คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2417/2536

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คำว่า บุคคลผู้ลงลายมือชื่อของตนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 900 วรรคแรก หมายถึง บุคคลธรรมดาที่เขียนลายมือชื่อด้วยตนเองหรือนิติบุคคลตามกฎหมายที่ผู้แทนผู้มีอำนาจกระทำการแทนลงลายมือชื่อกระทำการแทน โดยจะลงชื่อสมมติหรือนามแฝงหรือชื่อเสียงที่ใช้ในทางการค้าซึ่งเป็นที่แน่นอนว่าหมายถึงบุคคลใด โดยมีเจตนาให้ลายมือชื่อที่ลงในตั๋วเงินเป็นชื่อของตน การที่จำเลยที่ 2เขียนคำว่า แสงรุ้งเรือง ซึ่งเป็นชื่อร้านของจำเลยที่ 2ลงด้านหลังเช็คพิพาททั้งสองฉบับ ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้ลงลายมือชื่อของตนในเช็คดังกล่าว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 สั่งจ่ายเช็คธนาคารกรุงไทย จำกัดสาขาตราด 2 ฉบับ ลงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2530 จำนวนเงิน 250,000บาท และลงวันที่ 22 ธันวาคม 2530 จำนวนเงิน 100,000 บาท จำเลยที่ 2 สลักหลังเช็คสองฉบับดังกล่าวว่า แสงรุ้งเรือง อันเป็นชื่อร้านค้าของจำเลยที่ 2 และมอบเช็คให้โจทก์เพื่อชำระหนี้ ต่อมาธนาคารตามเช็คได้ปฏิเสธการจ่ายเงินทั้งสองฉบับ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินตามเช็คทั้งสองฉบับแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยจนถึงวันฟ้องเป็นจำนวนเงิน 354,734.59 บาท
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 ไม่ได้ลงลายมือชื่อสลักหลังเช็คตามฟ้องโจทก์ทั้งสองฉบับ คำว่าแสงรุ้งเรืองเป็นชื่อร้านของจำเลยที่ 2 ไม่ใช่บุคคลตามกฎหมาย จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 350,000บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 28 ธันวาคม 2530 จนกว่าจะชำระเสร็จ (ดอกเบี้ยก่อนฟ้องต้องไม่เกิน 4,734.59 บาท)
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา900 วรรคแรก บัญญัติว่า บุคคลผู้ลงลายมือชื่อของตนในตั๋วเงินย่อมจะต้องรับผิดตามเนื้อความในตั๋วนั้น บุคคลผู้ลงลายมือชื่อของตน หมายถึงบุคคลธรรมดาที่เขียนลายมือชื่อด้วยตนเองหรือนิติบุคคลตามกฎหมายที่ผู้แทนผู้มีอำนาจกระทำการแทนลงลายมือชื่อกระทำการแทน โดยจะลงชื่อสมมติหรือนามแฝงหรือชื่อเสียงที่ใช้ในทางการค้าซึ่งเป็นที่แน่นอนว่าหมายถึงบุคคลใด โดยมีเจตนาให้ลายมือชื่อที่ลงในตั๋วเงินเป็นชื่อของตน การที่จำเลยที่ 2 เขียนคำว่าแสงรุ้งเรือง ซึ่งเป็นชื่อร้านของจำเลยที่ 2 ลงด้านหลังเช็คพิพาททั้งสองฉบับ ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 เจ้าของร้านเป็นผู้ลงลายมือชื่อของตนในเช็คดังกล่าว จึงเป็นการลงลายมือชื่อสลักหลังเช็คตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 900 วรรคแรก, 919 และ 989วรรคแรก เช็คพิพาทเป็นเช็คผู้ถือจำเลยที่ 2 จึงเป็นผู้ประกัน(อาวัล) จำเลยที่ 1 ผู้สั่งจ่ายตามมาตรา 921, 940 และ 989 วรรคแรกย่อมอยู่ในฐานะต้องผูกพันใช้เงินตามเนื้อความในเช็คเช่นเดียวกันกับจำเลยที่ 1 ผู้สั่งจ่ายตามมาตรา 967 และ 989 วรรคแรก
พิพากษายืน

Share