แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
บทบัญญัติมาตรา 1535 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ว่าบุตรจำต้องอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดานั้น เป็นบทบัญญัติที่กำหนดหน้าที่ของบุตรไว้ มิใช่เป็นเพียงหน้าที่ในทางศีลธรรมที่บุตรจะปฏิบัติหรือไม่ก็ได้ ฉะนั้น เมื่อบุตรถูกทำละเมิดถึงแก่ความตายบิดามารดาย่อมขาดไร้อุปการะตามกฎหมาย จึงมีอำนาจฟ้องผู้ทำละเมิดเรียกค่าขาดไร้อุปการะได้ตามมาตรา 443
กรณีที่ลูกจ้างถูกผู้อื่นทำละเมิดและนายจ้างได้จ่ายเงินค่าทดแทนให้แก่ลูกจ้างอันเป็นการปฏิบัติตามกฎหมายเกี่ยวด้วยการจ้างแรงงานอีกส่วนหนึ่งต่างหากนั้น กฎหมายมิได้บัญญัติให้มีผลเกี่ยวข้องถึงความรับผิดของบุคคลในการละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ผู้ทำละเมิดและนายจ้างของผู้ทำละเมิดจึงยังคงต้องร่วมรับผิดในผลแห่งละเมิดนั้น
จำนวนเงินค่าเสียหายในอนาคตที่ศาลกำหนดให้ โจทก์มิได้ขอคิดดอกเบี้ยไว้ การที่ศาลชั้นต้นกำหนดดอกเบี้ยให้ในเงินจำนวนนี้ ย่อมขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 142 แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดโต้แย้งขึ้นมา ศาลอุทธรณ์ก็มีอำนาจที่จะแก้ไขให้ถูกต้องได้
กรณีที่เกี่ยวด้วยการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ ซึ่งจำเลยบางคนฎีกาเมื่อศาลฎีกาเห็นสมควรกำหนดค่าสินไหมทดแทนให้จำเลยรับผิดน้อยลง ศาลฎีกาก็มีอำนาจพิพากษาให้มีผลถึงจำเลยที่มิได้ฎีกาได้ด้วย
ย่อยาว
คดีสามสำนวนนี้ศาลพิจารณาพิพากษารวมกัน
โจทก์ทั้งสามสำนวนฟ้องว่า จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของรถยนต์โดยสารได้นำรถเข้าร่วมกิจการกับจำเลยที่ 3 หาผลประโยชน์ร่วมกัน และร่วมกันเป็นนายจ้างจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ได้ขับรถดังกล่าวในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2, 3 โดยประมาท พุ่งเข้าชนรถยนต์เก๋งที่พันจ่าอากาศโทอนันต์ ต้องประสงค์ โจทก์สำนวนที่ 3 เป็นผู้ขับสวนทางมาจนเสียหายยับเยินเป็นเหตุให้นายกฤติราช อมาตยกุล บุตรโจทก์สำนวนที่ 1 และนายสุมิตร์ รู้จันทราลักษณ์ บิดาและสามีโจทก์สำนวนที่ 2 ซึ่งนั่งมาในรถยนต์เก๋งถึงแก่ความตาย พันจ่าอากาศโทอนันต์ได้รับบาดเจ็บพิการตลอดชีวิต ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าเสียหาย
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2, 3 ต่อสู้ปฏิเสธความรับผิด
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้โจทก์ในสำนวนที่ 1 เป็นเงิน 50,000 บาท ให้โจทก์ทั้งสี่คนในสำนวนที่ 2 รวมกันเป็นเงิน 100,000 บาท ในสำนวนที่ 3 ให้โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 100,000 บาท ให้โจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 30,000 บาทพร้อมดอกเบี้ย
