แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
โจทก์ทั้งสี่และจำเลยเป็นบุตรของเจ้ามรดก ที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดกที่ยังไม่ได้จดทะเบียนโอนแบ่งให้แก่ทายาททั้งห้าจึงไม่ใช่ของจำเลย โจทก์ที่ 2 เป็นทายาทคนหนึ่งและมีสิทธิได้รับมรดกที่ดินพิพาท จึงมีส่วนเป็นเจ้าของรวมในที่ดินพิพาท และมีสิทธิอยู่ในที่ดินพิพาท จำเลยจึงไม่มีสิทธิฟ้องแย้งขอให้ขับไล่โจทก์ที่ 2
ย่อยาว
โจทก์ทั้งสี่ฟ้องว่า โจทก์ทั้งสี่กับจำเลยเป็นบุตรนายปล้องและนางผัน เปาเล้ง นายปล้องและนางผันถึงแก่กรรมแล้วมีทรัพย์มรดกเป็นที่ดินโฉนดเลขที่ 4160 และ 4197 กับที่ดินโฉนดเลขที่ 2490 และ 2740 ซึ่งยังไม่ได้แบ่งปันแก่ทางยาท เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2541 จำเลยหลอกลวงโจทก์ทั้งสี่ให้ลงลายมือชื่อในกระดาษเปล่าที่ยังไม่ได้กรอกข้อความคนละ 2 ฉบับ อ้างว่าจะนำไปใช้ในการแบ่งปันทรัพย์มรดกและคัดชื่อคนตายออกจากโฉนดที่ดิน โจทก์ทั้งสี่ทราบภายหลังว่ากระดาษที่ลงลายมือชื่อไปเป็นหนังสือที่ทายาทแจ้งเป็นหลักฐานการไม่รับมรดกที่ดินโฉนดเลขที่ 4160 และ 4197 โจทก์ทั้งสี่ไม่มีเจตนาสละมรดกแต่อย่างใดจึงแจ้งความไว้เป็นหลักฐานและยื่นคัดค้านการขอรับมรดกของจำเลยต่อเจ้าพนักงานที่ดิน แต่เจ้าพนักงานที่ดินมีคำสั่งให้โอนที่ดินมรดกตามโฉนดเลขที่ 4160 และ 4197 ให้แก่จำเลยแต่ผู้เดียว ก่อนฟ้องโจทก์ทั้งสี่ได้ติดต่อขอให้จำเลยแบ่งปันทรัพย์มรดกตามกฎหมายแล้ว แต่จำเลยไม่ยินยอม ขอให้เพิกถอนคำสั่งสำนักงานที่ดินจังหวัดราชบุรีที่ 7 ถึงที่ 11/2542 ลงวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2542 เรื่องการสอบสวนเปรียบเทียบการโอนมรดกที่ดินเฉพาะส่วนของนายปล้อง นางผัน นายเอี่ยม นางงิ้ว และนางผัน เปาเล้ง เจ้ามรดกตามลำดับ
จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า นายปล้องได้ยกที่ดินเฉพาะส่วนของตนในที่ดินโฉนดเลขที่ 2490 และ 2740 ให้แก่โจทก์ที่ 1 ผู้เป็นบุตร สำหรับที่ดินพิพาททั้ง 2 แปลงตามโฉนดเลขที่ 4160 และ 4197 มิใช่ทรัพย์มรดกของนายเอี่ยม นางงิ้ว นายปล้องและนางผัน เปาเล้ง แต่เป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยโดยนายปล้องยกที่ดินพาททั้ง 2 แปลงให้จำเลยครอบครองทำประโยชน์โดยเปิดเผยเป็นเวลากว่า 10 ปี โจทก์ทั้งสี่ไม่ได้โต้แย้งคัดค้าน ต่อมาประมาณปลายปี 2541 จำเลยประสงค์จะแก้ชื่อเจ้าของที่ดินพิพาททั้ง 2 แปลง เป็นชื่อจำเลย เจ้าพนักงานที่ดินแนะนำให้นำหนังสือทายาทแจ้งเป็นหลักฐานไม่รับมรดกไปให้โจทก์ทั้งสี่ลงลายมือชื่อ โจทก์ทั้งสี่อ่านข้อความในเอกสารดังกล่าวแล้วและลงลายมือชื่อด้วยความสมัครใจเนื่องจากทราบดีว่าที่ดินเป็นของจำเลยเมื่อประมาณ 15 ปีมาแล้ว โจทก์ที่ 2 มาขออาศัยปลูกบ้านในที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 4160 เนื้อที่ประมาณ 1 ไร่ จำเลยเห็นว่าโจทก์ที่ 2 เป็นน้องจึงยอมให้อยู่อาศัย ต่อมาโจทก์ที่ 2 แสดงตนเป็นปฏิปักษ์ต่อจำเลย จำเลยจึงแจ้งให้โจทก์ที่ 2 รื้อถอนบ้านเรือนและสิ่งปลูกสร้างออกจากที่ดินของจำเลย แต่โจทก์ที่ 2 เพิกเฉย ขอให้ยกฟ้อง และพิพากษาว่าที่ดินโฉนดเลขที่ 5160 ตำบลคลองแพงพวย อำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี เฉพาะส่วนของนายปล้อง อำแดงผัน กับที่ดินโฉนดเลขที่ 4197 ตำบลคลองแพงพวย อำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี เฉพาะส่วนของนายเอี่ยม อำแดงงิ้ว และอำแดงผัน เป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยห้ามโจทก์ทั้งสี่เกี่ยวข้อง กับขอให้บังคับโจทก์ที่ 2 พร้อมบริวารรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างเลขที่ 255 หมู่ที่ 2 ตำบลแพงพวย อำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี ออกไปจากที่ดินโฉนดเลขที่ 4160 ของจำเลย ห้ามเกี่ยวข้องอีกต่อไป
