แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การกระทำความผิดของจำเลยทั้งสองฐานพยายามส่งของออกไปนอกราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงข้อจำกัดอันเกี่ยวกับของนั้นเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 และ พ.ร.บ.การส่งออกไปนอกและการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้า พ.ศ.2522 มาตรา 7 วรรคหนึ่ง, 20 วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทต้องลงโทษตามกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตาม ป.อ. มาตรา 90 เมื่อ พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 มีระวางโทษสำหรับความผิดครั้งหนึ่ง ๆ ให้ปรับเป็นเงินสี่เท่าราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วยแล้ว หรือจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือทั้งปรับทั้งจำ โดยความผิดฐานนี้ไม่ว่าจะเป็นพยายามกระทำความผิดหรือกระทำความผิดสำเร็จ กฎหมายกำหนดโทษไว้เท่ากัน และตาม พ.ร.บ.การส่งออกไปนอกและการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้า พ.ศ.2522 มาตรา 20 วรรคหนึ่ง มีระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับห้าเท่าของสินค้าที่ส่งออกหรือนำเข้า หรือทั้งจำทั้งปรับ โดยไม่ได้บัญญัติการพยายามกระทำความผิดต้องระวางโทษเช่นเดียวกับความผิดสำเร็จ จึงต้องระวางโทษสองในสามส่วนของโทษที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นตาม ป.อ. มาตรา 80 ศาลจึงลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสองตาม พ.ร.บ.การส่งออกไปนอกและการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้าฯ มาตรา 20 วรรคหนึ่ง ได้เพียง 6 ปี 8 เดือน โทษจำคุกตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 จึงเป็นโทษหนักกว่าความผิดฐานนี้ จึงต้องลงโทษตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตาม ป.อ. มาตรา 90
ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา ได้มี พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2560 มาตรา 3 ให้ยกเลิกพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 โดย พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2560 มาตรา 244 บัญญัติให้การกระทำความผิดของจำเลยทั้งสองตามฟ้องฐานพยายามส่งออกไปนอกราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงข้อจำกัดอันเกี่ยวกับของนั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แตกต่างกับโทษตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 ซึ่งบัญญัติให้ลงโทษสำหรับความผิดครั้งหนึ่ง ๆ ปรับเป็นเงินสี่เท่าราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วยแล้ว หรือจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือทั้งปรับทั้งจำ โดยความผิดฐานนี้ไม่ว่าจะเป็นพยายามกระทำความผิด หรือกระทำความผิดสำเร็จ พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2560 มาตรา 244 กำหนดโทษไว้เท่ากัน เมื่อโทษจำคุกตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 และ พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2560 มาตรา 244 มีระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี เท่ากัน แต่คดีนี้เมื่อคำนวณปรับเป็นเงินสี่เท่าราคาของซึ่งรวมค่าอากรเข้าด้วยแล้ว เป็นเงิน 5,410,932 บาท โทษปรับตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2560 มาตรา 244 ซึ่งปรับไม่เกิน 500,000 บาท จึงเป็นคุณแก่จำเลยทั้งสองมากกว่าโทษปรับตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิด การกำหนดโทษปรับจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2560 ดังกล่าว ต้องกำหนดให้จำเลยทั้งสองรับผิดค่าปรับในลักษณะรวมกันตามบทบัญญัติ มาตรา 27 แห่ง พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 อันเป็นการใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณบังคับแก่จำเลยทั้งสองไม่ว่าในทางใดตาม ป.อ. มาตรา 3 ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยแม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 80, 83, 91 พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 4, 7, 48, 69, 73, 74, 74 จัตวา พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 2, 27 พระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิด พ.ศ.2489 มาตรา 4, 5, 6, 7, 8, 9 พระราชบัญญัติการส่งออกไปนอกและการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้า พ.ศ.2522 มาตรา 5, 7, 20 ริบของกลาง จ่ายสินบนและเงินรางวัลแก่ผู้นำจับและเจ้าพนักงานตามกฎหมาย และนับโทษของจำเลยที่ 2 ต่อจากโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 2023/2553 ของศาลแขวงพระนครเหนือ
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ แต่จำเลยที่ 2 รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 48 วรรคหนึ่ง (ที่ถูก 48 วรรคหนึ่ง (เดิม)), 69 วรรคสอง (2) (ที่ถูก 69 วรรคสอง (2) (เดิม)), 73 วรรคสอง (2) (ที่ถูก 73 วรรคสอง (2) (เดิม)) พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 พระราชบัญญัติการส่งออกไปนอกและการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้า พ.ศ.2522 มาตรา 20 วรรคหนึ่ง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80, 83 การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันมีไม้หวงห้ามอันยังมิได้แปรรูป โดยไม่มีรอยตราค่าภาคหลวง หรือรอยตรารัฐบาลขายประทับไว้เกินยี่สิบท่อน และมีปริมาตรไม้เกินสี่ลูกบาศก์เมตร ไว้ในครอบครอง ปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 200,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 7 ปี ฐานร่วมกันมีไม้หวงห้ามแปรรูปปริมาตรไม้เกินสองลูกบาศก์เมตรไว้ในครอบครอง ปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 200,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 10 ปี ฐานร่วมกันพยายามส่งหรือพาของที่ยังมิได้เสียค่าภาษีหรือของต้องจำกัด หรือของต้องห้ามหรือที่ยังมิได้ผ่านศุลกากรโดยถูกต้องออกไปนอกราชอาณาจักรตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 (ที่ถูก ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80) กับฐานร่วมกันพยายามส่งออกซึ่งสินค้าต้องห้ามตามพระราชบัญญัติการส่งออกไปนอกและการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้า พ.