านพักตากอากาศ 1 หลัง กับบ้านพักคนงานอีก 1 หลัง ในที่ดินเขตอุทยานแห่งชาติเนื้อที่ประมาณ 1 ไร่ แต่เนื่องจากบริเวณที่เกิดเหตุอยู่ในแนวเขตแก้ไขปัญหาราษฎรเรื่องที่ดินทำกิน และรัฐยังผ่อนผันให้ราษฎรที่เข้าทำกินก่อนประกาศเป็นเขตอุทยานแห่งชาติให้เข้าอาศัยทำกินต่อไปได้ ตามพฤติการณ์แห่งคดียังไม่ร้ายแรงนัก ที่ศาลชั้นต้นใช้ดุลพินิจลงโทษจำคุกจำเลยมีกำหนด 1 ปี และรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยนั้นเหมาะสมแล้ว แต่เพื่อให้จำเลยหลาบจำจึงเห็นสมควรลงโทษปรับจำเลยให้หนักขึ้น ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน
อนึ่ง สำหรับบ้านของกลางทั้ง 2 หลัง ที่จำเลยปลูกสร้างขึ้นในเขตอุทยานแห่งชาติทับลานนั้น มิใช่เครื่องมือ เครื่องใช้ อาวุธ สัตว์พาหนะ ยานพาหนะ หรือเครื่องจักรกลใดๆ ซึ่งบุคคลได้ใช้ในการกระทำความผิด หรือได้ใช้เป็นอุปกรณ์ให้ได้รับผลในการกระทำความผิดโดยตรงตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 74 ทวิ พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2504 มาตรา 29 ประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 108 ทวิ วรรคห้า จึงไม่อาจริบตามคำขอของโจทก์ได้ อย่างไรก็ตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติฯ มาตรา 22 บัญญัติว่า “ในกรณีที่มีการฝ่าฝืนพระราชบัญญัตินี้ เป็นเหตุให้มีสิ่งปลูกสร้างขึ้นใหม่หรือมีสิ่งอื่นใดในอุทยานแห่งชาติผิดไปจากสภาพเดิม ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจสั่งให้ผู้กระทำความผิดทำลายหรือรื้อถอนสิ่งนั้นๆ ออกไปให้พ้นอุทยานแห่งชาติ หรือทำให้สิ่งนั้นๆ กลับคืนสู่สภาพเดิมแล้วแต่กรณี ถ้าผู้กระทำความผิดไม่ปฏิบัติตาม หรือถ้าไม่รู้ตัวผู้กระทำความผิด หรือเพื่อป้องกันหรือบรรเทาความเสียหายแก่อุทยานแห่งชาติ พนักงานเจ้าหน้าที่จะกระทำการดังกล่าวแล้วอย่างใดอย่างหนึ่งเสียเองก็ได้ตามสมควรแก่กรณี และผู้กระทำความผิดมีหน้าที่ชดใช้ค่าใช้จ่ายที่ต้องเสียไปในการที่พนักงานเจ้าหน้าที่กระทำการเสียเองนั้น” แสดงว่า ในกรณีมีสิ่งปลูกสร้างขึ้นในอุทยานแห่งชาติโดยฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติฯ กฎหมายมีเจตนารมณ์ให้ดำเนินการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวออกไปให้พ้นอุทยานแห่งชาติ ดังนั้น แม้โจทก์จะมิได้ขอให้ศาลสั่งให้จำเลยรื้อถอนบ้านของกลางทั้ง 2 หลัง แต่เมื่อโจทก์มีคำขอให้ริบบ้านของกลางทั้ง 2 หลังศาลก็ย่อมมีอำนาจสั่งให้จำเลยรื้อถอนบ้านของกลางทั้ง 2 หลัง ออกไปให้พ้นอุทยานแห่งชาติได้ ไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคหนึ่ง”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น เว้นแต่ให้ปรับจำเลย 400,000 บาท และคุมความประพฤติของจำเลยไว้มีกำหนด 2 ปี นับแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้จำเลยฟัง โดยกำหนดเงื่อนไขคุมความประพฤติให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติปีละ 3 ครั้ง เพื่อพนักงานคุมประพฤติจะได้สอบถาม แนะนำ ช่วยเหลือ หรือตักเตือนจำเลยในเรื่องที่เกี่ยวกับการรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหรือเรื่องอื่นๆ ตามที่เห็นสมควรกับให้จำเลยละเว้นการประพฤติใดอันอาจนำไปสู่การกระทำความผิดทำนองนี้อีก และให้จำเลยกระทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติและจำเลยเห็นสมควรเป็นเวลา 30 ชั่วโมง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 โดยให้กักขังแทนไม่เกิน 2 ปี ไม่ริบของกลาง แต่ให้จำเลยรื้อถอนบ้านของกลางทั้ง 2 หลัง ออกไปให้พ้นอุทยานแห่งชาติ