คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4451/2544

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

สหภาพแรงงานได้ยื่นข้อเรียกร้องต่อจำเลยที่ 8 ซึ่งเป็นนายจ้างขอให้พิจารณาจัดเงินช่วยเหลือค่าดำรงชีพแก่พนักงานและจำเลยที่ 8ยืนยันความมั่นคงในเรื่องโบนัส เปอร์เซ็นต์การขึ้นเงิน อัตรากำลังคนกับปรับปรุงสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลด้วยที่ประชุมใหญ่สมาชิกสหภาพแรงงาน ท. ได้ให้การรับรองและแต่งตั้งให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 7เป็นตัวแทนเข้าร่วมเจรจากับจำเลยที่ 8 จึงเป็นการดำเนินการที่ชอบด้วยพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 103(2)มาตรา 13 วรรคสามและมาตรา 15 วรรคหนึ่ง แล้ว เมื่อจำเลยที่ 1ถึงที่ 7 ได้เข้าร่วมเจรจากับจำเลยที่ 8 ตามมาตรา 16 จนทั้งสองฝ่ายสามารถตกลงเกี่ยวกับข้อเรียกร้องตามมาตรา 13 ได้ โดยเฉพาะเงินโบนัส ซึ่งถือได้ว่าเป็นเรื่องที่อยู่ในขอบอำนาจที่ได้รับมอบหมายให้ไปเจรจาย่อมทำข้อตกลงเกี่ยวกับเงินโบนัสกับจำเลยที่ 8 ได้ตามมาตรา 18 โดยมิจำต้องให้ที่ประชุมใหญ่ของสหภาพแรงงานท. มีมติให้การรับรองอีกครั้ง ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างดังกล่าวจึงมีผลบังคับและผูกพันโจทก์ซึ่งเป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน ท. ตามมาตรา 19 วรรคสอง

ย่อยาว

คดีทั้งแปดสิบเอ็ดสำนวนนี้ ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้รวมพิจารณาเข้ากับคดีอื่นอีก 19 สำนวน โจทก์ทั้งแปดสิบเอ็ดสำนวนฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งแปดร่วมกันจ่ายโบนัสส่วนที่ขาดแก่โจทก์ตามลำดับ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งแปดรวมแปดสิบเอ็ดสำนวนให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งแปดสิบเอ็ดสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่าสหภาพแรงงานเทยินโพลีเอสเตอร์ได้จัดประชุมใหญ่สมาชิกเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2541 ซึ่งที่ประชุมใหญ่มีมติให้สหภาพแรงงานเทยินโพลีเอสเตอร์ยื่นข้อเรียกร้องต่อจำเลยที่ 8 ซึ่งเป็นนายจ้างและแต่งตั้งให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 7เป็นตัวแทนเข้าร่วมเจรจาต่อรองกับจำเลยที่ 8 ต่อมาสหภาพแรงงานเทยินโพลีเอสเตอร์ได้ยื่นข้อเรียกร้องต่อจำเลยที่ 8 และในวันเดียวกันจำเลยที่ 8 ได้ยื่นข้อเรียกร้องสวนทางแล้วมีการเจรจาต่อรองกันรวม 15 ครั้ง จนในที่สุดทั้งสองฝ่ายตกลงกันได้ แล้วจำเลยที่ 1 ถึงที่ 7ได้ทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างกับจำเลยที่ 8 ให้ลดเงินโบนัสของพนักงานจากอัตรา 1.6 เท่าของเงินเดือนลงเหลือ 1.4 เท่าของเงินเดือนโดยไม่ได้เรียกประชุมใหญ่สหภาพแรงงานเทยินโพลีเอสเตอร์เพื่อรับรองการทำข้อตกลงดังกล่าว ต่อมาจำเลยที่ 8นำข้อตกลงดังกล่าวไปจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ เห็นว่าสหภาพแรงงานเทยินโพลีเอสเตอร์ได้ยื่นข้อเรียกร้องต่อจำเลยที่ 8 ขอให้จำเลยที่ 8 พิจารณาจัดเงินช่วยเหลือค่าดำรงชีพแก่พนักงานให้จำเลยที่ 8 ยืนยันความมั่นคงในเรื่องโบนัส เปอร์เซ็นต์การขึ้นเงินอัตรากำลังคนและให้ปรับปรุงสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลด้วย ซึ่งในการดำเนินกิจการอันกระทบกระเทือนถึงส่วนได้เสียของสมาชิกเป็นส่วนรวมดังกล่าว ที่ประชุมใหญ่สมาชิกสหภาพแรงงานฯ ได้ให้การรับรองและแต่งตั้งให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 7เป็นตัวแทนเข้าร่วมเจรจาต่อรองกับจำเลยที่ 8 กรณีที่กล่าวมาจึงเป็นการดำเนินการที่ชอบด้วยพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 103 (2) มาตรา 13 วรรคสามและมาตรา 15 วรรคหนึ่ง แล้วดังนั้นเมื่อต่อมาจำเลยที่ 1 ถึงที่ 7 ได้เข้าร่วมเจรจาต่อรองกับจำเลยที่ 8หลายครั้งตามมาตรา 16 จนทั้งสองฝ่ายสามารถตกลงเกี่ยวกับข้อเรียกร้องตามมาตรา 13 ได้ โดยเฉพาะเงินโบนัสจำเลยที่ 8 ตกลงจ่ายเงินโบนัสประจำปี เฉพาะงวดการจ่ายวันที่ 30 มิถุนายน 2542 อัตราเฉลี่ย 1.4 เท่าของเงินเดือน ซึ่งถือได้ว่าเป็นเรื่องที่อยู่ในขอบอำนาจที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 7 ได้รับมอบหมายให้ไปเจรจากับจำเลยที่ 8 จำเลยที่ 1 ถึงที่ 7 ในฐานะผู้แทนของสหภาพแรงงานเทยินโพลีเอสเตอร์ที่เข้าร่วมเจรจาตกลงดังกล่าวย่อมมีสิทธิทำข้อตกลงเกี่ยวกับเงินโบนัสอันเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างกับจำเลยที่ 8 ได้ตามมาตรา 18 โดยมิจำต้องให้ที่ประชุมใหญ่ของสหภาพแรงงานเทยินโพลีเอสเตอร์มีมติให้การรับรองอีกครั้ง ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างดังกล่าวจึงมีผลบังคับและผูกพันโจทก์ทั้งแปดสิบเอ็ดสำนวนซึ่งเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานเทยินโพลีเอสเตอร์ ตามมาตรา 19 วรรคสอง เมื่อปรากฏว่าจำเลยที่ 8ได้จ่ายเงินโบนัสให้แก่โจทก์ดังกล่าวไปครบถ้วนในอัตรา 1.4 เท่าของเงินเดือนตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่กล่าวมาแล้ว จำเลยที่ 8 จึงไม่ต้องจ่ายเงินโบนัสตามฟ้องให้แก่โจทก์ทั้งแปดสิบเอ็ดสำนวนอีก ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้องนั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ทั้งแปดสิบเอ็ดสำนวนฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share