คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8354/2543

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษกักขังแทนโทษจำคุก และศาลอุทธรณ์ภาค 9มิได้กลับคำพิพากษาศาลชั้นต้น จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 219 ตรี ซึ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 221 ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นจะอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงได้เฉพาะในคดีซึ่งห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 218,219 และ 220 เท่านั้น จะอนุญาตตามมาตรา 219 ตรีไม่ได้จำเลยฎีกาขอให้ลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษจำคุกเป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการลงโทษของศาล อันเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยพาอาวุธปืนสั้นมีเครื่องหมายทะเบียน ซึ่งเป็นของจำเลยและจำเลยยิงปืนดังกล่าว บริเวณบ้านจัดสรร บ้านหัวควนนาวงซึ่งเป็นหมู่บ้านและทางสาธารณะโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 8 ทวิ, 72 ทวิ ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 371, 376, 91 คืนของกลางแก่เจ้าของ

จำเลยให้การรับสารภาพ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนเครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490มาตรา 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 ทวิ วรรคสอง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371,376 เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานพาอาวุธปืนเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 4 เดือน ฐานยิงปืนโดยใช่เหตุจำคุก10 วัน รวมจำคุก 4 เดือน 10 วัน จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 คงจำคุก 2 เดือน 5 วัน คืนของกลางแก่เจ้าของ ไม่รอการลงโทษจำคุกแต่ให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นลงโทษกักขังแทนมีกำหนด 2 เดือน 5 วัน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 23

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืน

จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

ศาลฎีกาวินิจฉัย “คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษกักขังแทนโทษจำคุกและศาลอุทธรณ์ภาค 9 มิได้พิพากษากลับคำพิพากษาศาลชั้นต้น จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 219 ตรี ซึ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 221ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นจะอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงได้เฉพาะในคดีซึ่งห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218, 219 และ 220 เท่านั้น จะอนุญาตให้ฎีกาในคดีซึ่งห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 219 ตรีไม่ได้ จำเลยฎีกาขอให้ลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษจำคุกเป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการลงโทษของศาล อันเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ดังนั้นการที่ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้จำเลยฎีกาคดีนี้และศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของจำเลยมานั้นจึงไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย”

พิพากษายกฎีกาจำเลย

Share