คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3628/2553

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

คดีสำหรับจำเลยที่ 1 ในข้อหาร่วมกันพยายามฆ่าผู้เสียหายเป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 สำหรับข้อหาพาอาวุธไปโดยไม่มีเหตุสมควรตาม ป.อ.มาตรา 371 นั้น อัตราโทษอย่างสูงที่กฎหมายกำหนดไว้ให้ปรับไม่เกินหนึ่งร้อยบาท ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ในข้อหานี้ โจทก์จึงต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ป.วิ.อ. มาตรา 193 ทวิ การที่ศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 193 ทวิ การที่ศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์ทั้งหมดของโจทก์รวมถึงข้อหานี้ด้วย โดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาในศาลชั้นต้นหรืออัยการสูงสุดลงลายมือชื่อรับรองในอุทธรณ์ว่ามีเหตุอันควรที่ศาลอุทธรณ์จะได้วินิจฉัย ดังนั้น การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 รับวินิจฉัยความผิดในข้อหาดังกล่าวและพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสองจึงไม่ชอบ ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยเองได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80, 83, 91, 288, 298, 371
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297 จำคุก 4 ปี คำขออื่นให้ยก
โจทก์และจำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบมาตรา 80, 83, 371 ฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่น จำคุกจำเลยทั้งสองคนละ 10 ปี ฐานพาอาวุธไปโดยไม่มีเหตุสมควร ปรับ 100 บาท (ที่ถูก ปรับคนละ 100 บาท) รวมจำคุกจำเลยทั้งสองคนละ 10 ปี และปรับคนละ 100 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า เมื่อวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง จำเลยที่ 1 กับพวกร่วมกันใช้มีดฟันและแทงพยายามฆ่านายสวัสดิ์ ผู้เสียหาย มีบาดแผลตามรายงานผลการตรวจชันสูตรบาดแผลของแพทย์ท้ายฟ้อง ต่อมาเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยทั้งสอง คดีสำหรับจำเลยที่ 1 ในข้อหาร่วมกันพยายามฆ่าผู้เสียหายเป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 สำหรับข้อหาพาอาวุธไปโดยไม่มีเหตุสมควรตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 นั้น อัตราโทษอย่างสูงที่กฎหมายกำหนดไว้ให้ปรับไม่เกินหนึ่งร้อยบาท ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ในข้อหานี้ โจทก์จึงต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 193 ทวิ การที่ศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์ทั้งหมดของโจทก์รวมถึงข้อหานี้ด้วย โดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาในศาลชั้นต้นหรืออัยการสูงสุดลงลายมือชื่อรับรองในอุทธรณ์ว่ามีเหตุอันสมควรที่ศาลอุทธรณ์จะได้วินิจฉัย ดังนั้น การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 รับวินิจฉัยความผิดในข้อหาดังกล่าวและพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสองจึงไม่ชอบ ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยเองได้ จึงให้ยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ในส่วนนี้เสีย คงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 เพียงว่า จำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 และพวกพยายามฆ่าผู้เสียหายตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 หรือไม่ โจทก์มีผู้เสียหายและนายสกล เป็นประจักษ์พยาน โดยผู้เสียหายเบิกความว่า ก่อนเกิดเหตุขณะที่ผู้เสียหายกำลังจะเดินเข้าไปในร้านมัยคาราโอเกะเพื่อไปรับคนรักที่เป็นพนักงานเสิร์ฟโดยผู้เสียหายเดินตามหลังนายสกล มีชายคนหนึ่งขับรถจักรยานยนต์ผ่านหน้าร้านดังกล่าวโดยมีจำเลยที่ 2 นั่งซ้อนท้ายแล้วจำเลยที่ 2 ชี้ไปทางผู้เสียหาย หลังจากนั้นผู้เสียหายได้ยินเสียงตะโกนร้องว่า “เฮ้ย” จึงหันไปดูก็ถูกจำเลยที่ 1 และนายธนากรร่วมกันทำร้ายจนกระทั่งนายสกลใช้แป๊บที่ตกอยู่บริเวณที่เกิดเหตุตีนายธนากร นายธนากรจึงปล่อยตัวผู้เสียหาย ซึ่งนายสกลเบิกความยืนยันในทำนองเดียวกันว่าก่อนเกิดเหตุจำเลยที่ 2 ชี้ไปทางพยานกับพวกแล้วผู้เสียหายก็ถูกจำเลยที่ 1 และนายธนากรร่วมกันทำร้าย นอกจากนี้ยังได้ความจากนายสกลอีกว่า หลังจากนายธนากรปล่อยตัวผู้เสียหายแล้ว จำเลยที่ 2 ชี้ไปทางนายสกลและพูดกับจำเลยที่ 1 แต่จะพูดเรื่องอะไรนายสกลได้ยินไม่ถนัด จากนั้นจำเลยที่ 1 วิ่งถือแป๊บไปทางนายสกล โดยมีจำเลยที่ 2 ยืนในลักษณะคุมเชิงอยู่ห่างประมาณ 2 เมตร นายสกลก็ถือแป๊บเช่นเดียวกัน จำเลยที่ 1 จึงถอยกลับไป ทั้งได้ความจากคำเบิกความของจ่าสิบตำรวจจิระศักดิ์ พยานโจทก์ผู้จับกุมว่าพยานจับกุมจำเลยทั้งสองได้พร้อมกันที่ร้าน ก. การช่าง ซึ่งแสดงว่าหลังเกิดเหตุจำเลยทั้งสองต้องหลบหนีไปด้วยกัน แม้ผู้เสียหายและนายสกลต่างเบิกความว่า ขณะที่ฝ่ายผู้เสียหายกับนายสกลและพวกกับฝ่ายจำเลยทั้งสองกับพวกกลุ่มวัยรุ่นต่างนั่งรับประทานอาหารและดื่มสุราในร้านมัยคาราโอเกะไม่มีเหตุทะเลาะโต้เถียงกันก็ตาม แต่ก็ได้ความจากร้อยตำรวจเอกจตุรภัทร พนักงานสอบสวนว่าจากการสอบสวนเบื้องต้นได้ความว่ากลุ่มผู้เสียหายกับกลุ่มจำเลยทั้งสองเกิดมีการเขม่นกันเรื่องพนักงานเสิร์ฟผู้หญิงในร้านซึ่งจำเลยที่ 2 ก็เบิกความยอมรับว่ามีพนักงานเสิร์ฟผู้หญิงคนหนึ่งไปนั่งคุยกับจำเลยที่ 2 ที่โต๊ะจำเลยทั้งสองกับพวก ประมาณ 2 ถึง 3 นาที ประกอบกับศาลอุทธรณ์ภาค 2 ได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงดังกล่าวไว้ชอบด้วยเหตุผลแล้ว ดังนี้ตามเหตุพฤติการณ์ของจำเลยที่ 2 ดังกล่าว แสดงว่าจำเลยที่ 2 คบคิดกันเพื่อทำร้ายฝ่ายผู้เสียหาย จึงเป็นตัวการร่วมกับจำเลยที่ 1 กับพวกกระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น แต่ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 2 มีอายุกว่า 14 ปี แต่ไม่เกิน 17 ปี การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาลงโทษจำเลยที่ 2 โดยไม่ลดมาตราส่วนโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดลงแก่จำเลยที่ 2 กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 75 จึงไม่ถูกต้องสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลดมาตราส่วนโทษแก่จำเลยที่ 2 กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 75 คงจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 5 ปี และยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ที่วินิจฉัยเกี่ยวกับความผิดของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ฐานพาอาวุธไปโดยไม่มีเหตุสมควรตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2

Share