คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1952/2536

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ในการชี้สองสถานศาลชั้นต้นมิได้กำหนดเรื่องอำนาจฟ้องของโจทก์เป็นประเด็นข้อพิพาทไว้ และจำเลยไม่ได้โต้แย้งว่าศาลชั้นต้นการกำหนดประเด็นข้อพิพาทไม่ถูกต้องหรือไม่ชอบ กลับแถลงรับว่าโจทก์มีการมอบอำนาจจริงคดีจึงไม่มีประเด็นเรื่องอำนาจฟ้องของโจทก์ ฎีกาของจำเลยในเรื่องนี้จึงเป็นฎีกานอกประเด็น เป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นต้องห้ามฎีกาตามป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ที่จำเลยฎีกาว่าจำเลยได้ก่อสร้างอาคารตามผังและแบบแปลนถูกต้องสมบูรณ์ตามที่กำหนดไว้แล้ว จำเลยมิได้กระทำผิดสัญญา แต่จำเลยให้การยอมรับว่าจำเลยได้สร้างตึกแถวลงในที่ดินของโจทก์แล้วเสร็จไปเกินกว่าเจ็ดสิบเปอร์เซ็นต์ของผังและแบบแปลนที่ได้ขออนุญาตต่อเทศบาลเมืองอุดรธานี คงเหลือการก่อสร้างอีกเพียงเล็กน้อยเกิดภาวะทางด้านเศรษฐกิจตกต่ำ จำเลยจึงงดการก่อสร้างไว้ก่อนและแจ้งให้โจทก์ทราบ โจทก์ก็ตกลง ดังนั้นข้อที่จำเลยยกขึ้นฎีกาดังกล่าวเป็นข้อที่นอกเหนือและขัดแย้งกับที่จำเลยให้การต่อสู้คดีไว้ เป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้น ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ตามสัญญาเช่าที่ดินระหว่างโจทก์กับจำเลยระบุว่า “ผู้เช่าสัญญาว่าจะสร้างอาคาร…ให้ครบตามผังและแบบแปลนที่ได้รับอนุญาตจากเทศบาลเมืองอุดรธานีให้แล้วเสร็จภายใน 1,460 วัน นับจากวันเริ่มสัญญานี้ หากพ้นกำหนดเวลาดังกล่าวนี้ ผู้ให้เช่ามีสิทธิบอกเลิกสัญญากับผู้เช่าได้ทันที และผู้ให้เช่าอาจให้ผู้เช่าต่อสัญญาหรือจะให้บุคคลอื่นดำเนินการต่อไปก็ได้” ข้อความดังกล่าวเป็นข้อตกลงที่แสดงถึงเจตนาของคู่สัญญาไว้ชัดเจนว่า หากจำเลยสร้างอาคารไม่แล้วเสร็จภายในกำหนด โจทก์มีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ แม้สัญญาเช่าที่ดินดังกล่าวเป็นสัญญาต่างตอบแทนยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดาซึ่งกำหนดว่าโจทก์ต้องให้จำเลยเช่ามีกำหนด21 ปี กำหนดเวลาเช่า 21 ปี ก็ต้องอยู่ภายใต้ข้อตกลงดังกล่าว เมื่อจำเลยผิดสัญญาเพราะสร้างอาคารไม่เสร็จภายในกำหนดตามข้อตกลงนั้น โจทก์ย่อมมีสิทธิเลิกสัญญาโดยข้อสัญญาดังกล่าวได้ ส่วนผลของการเลิกสัญญาจะทำให้จำเลยหรือผู้เช่าช่วงจะเสียหายมากน้อยอย่างไร ได้มีบทกฎหมายกำหนดสิทธิและหน้าที่ของคู่สัญญาจะพึงปฏิบัติต่อกันหลังเลิกสัญญาไว้แล้ว ความเสียหายตามข้ออ้างของจำเลยไม่ใช่เหตุที่โจทก์จะใช้สิทธิเลิกสัญญาไม่ได้

Share