คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2431/2532

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

การที่ศาลจะมีอำนาจสั่งให้บุคคลใดออกไปจากที่ดินของรัฐนั้นต้องเป็นกรณีที่ศาลพิพากษาว่าบุคคลดังกล่าวได้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 9,108 ทวิ แล้ว เมื่อที่พิพาทยังไม่อาจฟังได้แน่ชัดว่าเป็นที่สาธารณประโยชน์ และจำเลยยึดถือครอบครองอยู่โดยเชื่อว่าตนมีสิทธิครอบครองต่อจากบิดา จึงไม่เป็นความผิดตามบทบัญญัติดังกล่าว ศาลไม่อาจสั่งให้จำเลยและบริวารออกไปจากที่พิพาทได้ การที่จำเลยไม่ยอมออกจากที่พิพาทตามคำสั่งของนายอำเภอ เพราะเชื่อว่าจำเลยมีสิทธิครอบครองซึ่งเป็นข้อเท็จจริงอันเดียวเกี่ยวพันกันกับที่วินิจฉัยมาแล้วว่า การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดฐานบุกรุก จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานขัดคำสั่งเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 368 แม้ปัญหานี้ยุติแล้วในศาลอุทธรณ์ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 ประกอบมาตรา 215และ 225

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกับพวกบุกรุกเข้าไปยึดถือครอบครองเพาะปลูกปอและปลูกสร้างบ้านเรือน 1 หลัง ลงในที่ดินสาธารณประโยชน์ที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกันเป็นเนื้อที่จำนวน 15 ไร่ ที่บ้านห้วยบง หมู่ที่ 7 ตำบลหนองไผ่ อำเภอชุมแพ จังหวัดขอนแก่น โดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ต่อมาว่าที่ร้อยตรีทรงศักดิ์ คุณอุดม นายอำเภอชุมแพ ได้ออกคำสั่งให้จำเลยกับพวกออกจากบริเวณที่ดินดังกล่าวและได้แจ้งคำสั่งให้จำเลยกับพวกทราบแล้ว จำเลยกับพวกขัดคำสั่งโดยไม่ยอมออกจากบริเวณที่ดินดังกล่าวโดยไม่มีเหตุหรือข้อแก้ตัวอันสมควร ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 9, 108 ทวิ ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 96 ลงวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2515 ข้อ 11 ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 362, 363, 365, 368, 83 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2526 มาตรา 4 และให้จำเลยกับบริวารออกจากที่ดินสาธารณะดังกล่าว จำเลยให้การปฏิเสธ ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 9, 108 ทวิประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 365 เป็นกรรมเดียวแต่ผิดกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 365 ซึ่งเป็นบทหนักตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 3 เดือน ปรับ 1,000 บาท และผิดฐานขัดคำสั่งเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 368 อีกกรรมหนึ่ง ปรับ 500 บาท รวมจำคุก 3 เดือน ปรับ 1,500 บาท ไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยกระทำความผิดมาก่อน โทษจำคุกให้รอ 1 ปีไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ให้จำเลยและบริวารออกจากที่ดินสาธารณะตามฟ้อง จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดฐานขัดคำสั่งเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 368 วรรคแรก เพียงกระทงเดียว ข้อหาอื่นและที่ให้จำเลยกับบริวารออกจากที่พิพาทนั้นให้ยก นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ข้อแรกว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานบุกรุกตามฟ้องหรือไม่ ได้ความจากนายบุญ ลาดี ผู้ใหญ่บ้านคนปัจจุบันและนายสวัสดิ์ พรมแพนซึ่งเคยเป็นผู้ใหญ่บ้านห้วยบงว่า จำเลยเข้าไปล้อมรั้วปลูกบ้านในที่พิพาท ภายหลังจากนายยิ่งศักดิ์ แซ่โค้ว บิดาจำเลยซื้อที่พิพาทมาจากนายเหลี่ยม จันทร์พิมพ์ และเมื่อนายอำเภอชุมแพมีหนังสือแจ้งให้จำเลยออกจากที่พิพาท จำเลยก็ได้มีหนังสือตอบไปว่าขอให้ชะลอการดำเนินคดีเพื่อรอฟังผลการพิจารณาของกรรมาธิการปกครอง สภาผู้แทนราษฎรก่อนปรากฏตามเอกสารหมาย จ.4 ประกอบกับในคำแก้ฎีกาจำเลยก็ยอมรับว่าได้ครอบครองที่พิพาทต่อจากบิดา ดังนี้จึงรับฟังได้ว่าจำเลยเข้าครอบครองที่พิพาทจริง ปรากฏจากรายงานการสอบสวนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับที่ดินแปลงนี้ของคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงซึ่งทางจังหวัดขอนแก่นแต่งตั้งขึ้นตามเอกสารหมายปจ.1 ว่า มีการโต้แย้งสิทธิในที่พิพาทระหว่างราษฎร ผู้ครอบครองกับเจ้าหน้าที่ตลอดมาเป็นเวลาช้านานแล้ว แต่เดิมนายอ่อนสิงห์คำป้อง และนายปุ่น โนนพิง เป็นผู้เข้าครอบครองทำประโยชน์แล้วขายให้นายเหลี่ยมเมื่อ พ.