คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2420/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การร้องคัดค้านการบังคับคดีจะต้องร้องคัดค้านภายในแปดวันนับแต่ทราบการฝ่าฝืน แต่ต้องกระทำเสียก่อนที่การบังคับคดีได้เสร็จลงหากการบังคับคดีได้เสร็จลงไปแล้วแม้เพิ่งทราบการฝ่าฝืนก็ร้องคัดค้านอีกไม่ได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา296 วรรคสอง จำเลยที่ 2 ฎีกาอ้างว่าหมายบังคับคดีให้ยึดทรัพย์จำเลยที่ 1แต่เจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์ของจำเลยที่ 2 เป็นการกล่าวอ้างว่าเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์จำเลยที่ 2 โดยฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งลักษณะการบังคับคดีนั่นเอง กรณีจึงต้องด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 วรรคสอง ซึ่งจำเลยที่ 2 จะต้องยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้องต่อศาลก่อนการบังคับคดีได้เสร็จลง แต่ต้องไม่ช้ากว่าแปดวันนับแต่ทราบการฝ่าฝืนนั้นเมื่อปรากฏว่าเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์ของจำเลยที่ 2แล้วจำเลยที่ 2 เป็นผู้รับรักษาทรัพย์ที่ยึดไว้เองตั้งแต่วันที่5 มีนาคม 2531 โดยไม่โต้แย้งคัดค้าน จนกระทั่งมีการขายทอดตลาดจนเจ้าพนักงานบังคับคดีแบ่งเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดให้โจทก์เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2535 ซึ่งถือว่าการบังคับคดีได้เสร็จลงแล้วจำเลยที่ 2 เพิ่งยื่นคำร้องเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2535ล่วงเลยกำหนดระยะเวลาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 296 วรรคสอง จำเลยที่ 2 จึงไม่มีสิทธิร้องคัดค้านเพื่อให้เพิกถอนการยึดและการขายทอดตลาดได้

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องให้จำเลยชำระหนี้ตามสัญญารับใช้หนี้เงินกู้และสัญญาค้ำประกัน ศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอมให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 10,225 บาท พร้อมดอกเบี้ยและค่าฤชาธรรมเนียมแก่โจทก์ แต่จำเลยทั้งสามไม่ชำระ โจทก์จึงขอให้บังคับคดีแล้วนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดิน 1 แปลงของจำเลยที่ 2 ออกขายทอดตลาด
วันที่ 23 ธันวาคม 2534 เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดทรัพย์ที่ยึดให้แก่ผู้เสนอราคาสูงสุดเป็นเงิน 150,000 บาท
วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2535 จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องว่าการบังคับคดีไม่ชอบเนื่องจากตามหมายบังคับคดีระบุว่า ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีทำการยึดทรัพย์ของจำเลยที่ 1 เจ้าพนักงานบังคับคดีจึงไม่มีอำนาจยึดทรัพย์ของจำเลยที่ 2 และการยึดที่ดินของจำเลยที่ 2ซึ่งมีราคาไม่ต่ำกว่า 1,000,000 บาท ตามราคาประเมินของทางราชการเป็นการบังคับคดีเกินกว่าความจำเป็น โจทก์และเจ้าพนักงานบังคับคดีทำการฉ้อฉลโดยมีเจตนาไม่สุจริต ขอให้มีคำสั่งว่าการบังคับคดีเป็นโมฆะ
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้อง
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 วรรคสอง เกี่ยวกับกำหนดเวลายื่นคำร้องมีได้ 2 กรณี คือ กรณีแรกก่อนการบังคับคดีได้เสร็จลงจะยื่นคำร้องเมื่อใดก็ได้ แม้จะทราบการฝ่าฝืนเกินกว่าแปดวันกรณีที่สอง เมื่อการบังคับคดีได้เสร็จลงแล้วจะยื่นคำร้องเมื่อใดก็ได้ แต่ต้องภายในแปดวันนับแต่วันทราบการฝ่าฝืน นั้น เห็นว่าตามมาตรา 296 วรรคสอง บัญญัติว่า “…อาจยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้องต่อศาลไม่ว่าเวลาใด ๆ ก่อนการบังคับคดีได้เสร็จลงแต่ต้องไม่ช้ากว่าแปดวันนับแต่ทราบการฝ่าฝืนนั้น…” แสดงว่าการร้องคัดค้านการบังคับคดีจะต้องร้องคัดค้านภายในแปดวันนับแต่ทราบการฝ่าฝืน แต่ต้องกระทำเสียก่อนที่การบังคับคดีได้เสร็จลง หากการบังคับคดีได้เสร็จลงไปแล้วแม้เพิ่งทราบการฝ่าฝืนก็ร้องคัดค้านอีกไม่ได้ บทกฎหมายมาตรา 296 วรรคสอง ดังกล่าวหาได้มีความหมายเป็น 2 กรณี ดังที่จำเลยที่ 2 กล่าวอ้างในฎีกาไม่ ส่วนที่จำเลยที่ 2 ฎีกาประการต่อมาว่า เจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์ของจำเลยที่ 2 มิใช่ทรัพย์ของจำเลยที่ 1 ตามหมายบังคับคดี เจ้าพนักงานบังคับคดีไม่มีอำนาจยึดทรัพย์จำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 จึงชอบที่จะยื่นคำร้องได้โดยไม่มีกำหนดเวลา เห็นว่า เหตุที่จำเลยที่ 2อ้างในฎีกาข้อนี้เป็นการอ้างว่าเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์ของจำเลยที่ 2 โดยฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งลักษณะการบังคับคดีนั่นเองกรณีจึงต้องด้วยมาตรา 296 วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ซึ่งจำเลยที่ 2 จะต้องยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้องต่อศาลก่อนการบังคับคดีได้เสร็จลง แต่ต้องไม่ช้ากว่าแปดวันนับแต่ทราบการฝ่าฝืนนั้น ข้อเท็จจริงได้ความว่า ทรัพย์พิพาทที่เจ้าพนักงานบังคับคดีทำการยึดไว้ซึ่งจำเลยที่ 2 อ้างว่าเป็นการยึดที่ไม่ถูกต้องตามหมายบังคับคดีที่ศาลออกให้นั้น จำเลยที่ 2 เป็นผู้รับรักษาทรัพย์ที่ยึดนั้นไว้เองตั้งแต่วันที่ 5 มีนาคม 2531แต่จำเลยที่ 2 ก็ไม่ได้โต้แย้งคัดค้านใด ๆ จนกระทั่งได้มีการขายทอดตลาดทรัพย์ที่ยึดและมีการชำระเงินให้แก่โจทก์ไป จึงถือได้ว่าการบังคับคดีได้เสร็จลงแล้วเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2535 อันเป็นวันที่เจ้าพนักงานบังคับคดีได้แบ่งเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดให้แก่โจทก์ไป จำเลยที่ 2 เพิ่งจะมายื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นหลังจากนั้นคือวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2535 ล่วงเลยกำหนดระยะเวลาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 วรรคสอง แล้วจำเลยที่ 2 จึงไม่มีสิทธิร้องคัดค้านเพื่อให้เพิกถอนการยึดและการขายทอดตลาดได้
พิพากษายืน

Share