โจทก์ที่ 1 ในสำนวนที่ 3 และจำเลยที่ 2, 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ค่าสินไหมทดแทนสำหรับโจทก์ที่ 1ในสำนวนที่ 3 กำหนดให้สูงขึ้นเป็นเงินทั้งหมด 344, 417 บาท และที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระดอกเบี้ยสำหรับค่าขาดไร้อุปการะทั้งหมดนั้นเกินคำขอ เพราะในส่วนที่เป็นค่าขาดไร้อุปการะในอนาคต โจทก์ไม่ได้ขอให้จำเลยชำระดอกเบี้ยด้วย จำเลยไม่ต้องชำระดอกเบี้ยในเงินดังกล่าว นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 2 และที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า เหตุที่รถชนกันเป็นเพราะความประมาทของจำเลยที่ 1 โดยตรงแต่ผู้เดียว
ในประเด็นเรื่องค่าเสียหาย ข้อที่จำเลยอ้างว่าโจทก์ในสำนวนที่ 1 ซึ่งเป็นมารดาของนายกฤติราชผู้ตายไม่มีสิทธิได้รับค่าอุปการะเลี้ยงดูตามกฎหมายนั้น ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1535 บัญญัติว่า “บุตรจำต้องอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดา” เป็นบทบัญญัติที่กำหนดหน้าที่ของบุตรไว้ มิใช่เป็นเพียงหน้าที่ในทางศีลธรรมที่บุตรจะปฏิบัติหรือไม่ก็ได้ ดังที่จำเลยฎีกา ฉะนั้น เมื่อบุตรถึงแก่ความตาย บิดามารดาย่อมขาดไร้อุปการะตามกฎหมาย โจทก์ในสำนวนที่ 1 จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยเรียกค่าขาดไร้อุปการะตามมาตรา 443
สำหรับในข้อที่จำเลยฎีกาว่า บริษัทอิสต์เอเซียติ๊ก จำกัด นายจ้างได้ดำเนินการจ่ายเงินค่าทดแทนให้แก่โจทก์ผู้ได้รับความเสียหายไปแล้ว โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องจากจำเลยอีกนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า การที่นายจ้างจ่ายเงินค่าทดแทนให้แก่ลูกจ้างนั้นเป็นการปฏิบัติตามกฎหมายเกี่ยวด้วยการจ้างแรงงานอีกส่วนหนึ่งต่างหากซึ่งมิได้บัญญัติให้มีผลเกี่ยวข้องถึงความรับผิดของบุคคลในการละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ จำเลยจึงคงต้องร่วมรับผิดในผลแห่งละเมิดนั้น
ส่วนจำนวนเงินค่าสินไหมทดแทน ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยศาลอุทธรณ์นอกจากค่าเสียความสามารถประกอบการงานของโจทก์ที่ 1 ในสำนวนที่ 3ศาลฎีกาเห็นสมควรกำหนดให้เป็นจำนวน 150,000 บาท
ที่จำเลยฎีกาว่าศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ไขคำพิพากษาศาลชั้นต้นในเรื่องกำหนดดอกเบี้ยให้จำเลยต้องชำระน้อยลง เป็นการไม่ชอบเพราะมิได้มีคู่ความฝ่ายใดโต้แย้งขึ้นมานั้น ศาลฎีกาเห็นว่าจำนวนเงินค่าเสียหายในอนาคตที่ศาลกำหนดให้ เป็นเงินอีกจำนวนหนึ่งต่างหากที่โจทก์มิได้ขอคิดดอกเบี้ยไว้ การกำหนดดอกเบี้ยให้เช่นนี้ย่อมขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 ศาลอุทธรณ์มีอำนาจที่จะแก้ไขให้ถูกต้องได้
อนึ่ง คดีนี้เป็นกรณีเกี่ยวด้วยการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้เมื่อศาลฎีกากำหนดค่าสินไหมทดแทนให้จำเลยรับผิดน้อยลง แม้จำเลยที่ 1มิได้ฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจพิพากษาให้มีผลถึงจำเลยที่ 1 ได้ด้วย
พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันรับผิดชำระค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ที่ 1 ในสำนวนที่ 3 เป็นเงินรวมทั้งสิ้น 225,617 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์