คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7827/2560

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การสอบสวนผู้ต้องหาที่เป็นเด็กอายุไม่เกินสิบแปดปี ซึ่งหากผู้ต้องหาร้องขอ ให้พนักงานสอบสวนแยกกระทำเป็นส่วนสัดในสถานที่ที่เหมาะสมสำหรับเด็กและให้มีนักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์ บุคคลที่เด็กร้องขอ และพนักงานอัยการร่วมอยู่ด้วยในการสอบสวนนั้น และในกรณีที่นักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์เห็นว่าการถามเด็กหรือคำถามใด อาจจะมีผลกระทบกระเทือนต่อจิตใจเด็กอย่างรุนแรง ให้พนักงานสอบสวนถามผ่านนักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์เป็นการเฉพาะตามประเด็นคำถามของพนักงานสอบสวน โดยมิให้เด็กได้ยินคำถามของพนักงานสอบสวนและห้ามมิให้ถามเด็กซ้ำซ้อนหลายครั้งโดยไม่มีเหตุอันสมควรเป็นกรณีเฉพาะบางฐานความผิดเท่านั้น ได้แก่ ความผิดเกี่ยวกับเพศ ความผิดเกี่ยวกับชีวิตและร่างกาย อันมิใช่ความผิดที่เกิดจากการชุลมุนต่อสู้ ความผิดเกี่ยวกับเสรีภาพ ความผิดฐานกรรโชก ชิงทรัพย์และปล้นทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยมาตรการในการป้องกันและปราบปรามการค้าหญิงและเด็ก ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยสถานบริการ หรือความผิดอื่นที่มีอัตราโทษจำคุกซึ่งผู้ต้องหาที่เป็นเด็กอายุไม่เกินสิบแปดปีร้องขอตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.อ. มาตรา 133 ทวิ นั้น มิได้หมายความรวมถึงความผิดต่อ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ซึ่งเป็นกรณีความผิดอื่น ทั้งผู้ต้องหาเป็นเด็กไม่ได้ร้องขอให้บุคคลดังกล่าวเข้าร่วมในการสอบสวน พนักงานสอบสวนจึงไม่จำต้องจัดให้มีนักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์และพนักงานอัยการเข้าร่วมในการสอบสวนผู้ต้องหาด้วย ข้อเท็จจริงประกอบคำรับสารภาพของจำเลยที่ให้ไว้ต่อพนักงานสอบสวนจึงชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 134/2 ประกอบมาตรา 133 ทวิ ประกอบ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6 และเป็นพยานหลักฐานในการพิสูจน์ความผิดของจำเลยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 226 แล้ว
พฤติการณ์ที่จำเลยเบิกความว่าไปที่ขนำและพบน้ำต้มพืชกระท่อมที่ยังเหลืออยู่ในหม้อซึ่ง ธ. กับพวกนั่งดื่มอยู่ จึงไปขอดื่มแล้วผสมกับโค้กและยาแก้ไอดื่มกิน โดยมีการกรองน้ำที่ได้จากการต้ม แต่จำเลยให้การชั้นสอบสวนว่า ขณะถูกจับกุมตนกำลังต้มน้ำพืชกระท่อมเพื่อดื่มกิน ดังนั้นไม่ว่าจำเลยต้มเองหรือน้ำต้มใบพืชกระท่อมที่ ธ. ต้มไว้อยู่แล้ว จำเลยมากรองเพื่อดื่มกินอย่างเดียว การกระทำของจำเลยมีลักษณะเป็นตัวการร่วมกันในการต้มใบพืชกระท่อม เมื่อปรากฏปริมาณที่ต้มถึง 2.6 ลิตร ทั้งยังมีอุปกรณ์เป็นหม้อ และใบพืชกระท่อมที่ยังไม่ต้มจำนวนมาก ประกอบกับมีคนจำนวนหลายคนมามั่วสุมรวมตัวกันและวิ่งหลบหนีไปได้ และมีการผสมยาแก้ไอและน้ำอัดลมลงไปในน้ำต้มใบพืชกระท่อมทำให้มีความรุนแรงขึ้น กระทบต่อคนในสังคมจำนวนมากหากได้ดื่มกิน การกระทำของจำเลยจึงเป็นการ “ผลิต” ยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 (พืชกระท่อม) ตามนัยแห่ง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 26, 57, 75, 76, 91, 92, 100/1, 102 พระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510 มาตรา 4, 12, 101, 126 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 83, 91 ริบของกลางที่เจ้าพนักงานเก็บรักษาไว้
จำเลยให้การรับสารภาพข้อหาเสพยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 โดยไม่ได้รับอนุญาต และข้อหาเสพยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 โดยไม่ได้รับอนุญาต ปฏิเสธข้อหาอื่น
