คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 721/2536

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การขายทอดตลาดหุ้นบริษัท อ. มีผู้เข้าประมูลสู้ราคากันหลายรายรวมทั้งตัวแทนโจทก์ด้วย การดำเนินการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดีจึงเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายไม่ส่อพฤติการณ์ทุจริต แต่ปรากฏว่าบริษัท อ. ได้จดทะเบียนเปลี่ยนแปลงมูลค่าหุ้นจากหุ้นละ 100 บาท เป็นหุ้นละ 10 บาท หุ้นของจำเลยจำนวน 1,000 หุ้นจึงแตกออกเป็น 10,000 หุ้น ซึ่งราคาหุ้นที่ซื้อขายในท้องตลาดในวันขายทอดตลาดมีราคาหุ้นละ 98.50 บาท ฉะนั้นราคาหุ้นพิพาทตามราคาที่ซื้อขายกันในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในวันที่ขายทอดตลาดเป็นเงิน 985,000 บาท แต่เจ้าพนักงานบังคับคดีขายให้ผู้คัดค้านทั้งห้าในราคา 152,000 บาท ซึ่งหากเจ้าพนักงานบังคับคดีทราบราคาหุ้นทั้งหมดก็จะไม่อนุมัติให้ขาย จึงถือว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีขายหุ้นพิพาทโดยหลงผิด เนื่องจากไม่รู้ราคาที่ซื้อขายกันในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ทั้งการที่ขายทอดตลาดหุ้นพิพาทต่างจากราคาในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยมากเช่นนี้ จำเลยย่อมเสียหายต่อการชำระหนี้ จึงให้เพิกถอนการขายทอดตลาด

ย่อยาว

โจทก์ยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดทรัพย์ของจำเลยเนื่องจากเจ้าพนักงานบังคับคดีขายหุ้นบริษัทเอเซียไฟเบอร์ จำกัดให้ผู้คัดค้านทั้งห้าไปโดยผิดหลง โดยขายต่ำกว่าราคาความเป็นจริงของมูลค่าหุ้น
ผู้คัดค้านทั้งห้ายื่นคำคัดค้านว่า การขายทอดตลาดทรัพย์หุ้นพิพาท เป็นการขายโดยชอบด้วยกฎหมาย ผู้แทนโจทก์ร่วมประมูลซื้อด้วย ทั้งมิได้คัดค้านการขายทอดตลาด ตามใบหุ้นของบริษัทเอเซียไฟเบอร์ จำกัด มีจำนวน 1,000 หุ้น จดทะเบียนมีมูลค่าหุ้นหุ้นละ 100 บาท รวมเป็นค่าหุ้นทั้งสิ้น 100,000 บาท เมื่อบริษัทกระจายหุ้นจากเดิมโดยลดมูลค่าหุ้นลงเหลือหุ้นละ 10 บาท จำเลยจึงเป็นเจ้าของหุ้นจำนวน 10,000 หุ้น และจำเลยก็ยังคงเป็นเจ้าของมูลค่าหุ้นรวมทั้งสิ้น 100,000 บาท เท่าเดิม หาได้ทำให้มูลค่าหุ้นที่จดทะเบียนไว้มีมูลค่าสูงขึ้นแต่ประการใด ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดหุ้นพิพาทไปโดยผิดหลงโดยขายต่ำกว่าราคาที่แท้จริงในท้องตลาดเป็นจำนวนมาก ทั้งยังส่อพิรุธไปในทางที่ไม่ชอบและบกพร่องในหน้าที่จึงมีคำสั่งให้เพิกถอนการขายทอดตลาด
ผู้คัดค้านที่ 4 ที่ 5 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกคำร้องของโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “การขายทอดตลาดหุ้นบริษัทเอเซียไฟเบอร์จำกัด ครั้งนี้มีผู้เข้าประมูลสู้ราคากันหลายรายรวมทั้งนางสาวศรีเวียง ฤทธิ์เดช ตัวแทนโจทก์ก็เข้าประมูลสู้ราคาด้วยดังนั้น การดำเนินการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดีจึงเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายไม่ส่อพฤติการณ์ทุจริต แต่อย่างไรก็ตามปรากฏว่าเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2530 บริษัทเอเซียไฟเบอร์ จำกัดได้จดทะเบียนเปลี่ยนแปลงมูลค่าหุ้นจากหุ้นละ 100 บาท เป็นหุ้นละ10 บาท หุ้นของจำเลยจำนวน 1,000 หุ้น จึงแตกออกเป็น 10,000 หุ้นซึ่งราคาหุ้นตามราคาที่ซื้อขายในท้องตลาดในวันที่ 7 มีนาคม 2531อันเป็นวันขายทอดตลาดนี้ มีราคาหุ้นละ 98.50 บาท ดังที่นายยุทธ เอกอุฬารพันธ์ ผู้อำนวยการฝ่ายทะเบียนหุ้นของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเบิกความยืนยัน ฉะนั้นราคาหุ้นพิพาทตามราคาที่ซื้อขายกันในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในวันที่ขายทอดตลาดจึงเป็นเงินทั้งสิ้น 985,000 บาท ซึ่งสูงกว่าที่เจ้าพนักงานบังคับคดีขายให้แก่ผู้คัดค้านทั้งห้าในราคา 152,000 บาทอย่างมาก และข้อเท็จจริงก็ได้ความจากนายไพบูลย์ เมฆมานะเจ้าพนักงานบังคับคดีว่าหากในขณะที่ประมูลซื้อขายกันนั้น ตนทราบว่าหุ้นทั้งหมดราคาประมาณ 900,000 บาทเศษ ก็จะไม่อนุมัติให้ขายกรณีจึงถือว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีขายหุ้นพิพาทโดยหลงผิด เนื่องจากไม่รู้ราคาที่ซื้อขายกันในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ทั้งการที่ขายทอดตลาด หุ้นพิพาทต่างจากราคาในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยมากเช่นนี้ จำเลยย่อมเสียหายต่อการชำระหนี้ ที่ศาลอุทธรณ์ยกคำร้องของโจทก์ ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น”
พิพากษากลับ ให้เพิกถอนการขายทอดตลาด

Share