คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1824/2536

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พระราชบัญญัติ ญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 100 บัญญัติห้ามมิให้เจ้าหนี้ขอรับชำระดอกเบี้ยภายหลังวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เท่านั้น หาได้หมายความว่าหนี้ดอกเบี้ยภายหลังวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ระงับแล้วไม่ เมื่อหนี้ดอกเบี้ยภายหลังนั้นยังมีอยู่ลูกหนี้ไม่ว่าจะในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยหรือในฐานะผู้ค้ำประกันอย่างลูกหนี้ร่วมก็ยังต้องร่วมรับผิดในหนี้ดังกล่าวลูกหนี้หาอาจยกข้อต่อสู้ตามบทบัญญัติดังกล่าว อันเป็นกฎหมายที่มุ่งคุ้มครองประโยชน์แห่งเจ้าหนี้ทั้งปวงและแก่ลูกหนี้ในคดีล้มละลายนั้นโดยเฉพาะขึ้นเป็นข้อต่อสู้ในคดีนี้หาได้ไม่เพราะมิฉะนั้นหากเจ้าหนี้มิได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของจำเลยภายในกำหนดเวลา 2 เดือน นับแต่วันโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยไว้เด็ดขาด ทำให้เจ้าหนี้ไม่อาจขอรับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของจำเลย ก็จะทำให้เจ้าหนี้ไม่อาจยื่นคำขอรับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ตามเหตุผลเดียวกันได้ แต่กรณีหาเป็นเช่นนั้นไม่ กล่าวคือหากเจ้าหนี้มิได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของจำเลยภายในกำหนด ลูกหนี้ก็ยังต้องรับผิดในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการและในฐานะเป็นผู้ค้ำประกันอย่างลูกหนี้ร่วมเจ้าหนี้จึงมีสิทธิยื่นคำขอรับชำระหนี้ค่าดอกเบี้ยจากกองทรัพย์สินของลูกหนี้หลังจากวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยไว้เด็ดขาดจนถึงวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้ไว้เด็ดขาด

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องจากโจทก์ฟ้องขอให้จำเลยเป็นบุคคลล้มละลายศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยไว้เด็ดขาดตั้งแต่วันที่30 ธันวาคม 2528 ต่อมาเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นสั่งว่านายจำเริญหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยล้มละลายตามห้าง ศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์นายจำเริญเด็ดขาดเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2532 ธนาคารกสิกรไทยเจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้เป็นค่าเลตเตอร์ออฟเครดิตและทรัสต์รีซีทค่าขายลดเช็คและหนี้ตามสัญญาค้ำประกันเป็นจำนวนเงิน 3,775,592.75 บาท จากกองทรัพย์สินของนายจำเริญลูกหนี้
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์นัดตรวจคำขอรับชำระหนี้แล้ว ไม่มีผู้ใดรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้รายนี้
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้สอบสวนคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้แล้ว เห็นควรให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้จำนวน 2,511,777.01 บาทจากกองทรัพย์สินของนายจำเริญลูกหนี้ตามมาตรา 130(8) แห่งพระราชบัญญัติ ล้มละลาย พ.ศ. 2483 ทั้งนี้โดยมีเงื่อนไขว่าหากเจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้จากจำเลยผู้สั่งจ่ายเช็คและผู้ค้ำประกันร่วมไปแล้วเท่าใด ให้มีสิทธิที่จะได้รับชำระหนี้ในคดีนี้ลดลงเพียงนั้น ส่วนที่ขอเกินมาให้ยก
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว มีคำสั่งอนุญาตให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ตามความเห็นของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์
เจ้าหนี้อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
เจ้าหนี้ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ยุติว่าห้างหุ้นส่วนจำกัดซี.เจ.วาย.อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด มีนายจำเริญ ปราชญาวงศ์เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ จำเลยเป็นหนี้ธนาคารกสิกรไทยเจ้าหนี้ตามสัญญาเลตเตอร์ออฟเครดิตและทรัสต์รีซีท สัญญาขายลดเช็คและสัญญาค้ำประกัน แล้วผิดนัดไม่ชำระหนี้ ต่อมาโจทก์ฟ้องขอให้จำเลยเป็นบุคคลล้มละลาย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยไว้เด็ดขาดเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2528 ต่อมาเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นสั่งให้นายจำเริญหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยล้มละลายตามห้าง ศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์นายจำเริญเด็ดขาดเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2532 เจ้าหนี้ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในหนี้ 3 ประเภทดังกล่าวจากกองทรัพย์สินของจำเลยโดยคำนวณดอกเบี้ยจนถึงวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยไว้เด็ดขาดเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2528 แล้ว รวมเงินต้นและดอกเบี้ยเป็นเงิน 2,511,777.01 บาท ต่อมาเจ้าหนี้ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของนายจำเริญลูกหนี้ในหนี้ของจำเลยในฐานะนายจำเริญลูกหนี้เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการและในฐานะผู้ค้ำประกันอย่างลูกหนี้ร่วมของจำเลยโดยคำนวณดอกเบี้ยของหนี้เงินต้นดังกล่าวจนถึงวันที่ 6 พฤศจิกายน 2532 อันเป็นวันที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์นายจำเริญลูกหนี้เด็ดขาดรวมทั้งสิ้นเป็นเงิน3,775,592.75 บาท ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยมีว่านายจำเริญลูกหนี้จะต้องรับผิดในค่าดอกเบี้ยหลังจากวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยไว้เด็ดขาดแล้วหรือไม่ เห็นว่า นายจำเริญลูกหนี้ต้องรับผิดในหนี้ของจำเลย ทั้งในฐานะเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการและในฐานะเป็นผู้ค้ำประกันอย่างลูกหนี้ร่วม ซึ่งนายจำเริญลูกหนี้ต้องรับผิดเมื่อจำเลยผิดนัดไม่ชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ โดยนายจำเริญลูกหนี้ต้องเข้าร่วมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมรวมทั้งดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดตลอดมาจนกว่าเจ้าหนี้จะได้รับชำระหนี้โดยสิ้นเชิง จำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ชั้นต้นก็ยังมีหนี้ดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดตลอดเวลาแม้หลังจากที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยไว้เด็ดขาดแล้วก็ตามเพียงแต่พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 100 บัญญัติห้ามมิให้เจ้าหนี้ขอรับชำระดอกเบี้ยภายหลังวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เท่านั้น หาได้หมายความว่าหนี้ดอกเบี้ยภายหลังวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ระงับแล้วไม่ เมื่อหนี้ดอกเบี้ยภายหลังนั้นยังมีอยู่ นายจำเริญลูกหนี้ไม่ว่าจะในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการหรือในฐานะผู้ค้ำประกันอย่างลูกหนี้ร่วมก็ยังต้องร่วมรับผิดในหนี้ดอกเบี้ยดังกล่าว นายจำเริญลูกหนี้หาอาจยกข้อต่อสู้ตามพระราชบัญญัติ ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 100 อันเป็นกฎหมายที่มุ่งคุ้มครองประโยชน์แห่งเจ้าหนี้ทั้งปวงและแก่ลูกหนี้ในคดีล้มละลายนั้นโดยเฉพาะขึ้นเป็นข้อต่อสู้แก่เจ้าหนี้ในคดีนี้หาได้ไม่เพราะมิฉะนั้นหากเจ้าหนี้มิได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของจำเลยภายในกำหนดเวลา 2 เดือน นับแต่วันโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยไว้เด็ดขาดแล้ว ทำให้เจ้าหนี้ไม่อาจขอรับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของจำเลย ก็จะทำให้เจ้าหนี้ไม่อาจยื่นคำขอรับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของนายจำเริญลูกหนี้ตามเหตุผลเดียวกันได้แต่กรณีหาเป็นเช่นนั้นไม่ กล่าวคือหากเจ้าหนี้มิได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของจำเลยภายในกำหนด นายจำเริญลูกหนี้ก็ยังต้องรับผิดในหนี้ของจำเลย ในฐานะเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการและในฐานะเป็นผู้ค้ำประกันอย่างลูกหนี้ร่วม ซึ่งจะต้องรับผิดตั้งแต่จำเลยตกเป็นผู้ผิดนัดก่อนที่จะมีการฟ้องให้จำเลยเป็นบุคคลล้มละลายเจ้าหนี้มีสิทธิยื่นคำขอรับชำระหนี้ค่าดอกเบี้ยจากกองทรัพย์สินของนายจำเริญลูกหนี้ หลังจากวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยไว้เด็ดขาด (วันที่ 30 ธันวาคม 2528) จนถึงวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์นายจำเริญลูกหนี้ไว้เด็ดขาด(วันที่ 16 พฤศจิกายน 2532)
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้จำนวน3,775,592.75 บาท จากกองทรัพย์สินของนายจำเริญลูกหนี้ตามมาตรา 130(8) แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share