แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เมื่อไม่ปรากฏเลขคดีแดงของสำนวนที่ศาลลงโทษ ก็ไม่อาจจะสั่งนับโทษต่อได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยสมคบกับพวกอีก 3 คน มีมีด ไม้ ปืน แทงยิงนายทองผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานในขณะทำการตามหน้าที่เพื่อความสะดวกในการปล้น แต่การฆ่าไม่บรรลุผล นายทองเพียงได้รับบาดเจ็บและปล้นเอาปืนลูกซอง 1 กระบอก ราคา 1,800 บาทของนายสีซึ่งอยู่ในความครอบครองของนายทองไป ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289, 80, 340 กับขอให้ริบมีดของกลางและนับโทษต่อจากคดีดำที่ 712-713/2501 และที่ 827/2501
จำเลยให้การรับว่า เป็นคน ๆ เดียวกับจำเลยคดีดำที่ 712-713/2501 และที่ 827/2501 ส่วนข้อหาว่ากระทำผิด จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นเห็นว่าพยานโจทก์ยังน่าสงสัย พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ว่า จำเลยผู้เดียวผิดฐานชิงทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 ให้จำคุก 3 ปี ส่วนข้อที่ขอให้นับโทษต่อ ไม่ปรากฏว่าจะต่อจากสำนวนคดีใด จึงนับให้ไม่ได้ โจทก์ฎีกาว่า จำเลยผิดฐานปล้นทรัพย์ แล้วขอให้สั่งนับโทษจำเลยต่อจากโทษในคดีแดงที่ 1153-1154/2501 ซึ่งจำคุก 1 ปี 6 เดือน
จำเลยฎีกาขอให้ยกฟ้อง
ศาลฎีกาฟังว่า จำเลยกับพวกมีอาวุธทำการปล้นทรัพย์ของเจ้าทรัพย์รายนี้จริง
ส่วนที่โจทก์ขอให้นับโทษจำเลยต่อจากโทษในคดีแดงที่ 1153-1154/2501 นั้น ศาลฎีกาพิจารณาแล้วไม่ปรากฏว่า เป็นคดีที่จำเลยแถลงรับไว้ในคำให้การหรือที่ศาลสอบถามบันทึกไว้เมื่อจำเลยอ้างตนเองเบิกความเป็นพยาน กล่าวคือ จำเลยรับว่า เป็นคน ๆ เดียวกับจำเลยคดีดำที่ 712-713/2501, 827/2501 ศาลพิพากษาแล้วทั้งสามสำนวน โดยสองสำนวนแรกยกฟ้อง ส่วนสำนวนหลังถูกจำคุก 1 ปี 6 เดือน ดังนี้น่าจะเข้าใจว่าสำนวนหลังที่ลงโทษ คือ คดีดำที่ 827/2501 แต่เหตุไฉนจึงออกเลขแดงได้เป็น 2 สำนวน ดังโจทก์เสนอมาในฎีกาของโจทก์แม้เมื่อศาลชั้นต้นสอบจำเลยครั้งหลัง ศาลก็ได้พิพากษาคดีเรื่องก่อนเป็นคดีแดงแล้ว แต่เมื่อไม่ปรากฏเลขคดีแดงของสำนวนที่ศาลลงโทษจึงยังไม่อาจจะสั่งนับโทษต่อตามฎีกาโจทก์ได้
ศาลฎีกาพิพากษาแก้ศาลอุทธรณ์ว่า จำเลยผิดฐานปล้นทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 วรรค 2 ให้จำคุก 10 ปี นอกจากที่แก้นี้คงพิพากษายืน