โจทก์ที่ 2 ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 4160 มิใช่ของจำเลย หากแต่เป็นกรรมสิทธิ์รวมของทายาทโดยธรรมของนายปล้องและนางผัน เปาเล้ง และยังไม่ได้แบ่งแยกการครอบครองเป็นส่วนสัด โจทก์ที่ 2 มีสิทธิได้รับมรดกเช่นเดียวกับจำเลย จำเลยไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่โจทก์ที่ 2 ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ระหว่างพิจารณาจำเลยถึงแก่กรรม นางสาวลำจวน เปาเล้ง บุตรของจำเลย ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 4160 ตำบลคลองแพงพวย (ตำบลแพงพวย) อำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี เฉพาะส่วนของนายปล้อง อำแดงผัน กับที่ดินโฉนดเลขที่ 4197 ตำบลคลองแพงพวย (ตำบลแพงพวย) อำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี เฉพาะส่วนของนายเอี่ยม อำแดงงิ้ว และอำแดงผัน เป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลย ห้ามโจทก์ทั้งสี่เกี่ยวข้อง และให้โจทก์ที่ 2 พร้อมบริวารรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างเลขที่ 255 หมู่ที่ 2 ตำบลแพงพวย อำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี ออกไปจากที่ดินโฉนดเลขที่ 4160 ของจำเลย ห้ามเกี่ยวข้องอีกต่อไป ยกฟ้องโจทก์ทั้งสี่ กับให้โจทก์ทั้งสี่ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลย โดยกำหนดค่าทนายความ 20,000 บาท
โจทก์ทั้งสี่อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 วินิจฉัยว่า ที่ดินพิพาททั้ง 2 แปลง เป็นมรดกของนายปล้องและนางผัน แต่โจทก์ไม่ได้ฟ้องเจ้าพนักงานที่ดินไม่อาจเพิกถอนคำสั่งสำนักงานที่ดินจังหวัดราชบุรี และพิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องแย้งของจำเลย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา
ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกาโจทก์ที่ 2 ถึงแก่กรรม จำเลยยื่นคำร้องขอให้เรียกนางบุญรักษา โตชู บุตรของโจทก์ที่ 2 เข้าเป็นคู่ความแทนโจทก์ที่ 2 ศาลฎีกาอนุญาต
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ยังคงพิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสี่ตามศาลชั้นต้น โจทก์ทั้งสี่ไม่ยื่นฎีกา คดีตามคำฟ้องของโจทก์ทั้งสี่จึงยุติถึงที่สุดแล้ว ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยมีว่า ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายกฟ้องแย้งของจำเลยนั้น ชอบแล้วหรือไม่ เห็นว่า ในปัญหาดังกล่าว ข้อเท็จจริงยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 โดยจำเลยไม่โต้แย้งฟังได้ว่าโจทก์ทั้งสี่และจำเลยเป็นบุตรของนายปล้องและนางผัน เปาเล้ง นายปล้องและนางผันถึงแก่กรรมแล้ว โดยมีทรัพย์มรดกเป็นที่ดินที่ยังไม่ได้จดทะเบียนโอนแบ่งให้แก่ทายาททั้งห้า (หมายถึงโจทก์ทั้งสี่และจำเลย) จำนวน 4 แปลง คือที่ดินโฉนดเลขที่ 2490 และ 2740 ตำบลท่าเรือ อำเภอเมืองราชบุรี จังหวัดราชบุรี กับที่ดินพิพาททั้ง 2 แปลงตามโฉนดเลขที่ 4160 และ 4197 ตำบลคลองแพงพวย อำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี โจทก์ที่ 2 ปลูกบ้านอยู่ในดินที่พิพาทโฉนดเลขที่ 4160 ซึ่งตามฎีกาของจำเลยก็ยอมรับว่าที่ดินโฉนดเลขที่ 4160 และ 4197 ดังกล่าว เป็นมรดกของนายปล้องและนางผันจริง เช่นนี้ ที่ดินพิพาททั้ง 2 แปลงจึงไม่ใช่ที่ดินของจำเลย แต่ยังเป็นมรดกของนายปล้องและนางผัน ที่ยังไม่ได้แบ่งให้แก่ทายาท โจทก์ที่ 2 เป็นทายาทคนหนึ่งและมีสิทธิได้รับมรดกที่ดินพิพาททั้ง 2 แปลงดังกล่าว จึงมีส่วนเป็นเจ้าของรวมในที่ดินพิพาททั้ง 2 แปลง และมีสิทธิอยู่ในที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 4160 นั้นได้ด้วย จำเลยจึงไม่มีสิทธิฟ้องแย้งขอให้ขับไล่โจทก์ที่ 2 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายกฟ้องแย้งของจำเลยจึงชอบแล้ว”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.