ศ. 2517 ระหว่างการครอบครองของคนทั้งสามมีราษฎรร้องเรียนต่อเจ้าหน้าที่ว่า ที่พิพาทเป็นที่สาธารณประโยชน์ได้มีการสอบสวนข้อเท็จจริงหลายครั้ง ความเห็นของเจ้าหน้าที่ก็มีแตกต่างกันไป ในปี 2518 คณะกรรมการสอบสวนเห็นว่าที่พิพาทเป็นที่สาธารณประโยชน์ แต่ในปี 2521 คณะกรรมการสอบสวนอีกชุดหนึ่งเห็นว่าที่พิพาทไม่ใช่ที่สาธารณประโยชน์ จนนายยิ่งศักดิ์ไปขอออกโฉนดที่พิพาทอำเภอชุมแพได้ให้สภาตำบลหนองไผ่พิจารณาอีกครั้ง สภาตำบลหนองไผ่มีมติให้ยกที่พิพาทแก่นายยิ่งศักดิ์ เมื่อ พ.ศ. 2523 แต่ราษฎรจำนวนหนึ่งไม่พอใจได้ร้องคัดค้านการออกโฉนดที่พิพาทต่อผู้ว่าราชการจังหวัด เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2525 อำเภอชุมแพได้มีหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดรายงานความเห็นว่าที่พิพาทไม่ใช่ที่สาธารณประโยชน์ ต่อมาอำเภอชุมแพกลับมีหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดขอให้ระงับการออกโฉนดที่พิพาทไว้ก่อน เนื่องจากไม่แน่ใจว่าจะเป็นที่สาธารณประโยชน์หรือไม่ ผู้ว่าราชการจังหวัดจึงมีคำสั่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับที่ดินแปลงนี้เมื่อวันที่13 ธันวาคม 2526 คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงได้สอบสวนข้อเท็จจริงแล้วมีความเห็นว่า ที่พิพาทเป็นที่สาธารณประโยชน์ที่เกิดขึ้นโดยสภาพการใช้ประโยชน์ร่วมกันของประชาชนและจังหวัดขอนแก่นได้ให้นายอำเภอชุมแพดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ นายอำเภอชุมแพจึงมีคำสั่งให้จำเลยออกจากที่พิพาท เห็นว่า ขณะที่นายยิ่งศักดิ์บิดาจำเลยซื้อที่พิพาทจากนายเหลี่ยมเมื่อ พ.ศ. 2521 เจ้าหน้าที่มีความเห็นว่าที่พิพาทไม่ใช่ที่สาธารณประโยชน์ และปรากฏว่าที่ดินที่อยู่ติดกับที่พิพาททางทิศเหนือและทิศตะวันตกซึ่งนายเหลี่ยมได้ขายให้บุคคลอื่นไปในเวลาไล่เลี่ยกับที่ขายให้นายยิ่งศักดิ์นั้น ทางราชการก็ได้ออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ให้แล้ว ดังนั้นการที่จำเลยครอบครองที่พิพาท ต่อมาจากนายยิ่งศักดิ์บิดาภายหลังที่นายยิ่งศักดิ์ถึงแก่กรรม จึงเป็นเรื่องที่จำเลยครอบครองโดยเชื่อว่ามีสิทธิในที่พิพาท เมื่อยังไม่สามารถพิสูจน์ได้แน่ชัดว่าที่พิพาทเป็นที่สาธารณประโยชน์อันเป็นที่ดินของรัฐหรือไม่เช่นนี้จะฟังว่าจำเลยมีเจตนาบุกรุกที่ดินของรัฐไม่ได้ การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดฐานบุกรุกตามฟ้อง ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
โจทก์ฎีกาอีกข้อหนึ่งว่า ศาลอุทธรณ์ฟังว่าที่พิพาทเป็นที่สาธารณประโยชน์แล้วก็ชอบที่จะสั่งให้จำเลยและบริวารออกไปจากที่พิพาทได้ แม้จะไม่พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดฐานบุกรุกก็ตาม ในข้อนี้เห็นว่าประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 108 ทวิ วรรคสี่ บัญญัติไว้ว่า ในกรณีมีคำพิพากษาว่าผู้ใดกระทำความผิดตามมาตรานี้ ศาลมีอำนาจสั่งในคำพิพากษาให้ผู้กระทำผิด คนงาน ผู้รับจ้าง ผู้แทนและบริวารของผู้กระทำความผิดออกไปจากที่ดินนั้นด้วย ตามบทบัญญัติดังกล่าวนี้เห็นได้ว่าศาลมีอำนาจสั่งให้จำเลยออกไปจากที่พิพาทได้ กรณีต้องเป็นเรื่องที่ศาลพิพากษาว่าจำเลยได้กระทำความผิดแต่คดีนี้ศาลอุทธรณ์มิได้พิพากษาว่าจำเลยกระทำความผิด กรณีไม่ต้องตามบทกฎหมายดังกล่าว ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำขอของโจทก์ที่ขอให้สั่งจำเลยและบริวารออกจากที่พิพาทเสียนั้นจึงชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
อนึ่ง ในข้อหาความผิดฐานขัดคำสั่งเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 368 ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยมานั้น ศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยครอบครองที่พิพาทโดยเชื่อว่ามีสิทธิครอบครองต่อมาจากบิดา ทั้งยังไม่อาจพิสูจน์ได้แน่ชัดว่าที่พิพาทเป็นที่สาธารณประโยชน์ จำเลยไม่มีเจตนาบุกรุก การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิด ฉะนั้น การที่จำเลยไม่ยอมออกจากที่พิพาทตามคำสั่งของนายอำเภอ จึงเนื่องมาจากจำเลยเชื่อว่าจำเลยมีสิทธิครอบครองในที่พิพาทซึ่งเป็นข้อเท็จจริงอันเดียวเกี่ยวพันกันดังได้วินิจฉัยมาแล้ว ดังนี้ การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานขัดคำสั่งเจ้าพนักงานเช่นเดียวกัน แม้ปัญหานี้ยุติแล้วในศาลอุทธรณ์ แต่ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 ประกอบมาตรา 215 และ 225”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 368 เสียด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share