คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2430/2539

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบฟังได้แต่เพียงว่าจำเลยทั้งสามเป็นหนี้โจทก์ตามคำพิพากษาและพฤติการณ์ของจำเลยทั้งสามเข้าข้อสันนิษฐานตามพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ.2483มาตรา8ว่าเป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัวเท่านั้นปัญหาว่าความจริงจำเลยทั้งสามมีทรัพย์สินพอชำระหนี้ได้หรือไม่เป็นหน้าที่ของจำเลยที่อาจนำสืบหักล้างประโยชน์ที่โจทก์ได้รับจากข้อสันนิษฐานแห่งกฎหมายได้พยานหลักฐานที่จำเลยนำสืบปรากฎชัดว่าจำเลยที่2และที่3มีทรัพย์สินคือที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่บริษัทไทยประเมินราคา จำกัดได้ประเมินราคาไว้สูงถึง36,775,820บาทแม้จะเป็นการประเมินราคาของเอกชนแต่ก็เป็นการประเมินเพื่อประโยชน์ในการขอกู้เงินจากธนาคารและต่อมาธนาคารได้รับจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างไว้ในวงเงิน13,000,000บาทแสดงถึงความเชื่อถือของธนาคารและจำเลยที่2และที่3มีหนังสือสัญญาขายที่ดินนำสืบว่ามีราคาเกือบ2,000,000บาทแม้หนังสือสัญญาขายที่ดินเป็นสำเนาเอกสารแต่ก็รับรองสำเนาโดยเจ้าหน้าที่ว่าเป็นภาพถ่ายจากเอกสารต้นฉบับที่ถูกต้องแล้วจึงรับฟังได้ข้อนำสืบของจำเลยที่2และที่3มีน้ำหนักพอที่จะหักล้างข้อสันนิษฐานของกฎหมายได้ส่วนจำเลยที่1แม้ไม่ปรากฎว่ามีทรัพย์สินที่โจทก์จะพึงยึดมาชำระหนี้ได้แต่เมื่อหนี้ตามคำพิพากษาของโจทก์เป็นหนี้ร่วมที่จำเลยทั้งสามต้องรับผิดต่อโจทก์และจำเลยที่2และที่3มีทรัพย์สินเพียงพอชำระหนี้แก่โจทก์ได้คดีมีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้จำเลยที่1ล้มละลาย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งสามเด็ดขาดและพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลาย
จำเลยที่ 1 และที่ 3 ไม่ยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 ไม่ได้เป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัว จำเลยที่ 2 มีทรัพย์สินพอที่จะชำระหนี้โจทก์ได้โจทก์ใช้สิทธิโดยไม่สุจริตเพื่อให้จำเลยที่ 2 ได้รับความเสียหายขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยทั้งสามเด็ดขาดตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 14
จำเลย ทั้ง สาม อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นรับบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมครั้งที่ 2 ฉบับลงวันที่ 23 พฤษภาคม 2533ของจำเลยแล้วดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป แล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาพิพากษายืน
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว มีคำสั่งให้พิทักษ์ทรัพย์จำเลยทั้งสามเด็ดขาดตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 14
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้วปัญหาที่โจทก์ฎีกาว่า จำเลยทั้งสามเป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัวและไม่มีทรัพย์สินพอชำระหนี้ได้นั้น พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบคงฟังได้ความเพียงว่า จำเลยทั้งสามเป็นหนี้โจทก์ตามคำพิพากษาเพียงรายเดียวและพฤติการณ์ของจำเลยทั้งสามเข้าข้อสันนิษฐานตามพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2483 มาตรา 8 ว่าเป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัวเท่านั้น ปัญหาว่าความจริงจำเลยทั้งสามมีทรัพย์สินพอชำระหนี้ได้หรือไม่ เป็นหน้าที่ของจำเลยที่อาจนำสืบหักล้างประโยชน์ที่โจทก์ได้รับจากข้อสันนิษฐานแห่งกฎหมายดังกล่าวได้ พยานหลักฐานจำเลยทั้งสามที่นำสืบปรากฎชัดว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 มีทรัพย์สินคือที่ดินตามเอกสารหมาย ล.5และ ล.6 ล.7 ที่โจทก์อาจดำเนินการบังคับคดีได้ หาใช่จำเลยที่ 2และที่ 3 ไม่มีทรัพย์สินอย่างหนึ่งอย่างใดที่จะพึงยึดมาชำระหนี้ได้ดังที่โจทก์อ้างและนำสืบไม่ ส่วนราคาที่ดินของจำเลยที่ 2 นั้นเฉพาะเพียงที่ดินตามเอกสารหมาย ล.6 ล.7 จำเลยที่ 2 และที่ 3มีเอกสารหมาย ล.8 มานำสืบแสดงว่า ที่ดินตามเอกสารหมาย ล.6 และล.7พร้อมสิ่งปลูกสร้างบริษัทไทยประเมินราคา จำกัด ได้ประเมินราคาไว้สูงถึง 36,775,820 บาท แม้จะเป็นการประเมินราคาของเอกชนก็ตาม แต่ก็เป็นการประเมินเพื่อประโยชน์ในการขอกู้เงินจากธนาคารทหารไทย จำกัด ซึ่งปรากฎต่อมาว่าธนาคารทหารไทย จำกัดได้รับจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวไว้ในวงเงินรวม13,000,000 บาท ซึ่งแสดงถึงความเชื่อถือของธนาคารทหารไทยจำกัด ในราคาประเมินของหลักประกันดังกล่าว นับเป็นพยานหลักฐานที่เชื่อได้ว่าที่ดินของจำเลยที่ 2 ที่จำนองดังกล่าวมีราคาสูงกว่าวงเงินจำนองแน่นอนนอกจากนี้แล้วที่ดินของจำเลยที่ 2 และที่ 3ตามเอกสารหมาย ล.5 จำเลยที่ 2 และที่ 3 มีเอกสาร ล.4 ซึ่งเป็นหนังสือสัญญาขายที่ดินมานำสืบยืนยันว่า ที่ดินมีราคาเกือบ2,000,000 บาท เอกสารหมาย ล.4 และ ล.5 เป็นสำเนาเอกสารราชการที่ปรากฎการรับรองสำเนาโดยเจ้าหน้าที่ว่าเป็นภาพถ่ายจากเอกสารต้นฉบับที่ถูกต้องแล้ว จึงรับฟังเชื่อถือได้ ดังนั้นข้อเท็จจริงเชื่อได้ว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ยังมีทรัพย์สินอื่นอีกจริง ซึ่งเมื่อประมวลรวมกันแล้วฟังได้ว่ามีราคาที่เพียงพอชำระหนี้แก่โจทก์ได้ ข้อนำสืบของจำเลยที่ 2 และที่ 3 มีน้ำหนักพอที่จะหักล้างข้อสันนิษฐานของกฎหมายได้ ส่วนจำเลยที่ 1 แม้ไม่ปรากฎในทางพิจารณาว่าจำเลยที่ 1 มีทรัพย์สินที่โจทก์จะพึงยึดมาชำระหนี้ได้หรือไม่ก็ตาม แต่เมื่อหนี้ตามคำพิพากษาของโจทก์เป็นหนี้ร่วมที่จำเลยทั้งสามต้องรับผิดต่อโจทก์ และจำเลยที่ 2 และที่ 3 มีทรัพย์สินเพียงพอชำระหนี้ดังกล่าวแก่โจทก์ได้ คดีจึงมีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้จำเลยที่ 1 ล้มละลาย ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์นั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share