ศ.2522 มาตรา 20 วรรคหนึ่ง ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80 เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติศุลกากรฯ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ปรับจำเลยทั้งสองคนละ 1,803,644 บาท รวมปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 2,203,644 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 17 ปี และปรับ 1,803,644 บาท หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าปรับ ให้ยึดทรัพย์สินใช้ค่าปรับตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 ส่วนจำเลยที่ 2 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 โดยให้กักขังแทนค่าปรับไม่เกิน 1 ปี ริบไม้ของกลาง ให้จ่ายสินบนแก่ผู้นำจับร้อยละสามสิบของราคาของกลาง และให้จ่ายรางวัลแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งจับกุมผู้กระทำผิดอีกร้อยละยี่สิบห้าของราคาของกลาง หากของกลางที่ศาลสั่งริบไม่อาจขายได้จึงให้จ่ายจากเงินค่าปรับที่ได้ชำระต่อศาลตามพระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิด พ.ศ.2489 มาตรา 7, 8 คำขออื่นให้ยก
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดีสิ่งแวดล้อมพิพากษาแก้เป็นว่า ความผิดฐานร่วมกันพยายามส่งหรือพาของที่ยังมิได้เสียค่าภาษี หรือของต้องจำกัด หรือของต้องห้าม หรือของที่ยังไม่ได้ผ่านศุลกากรโดยถูกต้องออกไปนอกราชอาณาจักร ให้ปรับจำเลยทั้งสองรวม 1,803,644 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา โดยอัยการสูงสุดรับรองให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาแผนกคดีสิ่งแวดล้อมวินิจฉัยว่า การกระทำความผิดของจำเลยทั้งสองฐานพยายามส่งของออกไปนอกราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงข้อจำกัดอันเกี่ยวกับของนั้น เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 และพระราชบัญญัติการส่งออกไปนอกและการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้า พ.ศ.2522 มาตรา 7 วรรคหนึ่ง, 20 วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทต้องลงโทษตามกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 เมื่อพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 มีระวางโทษสำหรับความผิดครั้งหนึ่ง ๆ ให้ปรับเป็นเงินสี่เท่าราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วยแล้ว หรือจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือทั้งปรับทั้งจำ โดยความผิดฐานนี้ไม่ว่าจะเป็นพยายามกระทำความผิดหรือกระทำความผิดสำเร็จ กฎหมายกำหนดโทษไว้เท่ากันและตามพระราชบัญญัติการส่งออกไปนอกและการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้าฯ มาตรา 20 วรรคหนึ่ง มีระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับห้าเท่าของสินค้าที่ส่งออกหรือนำเข้า หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่พระราชบัญญัติการส่งออกไปนอกและการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้าฯ มาตรา 20 วรรคหนึ่ง ไม่ได้บัญญัติการพยายามกระทำความผิดต้องระวางโทษเช่นเดียวกับความผิดสำเร็จ ความผิดตามกฎหมายนี้จึงต้องระวางโทษสองในสามส่วนของโทษที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80 เมื่อตามพระราชบัญญัติการส่งออกไปนอกและการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้าฯ มาตรา 20 วรรคหนึ่ง มีระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับห้าเท่าของสินค้าที่ส่งออกหรือนำเข้า หรือทั้งจำทั้งปรับ ศาลจึงลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติดังกล่าวได้เพียง 6 ปี 8 เดือน โทษจำคุกตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 จึงเป็นโทษหนักกว่า ความผิดฐานนี้จึงต้องลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 แต่อย่างไรก็ตาม ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา ได้มีพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2560 มาตรา 3 ให้ยกเลิกพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 โดยพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2560 มาตรา 244 บัญญัติให้การกระทำความผิดของจำเลยทั้งสองตามฟ้องฐานพยายามส่งออกไปนอกราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงข้อจำกัดอันเกี่ยวกับของนั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แตกต่างกับโทษตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 ซึ่งบัญญัติให้ลงโทษสำหรับความผิดครั้งหนึ่ง ๆ ปรับเป็นเงินสี่เท่าราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วยแล้ว หรือจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือทั้งปรับทั้งจำ โดยความผิดฐานนี้ไม่ว่าจะเป็นพยายามกระทำความผิดหรือกระทำความผิดสำเร็จพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2560 มาตรา 244 กำหนดโทษไว้เท่ากันเช่นเดียวกัน เมื่อโทษจำคุกตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 และพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2560 มาตรา 244 มีระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปีเท่ากัน แต่คดีนี้เมื่อคำนวณปรับสี่เท่าราคาของซึ่งรวมอากรเข้าด้วยแล้วเป็นเงิน 5,410,932 บาท โทษปรับตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2560 มาตรา 244 ซึ่งปรับไม่เกิน 500,000 บาท จึงเป็นคุณแก่จำเลยทั้งสองมากกว่าโทษปรับตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิด แต่อย่างไรก็ตามในการกำหนดโทษปรับจำเลยทั้งสอง ตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2560 ดังกล่าว ก็ต้องกำหนดให้จำเลยทั้งสองรับผิดค่าปรับในลักษณะรวมกันตามบทบัญญัติ มาตรา 27 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 อันเป็นการใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณบังคับแก่จำเลยทั้งสองไม่ว่าในทางใดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยแก้ไขให้ถูกต้องได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 เมื่อวินิจฉัยดังนี้แล้ว จึงไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาโจทก์อีกต่อไป
พิพากษาแก้เป็นว่า ความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากรฯ จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2560 มาตรา 244 พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 ให้ลงโทษปรับจำเลยทั้งสองรวม 500,000 บาท ส่วนโทษในความผิดฐานอื่นและนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์