แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า สำหรับสินค้าจำพวกที่ 30 เมื่อปี 2539 ส่วนจำเลยที่ 1 ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า และ สำหรับสินค้าจำพวกที่ 29 เมื่อปี 2542 โจทก์จึงจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของตนในประเทศไทยก่อนจำเลยที่ 1 และเป็นผู้มีส่วนได้เสียที่จะฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 กับขอให้แสดงว่าโจทก์มีสิทธิดีกว่าได้ เมื่อโจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้เมื่อปี 2545 จึงเป็นการฟ้องภายในกำหนดเวลา 5 ปี ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 67 วรรคหนึ่ง
สาระสำคัญของเครื่องหมายของโจทก์และจำเลยที่ 1 คืออักษร คำว่า Haldiram’s ซึ่งออกเสียงเรียกขานได้หลายประการ เช่น ฮาลดิราม ฮาลดิแรม หรือฮาลไดแรม เป็นต้น สาระสำคัญและเสียงเรียกขานเครื่องหมายการค้าดังกล่าวจึงมีความใกล้เคียงกันมาก เมื่อพิจารณาบรรจุภัณฑ์สำหรับสินค้าของฝ่ายโจทก์และจำเลยเองแล้ว จะเห็นว่าอักษรคำว่า Haldiram’s เป็นตัวใหญ่เด่นชัดมากกว่าส่วนประกอบอื่นของเครื่องหมายการค้าที่จดทะเบียน แม้จะใช้รูปแบบของตัวอักษรต่างกัน แต่หากไม่ได้นำบรรจุภัณฑ์เหล่านั้นมาวางเปรียบเทียบแล้ว เชื่อได้ว่าประชาชนทั่วไปจะสนใจในคำว่า Haldiram’s มากกว่ารายละเอียดส่วนอื่นๆ ของเครื่องหมายการค้าโดยเฉพาะสินค้าตามรายการที่จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์และจำเลยที่ 1 แม้จะต่างจำพวกกัน แต่ก็มีลักษณะเป็นอาหารอย่างเดียวกัน ดังนั้น เครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 จึงมีลักษณะคล้ายกับเครื่องหมายการค้า ของโจทก์ จนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้า หรือแหล่งกำเนิดของสินค้า
เครื่องหมายการค้าของโจทก์ใช้ครั้งแรกในประเทศสาธารณรัฐอินเดีย เมื่อปี 2484 จากนั้นได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าพิพาทในประเทศอื่นในนามของโจทก์ โจทก์ผลิตและจำหน่ายสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าพิพาทจนแพร่หลาย คนทั่วไปรู้จักเครื่องหมายการค้าพิพาทดี สำหรับในประเทศไทยมีการจำหน่ายมาก่อนปี 2542 ส่วนจำเลยที่ 1 ได้รับอนุญาตจากเจ้าของแต่งตั้งเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้า “Haldiram Bhujiawala” และ “Haldiram’s” ในประเทศไทยโดยกำหนดระยะเวลาแต่งตั้งการเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าในครั้งแรกนี้มีกำหนด 5 ปี โดยไม่ปรากฏหลักฐานการอนุญาตให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนเครื่องหมายการค้า หรือ ได้รับมอบอำนาจจากฮาดิราม พูเจียวาลา พีวีที.ลิมิเต็ด เจ้าของเครื่องหมายการค้าซึ่งได้มีการใช้มาเป็นเวลานานในประเทศสาธารณรัฐอินเดียก่อนปี 2501 มาจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า เป็นของจำเลยที่ 1 อันจะมีผลทำให้จำเลยที่ 1 มีส่วนได้ใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวมาก่อนแล้วโดยสุจริตตั้งแต่เวลาดังกล่าว ดังนั้น เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าโจทก์ใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวครั้งแรกในประเทศสาธารณรัฐอินเดียเมื่อปี 2484 จากนั้นได้นำมายื่นคำขดจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในประเทศไทยปี 2539 โจทก์จึงมีสิทธิในคำว่า Haldiram’s ดีกว่า จำเลยที่ 1 ไม่อาจจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของตนได้ในภายหลัง และเมื่อไม่ปรากฏว่า จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าซึ่งต่างได้ใช้มาก่อนแล้วโดยสุจริต จำเลยที่ 1 จึงไม่อาจอ้างเหตุความเป็นเจ้าของของเครื่องหมายการค้าเพื่อให้นายทะเบียนรับจดทะเบียนตามความหมายของมาตรา 27 แห่ง พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้พิพากษาว่าโจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าในลักษณะคำและรูปประดิษฐ์ คำว่า Haldiram’s และรูปประดิษฐ์ ทะเบียนเลขที่ ค.101856 และทะเบียนเลขที่ ค.105327 ดีกว่าจำเลยที่ 1 ให้จำเลยที่ 1 เพิกถอนเครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนไว้ดังกล่าวออกจากงานทะเบียนเครื่องหมายการค้า กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ ห้ามจำเลยทั้งสองนำเครื่องหมายการค้าดังกล่าวไปยื่นจดทะเบียนอีก ห้ามจำเลยทั้งสองยุ่งเกี่ยวหรือใช้เครื่องหมายการค้าท้ายคำฟ้อง หรือเครื่องหมายการค้าที่คล้ายกับเครื่องหมายการค้าดังกล่าวสำหรับสินค้าจำพวกที่ 29, 30 และ 32 หรือสินค้าและบริการที่มีลักษณะเดียวกันหรือเกี่ยวข้องกันอีกต่อไป หากไม่ปฏิบัติขอให้ถือคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสอง และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันรับผิดในค่าเสียหายเดือนละ 50,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป จนกว่าจำเลยที่ 1 จะเพิกถอนและเลิกใช้เครื่องหมายการค้า ทะเบียนเลขที่ ค.101856 และทะเบียนเลขที่ ค.105327
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้องและฟ้องแย้งห้ามโจทก์ยุ่งเกี่ยวกับการใช้เครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 ห้ามโจทก์นำเครื่องหมายการค้า เอช อาร์ ฮาลดิรามส์ ไปยื่นขอจดทะเบียนในสินค้าจำพวกที่ 29 และสินค้าจำพวกอื่นๆ อันอาจกระทบต่อสิทธิของจำเลยที่ 1 ขอให้เพิกถอนเครื่องหมายการค้า ทะเบียนเลขที่ ค.63271 ห้ามโจทก์นำเครื่องหมายการค้าดังกล่าวไปยื่นขอจดทะเบียนอีก หากไม่ปฏิบัติขอให้ถือคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของโจทก์ และให้โจทก์ใช้ค่าเสียหายเดือนละ 50,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าโจทก์จะเพิกถอนเครื่องหมายการค้าที่จดทะเบียนไว้ดังกล่าว
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์และยกฟ้องแย้งจำเลยทั้งสอง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า มีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า โจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้า ทะเบียนเลขที่ ค.101856 และทะเบียนเลขที่ ค.105327 ดีกว่าจำเลยที่ 1 หรือไม่ คดีนี้ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นแล้วว่า โจทก์ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า สำหรับสินค้าจำพวกที่ 30 เมื่อปี 2539 ส่วนจำเลยที่ 1 ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า สำหรับสินค้าจำพวกที่ 29 เมื่อปี 2542 โจทก์จึงจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของตนในประเทศไทยก่อนจำเลยที่ 1 และเป็นผู้มีส่วนได้เสียที่จะฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 กับขอให้แสดงว่าโจทก์มีสิทธิดีกว่าได้ เมื่อโจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2545 จึงเป็นการฟ้องภายในกำหนดเวลา 5 ปี ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 67 วรรคหนึ่ง
สาระสำคัญของทั้งสองเครื่องหมายดังกล่าวคืออักษรคำว่า Haldiram’s ซึ่งออกเสียงเรียกขานได้หลายประการ เช่น ฮาลดิราม ฮาลดิแรม หรือฮาลไดแรม เป็นต้น สาระสำคัญและเสียงเรียกขานของเครื่องหมายการค้าดังกล่าวจึงมีความใกล้เคียงกันมาก เมื่อพิจารณาบรรจุภัณฑ์สำหรับสินค้าของฝ่ายโจทก์และจำเลยจะเห็นว่าอักษรคำว่า Haldiram’s เป็นตัวใหญ่เด่นชัดมากกว่าส่วนประกอบอื่นของเครื่องหมายการค้าที่จดทะเบียน แม้จะใช้รูปแบบของตัวอักษรต่างกัน แต่หากไม่ได้นำบรรจุภัณฑ์เหล่านั้นมาวางเปรียบเทียบแล้ว เชื่อได้ว่าประชาชนทั่วไปจะสนใจในคำว่า Harldiram’s มากกว่ารายละเอียดส่วนอื่นๆ ของเครื่องหมายการค้า โดยเฉพาะสินค้าตามรายการที่จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์และจำเลยที่ 1 แม้จะต่างจำพวกกัน แต่ก็มีลักษณะเป็นอาหารอย่างเดียวกัน ดังนั้น เครื่องหมายการค้า ทะเบียนเลขที่ ค.101856 และเครื่องหมายการค้า ทะเบียนเลขที่ ค.105327 ของจำเลยที่ 1 จึงมีลักษณะคล้ายกับเครื่องหมายการค้า ของโจทก์ จนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของสินค้า หรือแหล่งกำเนิดของสินค้า