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 26 วรรคหนึ่ง, 57, 75 วรรคสอง, 91, 92 วรรคสอง (ที่ถูก 92 วรรคหนึ่ง) พระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510 มาตรา 12, 101 วรรคหนึ่ง ให้รอการกำหนดโทษจำเลยไว้ 2 ปี โดยให้ควบคุมตัวจำเลยไว้ในสถานพินิจ 4 เดือน เพื่อบำบัดอาการติดยาเสพติดและเรียนหนังสือหรือฝึกอาชีพระยะสั้น หลังจากนั้นคุมความประพฤติจำเลยไว้ 1 ปี โดยให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติทุก 3 เดือน ภายในกำหนด 1 ปี และให้พนักงานคุมประพฤติมีอำนาจสุ่มตรวจปัสสาวะของจำเลยเพื่อหาสารเสพติด ห้ามจำเลยคบหาสมาคมกับบุคคลที่มีความประพฤติไม่ดี และยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 และพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 144 ริบของกลางที่เจ้าพนักงานเก็บรักษาไว้ ข้อหาอื่นให้ยก
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษาแก้เป็นว่า ไม่ปรับบทความผิดตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510 มาตรา 12, 101 วรรคหนึ่ง ยกฟ้องโจทก์ข้อหาความผิดฐานร่วมกันผลิตยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 (พืชกระท่อม) โดยฝ่าฝืนต่อกฎหมายเสียด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า ในชั้นนี้มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์เพียงประเด็นเดียวว่าจำเลยมีความผิดฐานร่วมกันผลิตยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 (พืชกระท่อม) โดยไม่ได้รับอนุญาต หรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่าในความผิดฐานร่วมกันผลิตยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 (พืชกระท่อม) โดยไม่ได้รับอนุญาต อันเป็นความผิดต่อพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 กฎหมายมิได้บังคับว่าพนักงานสอบสวนต้องจัดให้มีนักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์และพนักงานอัยการเข้าร่วมในการสอบปากคำผู้ต้องหาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 134/2 ประกอบมาตรา 133 ทวิ แต่อย่างใด ประกอบกับผู้ต้องหาซึ่งเป็นเด็กไม่ได้ร้องขอให้บุคคลดังกล่าวเข้าร่วมในการสอบปากคำ ข้อเท็จจริงประกอบคำรับสารภาพของจำเลยที่ให้ไว้ต่อพนักงานสอบสวน จึงชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 134/2 ประกอบมาตรา 133 ทวิ และเป็นพยานหลักฐานในการพิสูจน์ความผิดของจำเลยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 226 แล้ว ศาลชั้นต้นจึงสามารถนำคำรับสารภาพในชั้นสอบสวนของจำเลยดังกล่าวมาฟังประกอบพยานหลักฐานอื่นของโจทก์เพื่อลงโทษจำเลยได้ เห็นว่า ตามมาตรา 133 ทวิ ซึ่งตามมาตรา 134/2 ให้นำบทบัญญัติในมาตรา 133 ทวิ มาใช้บังคับโดยอนุโลมแก่การสอบสวนผู้ต้องหาที่เป็นเด็กอายุไม่เกินสิบแปดปี นั้น การสอบสวนผู้ต้องหาที่เป็นเด็กอายุไม่เกินสิบแปดปีซึ่งหากผู้ต้องหาร้องขอ ให้พนักงานสอบสวนแยกกระทำเป็นส่วนสัดในสถานที่ที่เหมาะสมสำหรับเด็กและให้มีนักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์ บุคคลที่เด็กร้องขอ และพนักงานอัยการร่วมอยู่ด้วยในการสอบสวนนั้นและในกรณีที่นักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์เห็นว่าการถามเด็กหรือคำถามใด อาจจะมีผลกระทบกระเทือนต่อจิตใจเด็กอย่างรุนแรง ให้พนักงานสอบสวนถามผ่านนักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์เป็นการเฉพาะตามประเด็นคำถามของพนักงานสอบสวน โดยมิให้เด็กได้ยินคำถามของพนักงานสอบสวนและห้ามมิให้ถามเด็กซ้ำซ้อนหลายครั้งโดยไม่มีเหตุอันสมควรเป็นกรณีเฉพาะบางฐานความผิดเท่านั้นได้แก่ความผิดเกี่ยวกับเพศ ความผิดเกี่ยวกับชีวิตและร่างกายอันมิใช่ความผิดที่เกิดจากการชุลมุนต่อสู้ ความผิดเกี่ยวกับเสรีภาพ ความผิดฐานกรรโชก ชิงทรัพย์และปล้นทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยมาตรการในการป้องกันและปราบปรามการค้าหญิงและเด็ก ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยสถานบริการ หรือความผิดอื่นที่มีอัตราโทษจำคุกซึ่งผู้ต้องหาที่เป็นเด็กอายุไม่เกินสิบแปดปีร้องขอตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 133 ทวิ นั้น มิได้หมายความถึงความผิดต่อพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ซึ่งเป็นกรณีความผิดอื่น