คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4903/2536

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่จำเลยที่ 3 ให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนกับนำชี้สถานที่ต่าง ๆ ที่ระบุในคำให้การโดยความสมัครใจ ทั้งมีพยานพฤติเหตุแวดล้อม กรณีว่า จำเลยที่ 3นำเจ้าพนักงานตำรวจไปตรวจค้นยึดเหรียญหลวงปู่แหวนของผู้เสียหายที่ถูกจำเลยที่ 1 และที่ 2 กับพวกปล้นไปคืนได้จากบ้านจำเลยที่ 3 เช่นนี้ทำให้เชื่อได้ว่าจำเลยที่ 3ได้ร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 กระทำความผิดฐานปล้นทรัพย์ของผู้เสียหายตามฟ้อง แม้โจทก์ไม่มีประจักษ์พยานมาเบิกความยืนยันว่าจำเลยที่ 3 ได้ร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ปล้นทรัพย์ของผู้เสียหาย คงมีแต่คำให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 3 และพยานพฤติเหตุแวดล้อมกรณีแต่คำให้การรับสารภาพดังกล่าวของจำเลยที่ 3 ก็อาจใช้ยันจำเลยที่3 ในชั้นพิจารณาได้ หากมีพยานหลักฐานพอรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 3 ให้การรับสารภาพโดยสมัครใจและตามความสัตย์จริง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 340 และให้จำเลยทั้งสามร่วมกันคืนหรือใช้เงินจำนวน1,100 บาท ที่ยังไม่ได้คืนแก่ผู้เสียหาย
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 วรรคแรก ให้ลงโทษจำคุกคนละ 12 ปี จำเลยทั้งสามให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกคนละ 8 ปีและให้จำเลยทั้งสามร่วมกันคืนหรือใช้เงินจำนวน 1,100 บาทแก่ผู้เสียหาย
จำเลยที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์เกี่ยวกับจำเลยที่ 3 และให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันคืนหรือใช้เงินจำนวน 1,100 บาท แก่ผู้เสียหาย นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้เป็นยุติตามคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 2 ซึ่งไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาโต้แย้งเป็นอย่างอื่นตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง จำเลยที่ 1 และที่ 2กับคนร้ายอีกคนหนึ่งซึ่งเป็นหญิงได้ร่วมกันปล้นทรัพย์ของผู้เสียหายโดยจำเลยที่ 1 และที่ 2 กับพวก ดังกล่าวได้ใช้ยาเมาผสมลงในกาแฟให้ผู้เสียหายดื่ม เป็นเหตุให้ผู้เสียหายหมดสติไม่สามารถขัดขืนได้ แล้วจำเลยที่ 1 และที่ 2 กับพวกได้ลักเอาสร้อยคอทองคำ1 เส้น หนัก 4 บาท ราคา 20,000 บาท เหรียญหลวงปู่แหวนเลี่ยมทอง1 องค์ ราคา 800 บาท แหวนทองคำ 1 วง หนัก 1 บาท ราคา 5,000 บาท และเงินสด 2,600 บาท รวมราคาทั้งสิ้น 28,400 บาท ของผู้เสียหายไปโดยทุจริต ต่อมาวันที่ 3 ตุลาคม 2533 เจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลยที่ 3 ได้ คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยในชั้นนี้ตามที่โจทก์ฎีกาเพียงว่าจำเลยที่ 3 ได้ร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 กระทำความผิดฐานปล้นทรัพย์ตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่าแม้โจทก์ไม่มีประจักษ์พยานมาเบิกความยืนยันว่าจำเลยที่ 3 ได้ร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่2ปล้นทรัพย์ของผู้เสียหาย คงมีแต่คำให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 3 และพยานพฤติเหตุแวดล้อมกรณีแต่คำให้การรับสารภาพดังกล่าวของจำเลยที่ 3 ก็อาจใช้ยันจำเลยที่ 3 ในชั้นพิจารณาได้ หากมีพยานหลักฐานพอรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 3 ให้การรับสารภาพโดยสมัครใจและตามความสัตย์จริงการที่จำเลยที่ 3 ให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนตามบันทึกการจับกุมเอกสารหมาย จ.15 และบันทึกคำให้การเอกสารหมาย ป.จ.7 ว่าได้ร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ปล้นทรัพย์โดยใช้ยานอนหลับมอมผู้เสียหายจนหลับแล้วเอาทรัพย์ของผู้เสียหายไปนั้น คำให้การดังกล่าวมีรายละเอียดตั้งแต่จำเลยทั้งสามร่วมกันวางแผนการปล้นทรัพย์ของผู้เสียหายแล้วจำเลยที่ 2 และที่ 3พาผู้เสียหายไปโรงแรมตามแผนการ พฤติการณ์ของจำเลยทั้งสามในการปล้นทรัพย์ของผู้เสียหาย การนำทรัพย์ที่ปล้นมาได้บางส่วนไปขายและแบ่งเงินที่ขายทรัพย์ได้ การที่จำเลยที่ 1 และที่ 2ตกลงมอบเหรียญหลวงปู่แหวนที่ปล้นมาให้แก่จำเลยที่ 3 และการที่จำเลยที่ 3 ให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนกับนำชี้สถานที่ต่าง ๆ ที่ระบุในคำให้การโดยความสมัครใจ ทั้งมีพยานพฤติเหตุแวดล้อมกรณีว่า จำเลยที่ 3 นำเจ้าพนักงานตำรวจไปตรวจค้นยึดเหรียญหลวงปู่แหวนของผู้เสียหายที่ถูกจำเลยที่ 1และที่ 2 กับพวกปล้นไปคืนได้จากบ้านจำเลยที่ 3 เช่นนี้ทำให้เชื่อได้ว่าจำเลยที่ 3 ได้ร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 2กระทำความผิดฐานปล้นทรัพย์ของผู้เสียหายตามฟ้อง
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับสำหรับจำเลยที่ 3 ไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2

Share