เครื่องหมายการค้าของโจทก์ใช้ครั้งแรกในประเทศสาธารณรัฐอินเดีย เมื่อปี 2484 จากนั้นได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าพิพาทในประเทศอื่นในนามของโจทก์ โจทก์ผลิตและจำหน่ายสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าพิพาทจนแพร่หลาย คนทั่วไปรู้จักเครื่องหมายการค้าพิพาทดี สำหรับในประเทศไทยมีการจำหน่ายมาก่อนปี 2542 ส่วนจำเลยทั้งสองมีจำเลยที่ 2 เบิกความประกอบหนังสือยืนยันการแต่งตั้งตัวแทนพร้อมคำแปลและหนังสือพร้อมคำแปล จำเลยที่ 1 ได้รับอนุญาตจากเจ้าของให้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในประเทศไทย ซึ่งเครื่องหมายการค้าดังกล่าวได้มีการใช้ในประเทศสาธารณรัฐอินเดียมาตั้งแต่ปี 2501 เห็นว่า เครื่องหมายการค้าทะเบียนเลขที่ ค.101856 และทะเบียนเลขที่ ค.105327 มีลักษณะคล้ายกับเครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนไว้ในประเทศสาธารณรัฐอินเดียตามทะเบียนเครื่องหมายการค้าพร้อมคำแปล แต่ข้อความที่ปรากฏนั้น เป็นเรื่องของการแต่งตั้งตัวแทนจำหน่ายสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้า “HALDIRAM BHUJIAWALA” และ “HALDIRAM’S” ในประเทศไทยโดยกำหนดระยะเวลาแต่งตั้งการเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าในครั้งแรกนี้มีกำหนด 5 ปี จึงไม่สามารถตีความไปได้ว่าเป็นการอนุญาตให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามที่จำเลยที่ 1 กล่าวอ้าง และไม่ปรากฏหลักฐานว่าจำเลยที่ 1 ได้รับอนุญาตจากฮาลดิราม พูเจียวาลา พีวีที. ลิมิเต็ด เจ้าของเครื่องหมายการค้าซึ่งได้มีการใช้มาเป็นเวลานานในประเทศสาธารณรัฐอินเดียก่อนปี 2501 มาจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าทะเบียนเลขที่ ค.101856 และทะเบียนเลขที่ ค.105327 เป็นของจำเลยที่ 1 อันจะมีผลทำให้จำเลยที่ 1 มีส่วนได้ใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวมาก่อนแล้วโดยสุจริตตั้งแต่เวลาดังกล่าว ดังนั้น เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าโจทก์ใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวครั้งแรกในประเทศสาธารณรัฐอินเดียเมื่อปี 2484 จากนั้นได้นำมายื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในประเทศไทยปี 2539 โจทก์จึงมีสิทธิในคำว่า Haldiram’s ดีกว่า ทำให้จำเลยที่ 1 ไม่อาจจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของตนได้ภายหลัง และเมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าซึ่งต่างได้ใช้มาก่อนแล้วโดยสุจริต จำเลยที่ 1 จึงไม่อาจอ้างเหตุความเป็นเจ้าของของเครื่องหมายการค้าเพื่อให้นายทะเบียนรับจดทะเบียนตามความหมายของมาตรา 27 แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 ได้ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ในข้อนี้ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า โจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าในลักษณะคำและรูปประดิษฐ์ คำว่า Haldiram’s และรูปประดิษฐ์ ทะเบียนเลขที่ ค.101856 และทะเบียนเลขที่ ค.105327 ดีกว่าจำเลยที่ 1 ให้เพิกถอนเครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนไว้ดังกล่าวออกจากงานทะเบียนเครื่องหมายการค้า กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ ห้ามจำเลยทั้งสองยุ่งเกี่ยว ใช้ หรือนำเครื่องหมายการค้าดังกล่าว หรือเครื่องหมายการค้าที่คล้ายกับเครื่องหมายการค้าดังกล่าวไปยื่นจดทะเบียนสำหรับสินค้าจำพวกที่ 29, 30 และ 32 หรือสินค้าและบริการที่มีลักษณะเดียวกันหรือเกี่ยวข้องกันอีกต่อไป นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