ทั้งผู้ต้องหาซึ่งเป็นเด็กไม่ได้ร้องขอให้บุคคลดังกล่าวเข้าร่วมในการสอบสวนพนักงานสอบสวนจึงไม่จำต้องจัดให้มีนักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์และพนักงานอัยการเข้าร่วมในการสอบสวนผู้ต้องหาด้วย ข้อเท็จจริงประกอบคำรับสารภาพของจำเลยที่ให้ไว้ต่อพนักงานสอบสวน จึงชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 134/2 ประกอบมาตรา 133 ทวิ ประกอบพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6 และเป็นพยานหลักฐานในการพิสูจน์ความผิดของจำเลยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 226 แล้ว ซึ่งพยานหลักฐานของโจทก์ได้ความว่า จำเลยเบิกความว่าไปที่ขนำที่เกิดเหตุพบน้ำต้มพืชกระท่อมที่ยังเหลืออยู่ในหม้อซึ่งนายธีรยุทธกับพวกนั่งดื่มอยู่ จึงไปขอดื่มแล้วผสมกับโค้กและยาแก้ไอดื่มกิน โดยมีการกรองน้ำที่ได้จากการต้ม บรรจุขวด 2 ขวด ปริมาตร 2.6 ลิตร หนัก 2.6 กิโลกรัม บรรจุถุงพลาสติก 1 ถุง ปริมาตร 70 มิลลิลิตร หนัก 70 กรัม น้ำต้มพืชกระท่อมพร้อมเศษใบพืชกระท่อมในหม้อต้มปริมาตร 300 มิลลิลิตร หนัก 300 กรัม อันเป็นส่วนหนึ่งของของกลางในคดีนี้ แต่จำเลยให้การไว้ในชั้นสอบสวนหลังเกิดเหตุ 1 วัน โดยรับว่าขณะถูกจับกุมตนกำลังต้มน้ำพืชกระท่อมเพื่อดื่มกิน ดังนั้นไม่ว่าจำเลยต้มเองหรือน้ำต้มใบพืชกระท่อมนั้นนายธีรยุทธต้มไว้อยู่แล้ว และจำเลยมากรองเพื่อดื่มกินอย่างเดียวการกระทำของจำเลยก็มีลักษณะเป็นตัวการร่วมกันในการต้มใบพืชกระท่อมนั้น เมื่อปรากฏปริมาณที่ต้มถึง 2.6 ลิตร ทั้งยังมีอุปกรณ์เป็นหม้อ และใบพืชกระท่อมที่ยังไม่ต้มจำนวนมากประกอบกับมีคนจำนวนหลายคนมามั่วสุมรวมตัวกันและวิ่งหลบหนีไปได้ และมีการผสมยาแก้ไอและน้ำอัดลมลงไปในน้ำต้มใบพืชกระท่อมทำให้มีความรุนแรงขึ้น กระทบต่อคนในสังคมจำนวนมากหากได้ดื่มกิน การกระทำของจำเลยจึงเป็นการ “ผลิต” ยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 (พืชกระท่อม) ตามนัยแห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 แล้ว ตามที่ศาลชั้นต้นพิพากษามา ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
อนึ่ง ที่ศาลทั้งสองกำหนดให้ส่งตัวจำเลยไปควบคุมที่สถานพินิจเป็นเวลา 4 เดือน เพื่อบำบัดอาการติดยาเสพติดและให้จำเลยเรียนหนังสือหรือฝึกวิชาชีพในระยะสั้น จากนั้นให้คุมประพฤติจำเลยไว้ 1 ปี โดยให้จำเลยรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติทุก 3 เดือน ให้พนักงานคุมประพฤติมีอำนาจซุ่มตรวจปัสสาวะเพื่อหาสารเสพติด ห้ามจำเลยคบหาสมาคมกับบุคคลที่มีความประพฤติไม่ดีและยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า ยังไม่เป็นการเหมาะสม เห็นควรแก้ไขเงื่อนไขเพื่อคุมความประพฤติเสียใหม่ให้เหมาะสม โดยอาศัยอำนาจตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 วรรคสาม (10) กำหนดให้นักจิตวิทยาประจำศาลชั้นต้นประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดทำแผนแก้ไขบำบัดฟื้นฟูตามสภาพปัญหาเพื่อป้องกันมิให้จำเลยกระทำความผิดขึ้นอีก
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดฐานร่วมกันผลิตยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ด้วย และกำหนดเงื่อนไขเพื่อคุมความประพฤติของจำเลยเสียใหม่ โดยให้นักจิตวิทยาประจำศาลชั้นต้นประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันประเมินสภาพปัญหา และจัดทำแผนแก้ไขบำบัดฟื้นฟูให้ตรงกับสภาพปัญหาของจำเลยและครอบครัวให้ปฏิบัติภายในกำหนดระยะเวลารอการกำหนดโทษ และเสนอต่อศาลชั้นต้นพิจารณาให้ความเห็นชอบ เมื่อมีการปฏิบัติตามแผนแก้ไขบำบัดฟื้นฟูที่ได้รับความเห็นชอบแล้ว ให้นักจิตวิทยารายงานผลการปฏิบัติตามแผนให้ศาลชั้นต้นทราบตามระยะเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนด หากจำเลยหรือบิดามารดาไม่ปฏิบัติตามแผนแก้ไขบำบัดฟื้นฟู ให้ศาลชั้นต้นเปลี่ยนแปลงคำพิพากษา ตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัว และวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 137 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9

Share