คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2440/2531

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ผู้อุทธรณ์ในชั้นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ไม่นำพยานซึ่งมีความหมายถึงพยานหลักฐานอันควรแก่เรื่องมาแสดงต่อเจ้าพนักงานประเมินตามคำสั่ง ดั่งที่บัญญัติไว้ในมาตรา 32 แห่งประมวลรัษฎากรโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร โจทก์จึงหมดสิทธิที่จะอุทธรณ์คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ต่อศาลตามมาตรา 30(2),33 แห่งประมวลรัษฎากร

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินของจำเลยที่ 1 และเพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4ที่ให้ชำระภาษีเงินได้และเงินเพิ่มเป็นเงิน 380,173.74 บาทจำเลยทั้งสี่ให้การต่อสู้หลายประการและว่าโจทก์ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานประเมินซึ่งสั่งตามมาตรา 32 แห่งประมวลรัษฎากร ให้โจทก์นำพยานหลักฐานอันเกี่ยวกับซื้อขายทรัพย์สินมีค่าของโจทก์มาแสดงโจทก์จึงหมดสิทธิที่จะอุทธรณ์คำวินิจฉัยอุทธรณ์ต่อศาลตามมาตรา 33แห่งประมวลรัษฎากร คำสั่งของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ชอบด้วยกฎหมายแล้ว ขอให้ยกฟ้องศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาตามฟ้อง แต่ให้โจทก์เสียภาษีเงินได้จากเงินได้สุทธิประจำ พ.ศ. 2516 ถึง 2518 จำนวน256,097.46 บาท, 197,524.86 บาท และ 186,153.02 บาท เมื่อคำนวณแล้วจำนวนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและเงินเพิ่มต้องไม่น้อยกว่า53,156.82 บาท, 28,333.45 บาท และ 24,573.90 บาท ตามลำดับศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เพิกถอนการประเมินของเจ้าพนักงานประเมิน และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ที่ให้โจทก์เสียภาษีเงินได้ในปี พ.ศ. 2516 เฉพาะเงินได้สุทธิจำนวน 500,000บาท ที่เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยที่ 1 คิดเกินไปไม่หักออกให้โจทก์นอกจากนี้ให้ยกฟ้องโจทก์ โจทก์และจำเลยทั้งสี่ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “เห็นสมควรวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสี่ในเรื่องอำนาจฟ้องของโจทก์เสียก่อน โดยจำเลยทั้งสี่ฎีกาว่าการที่โจทก์ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานประเมินซึ่งสั่งตามมาตรา 32 แห่งประมวลรัษฎากร ให้โจทก์นำพยานหลักฐานอันเกี่ยวกับการซื้อขายทรัพย์สินมีค่าของโจทก์ตามที่โจทก์กล่าวอ้างในคำอุทธรณ์ซึ่งเป็นหลักฐานอันควรแก่เรื่องมาแสดง เมื่อโจทก์ไม่ได้ปฏิบัติตามคำสั่ง โจทก์ย่อมหมดสิทธิอุทธรณ์คำวินิจฉัยอุทธรณ์ต่อศาลตามมาตรา 33แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแม้ศาลอุทธรณ์จะไม่ได้วินิจฉัยในปัญหานี้จำเลยทั้งสี่ก็ยังมีสิทธิฎีกาได้ ได้ความตามคำเบิกความของนายวีระศักดิ์ เกตุพันธ์ นิติกร 6 กองอุทธรณ์ กรมสรรพากรว่าเมื่อโจทก์ยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์โดยขอให้ยกเลิกการประเมินและขอให้งดหรือลดเงินเพิ่ม ซึ่งโจทก์อ้างว่า โจทก์มีลูกหนี้นำเงินมาชำระหนี้ในปี พ.ศ. 2516 จำนวน 4,000,000 บาทและโจทก์ได้ขายทรัพย์สินซึ่งเป็นสังหาริมทรัพย์ไปในปี พ.ศ. 2516จำนวน 4,000,000 บาทเศษ และในปี พ.ศ. 2518 เป็นเงิน 1,800,000บาทเศษนั้น นายวีระศักดิ์ได้ตรวจสอบและเรียกโจทก์มาให้ถ้อยคำ2 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2525 โจทก์ไม่ยอมมา ครั้งที่ 2เมื่อเดือนสิงหาคม 2526 โจทก์มาแต่ขอผัดนำพยานมาให้ไต่สวนในเดือนกันยายน 2526 แต่เมื่อถึงกำหนดเดือนกันยายนตามนัด โจทก์ได้มอบอำนาจให้นายประทีป แสงธรรมรัตน์ มาให้การต่อนายวีระศักดิ์ปรากฏตามบันทึกคำให้การเอกสารหมาย ล.12 และหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย ล.11 โดยนายประทีปได้ให้การว่ายินดีจะนำพยานที่รับซื้อทรัพย์สินตามกล่าวอ้างมาให้เจ้าพนักงานไต่สวนในวันที่7 ตุลาคม 2526 เป็นต้นไป หากไม่นำพยานมาให้ไต่สวนก็ขอให้เจ้าพนักงานพิจารณาดำเนินกระบวนพิจารณาไปเสมือนหนึ่งว่าโจทก์ไม่มีพยานมาสืบประกอบคำอุทธรณ์ทุกประเด็น ครั้นเมื่อถึงเดือนตุลาคมตามนัด โจทก์ก็ไม่ได้นำพยานมาให้ถ้อยคำ นายวีระศักดิ์ถือว่าโจทก์ไม่มีพยานสืบตามข้อกล่าวอ้าง คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์จึงเห็นว่าการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินถูกต้องแล้ว คงผิดพลาดเพียงยอดเงิน 20,000 บาท ที่เจ้าพนักงานประเมินยกยอดค่าเพิ่มทรัพย์สินสุทธิของปี พ.ศ. 2516 คลาดเคลื่อน คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์จึงพิจารณาปรับปรุงให้ถูกต้องเป็นผลให้ภาษีลดลงและมีคำวินิจฉัยอุทธรณ์ให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์เฉพาะที่เกี่ยวกับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาปี พ.ศ. 2517-2518 ตามเอกสารหมาย ล.19 ศาลฎีกาเห็นว่าได้ความดังกล่าวกรณีของโจทก์จึงเป็นเรื่องที่โจทก์ผู้อุทธรณ์ในชั้นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ไม่นำพยานซึ่งมีความหมายถึงพยานหลักฐานอันควรแก่เรื่องมาแสดงต่อเจ้าพนักงานประเมินตามคำสั่งดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 32 แห่งประมวลรัษฎากรโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร โจทก์จึงหมดสิทธิที่จะอุทธรณ์คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ต่อศาล ตามมาตรา 30(2), 33 แห่งประมวลรัษฎากรดังที่จำเลยทั้งสี่ฎีกา และดังนั้นจึงไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของโจทก์และฎีกาของจำเลยทั้งสี่ในข้ออื่นต่อไปอีกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาจำเลยทั้งสี่ฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์

Share