คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3348-3350/2532

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์กับจำเลยได้กำหนดวันที่เริ่มมีผลใช้บังคับและวันที่สิ้นสุดไว้แน่นอนแล้ว แม้จะกำหนดเงื่อนไขไว้ว่า หากโจทก์ผิดสัญญาไม่ว่าจะเป็นข้อหนึ่งข้อใดก็ดี โจทก์ยินยอมให้จำเลยเลิกจ้างหรือไล่ออกได้ทันทีก่อนที่จะครบกำหนดเลิกจ้างตามสัญญาและโจทก์ไม่ขอเรียกร้องสิทธิและผลประโยชน์ตอบแทน หรือค่าเสียหายหรือค่าชดเชยจากจำเลยแต่อย่างใดทั้งสิ้นก็มีความหมายเพียงว่า ถ้าโจทก์ทำผิดสัญญาไม่ว่าข้อหนึ่งข้อใดโจทก์ยอมให้จำเลยเลิกจ้างหรือไล่โจทก์ออกจากงานได้ทันทีก่อนที่จะครบกำหนดเลิกจ้างตามสัญญาได้เท่านั้น มิใช่ข้อกำหนดหรือเงื่อนไขที่ทำให้ระยะเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญาเปลี่ยนแปลงไปแต่อย่างใด สัญญาดังกล่าวจึงเป็นสัญญาจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอนตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องการคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46 วรรคท้าย

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสามสำนวนฟ้องว่า โจทก์ทั้งสามเป็นลูกจ้างที่ไม่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอนของจำเลย จำเลยได้เลิกจ้างโจทก์โดยไม่มีเหตุอันสมควรเป็นการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม ขอให้จำเลยจ่ายเงินตามฟ้องให้แก่โจทก์
จำเลยทั้งสามสำนวนให้การว่า สัญญาจ้างระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นสัญญาจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอนและจำเลยได้เลิกจ้างโจทก์ตามกำหนดระยะเวลานั้น จึงชอบด้วยกฎหมายแล้วขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งสามสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า สัญญาจ้าระหว่างโจทก์ทั้งสามกับจำเลยได้กำหนดไว้ว่า “หากข้าพเจ้าผิดสัญญาไม่ว่าจะเป็นข้อหนึ่งข้อใดก็ดี ข้าพเจ้ายินยอมให้บริษัทเลิกจ้างหรือไล่ออกได้ทันที ก่อนที่จะครบกำหนดเลิกจ้างตามสัญญา และข้าพเจ้าไม่ขอเรียกร้องสิทธิและผลประโยชน์ตอบแทนหรือค่าเสียหายหรือค่าชดเชยจากบริษัทแต่อย่างใดทั้งสิ้น” ซึ่งตามข้อสัญญาดังกล่าวจำเลยมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์ทั้งสามได้ก่อนครบกำหนดระยะเวลาตามที่กำหนดไว้ในสัญญาได้ สัญญาจ้างดังกล่าวจึงมิใช่สัญญาจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างที่แน่นอนนั้น พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ข้อกำหนดในสัญญาดังกล่าวมีความหมายแต่เพียงว่า ถ้าหากโจทก์ทั้งสามทำผิดสัญญาไม่ว่าข้อหนึ่งข้อใด โจทก์ทั้งสามยอมให้จำเลยเลิกจ้างหรือไล่โจทก์ทั้งสามออกจากงานได้ทันทีก่อนที่จะครบกำหนดเลิกจ้างตามสัญญาได้เท่านั้น มิใช่ข้อกำหนดหรือเงื่อนไขที่ทำให้ระยะเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญาข้อ ๒ เปลี่ยนแปลงไปแต่อย่างใด สัญญาดังกล่าวจึงเป็นสัญญาจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอนตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ข้อ ๔๖ วรรคท้าย
พิพากษายืน.

Share