คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2416/2515

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ของที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรในนามของทางการทหารสหรัฐอเมริกา แม้จะได้รับยกเว้น ไม่ต้องเสียอากรตามข้อตกลงระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลสหรัฐอเมริกา แต่ถ้าปรากฏว่าเมื่อนำเข้ามาแล้ว มิได้นำไปใช้ในทางการทหารของสหรัฐอเมริกา หากแต่ไปตกอยู่แก่บุคคลภายนอก ของนั้นย่อม ไม่ได้รับยกเว้น ไม่ ต้องเสียอากร เมื่อของมาตกอยู่ในครอบครองของจำเลย โดยยังมิได้มีการเสียอากร ก็ย่อมได้ชื่อว่าเป็นของที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงอากร

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองกับพวกอีก 1 คน ได้บังอาจร่วมกันรับเอาไว้ซึ่งของต่าง ๆ รวมราคา 338,455 บาท ซึ่งจะต้องเสียอากรเป็นเงิน 61,096.85 บาท โดยจำเลยกับพวกรู้ว่าเป็นของที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงอากร และของดังกล่าวนั้นเป็นของที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยยังมิได้เสียอากรตามพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2503 มาตรา 10 ด้วย เจ้าหน้าที่ตำรวจจับจำเลยทั้งสองได้พร้อมด้วยของกลางตามบัญชีทรัพย์ท้ายฟ้อง ขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 27 ทวิ(ฉบับที่ 13) พ.ศ. 2499 มาตรา 4 พระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากรพ.ศ. 2503 มาตรา 10 ริบของกลาง จ่ายสินบนนำจับและเงินรางวัลแก่เจ้าพนักงานผู้จับตามพระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำผิด พ.ศ. 2489

จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า วัสดุภัณฑ์ของกลางเป็นของที่กองทัพสหรัฐอเมริกานำเข้ามาในราชอาณาจักร โดยไม่ต้องเสียอากรตามข้อตกลงระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลสหรัฐอเมริกา ต่อมาของกลางตกมาเป็นของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นบุคคลที่ไม่มีสิทธิจะได้รับยกเว้นหรือลดหย่อนอากรพระราชบัญญัติพิกัดอัตราศุลกากร (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2508มาตรา 6 กำหนดให้เป็นหน้าที่ของผู้โอนเป็นผู้เสียอากร จำเลยที่ 1ซึ่งเป็นผู้รับโอน ไม่มีหน้าที่ต้องเสียอากร จึงไม่มีความผิด ส่วนจำเลยที่ 2 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ไม่มีส่วนรู้เห็นเกี่ยวกับของกลางรายนี้ จึงไม่มีความผิดเช่นกัน พิพากษายกฟ้อง ของกลางคืนเจ้าของ

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้รับโอนมีหน้าที่เป็นผู้เสียภาษีอากรและพฤติการณ์แสดงว่าจำเลยที่ 1 ได้รับของกลางไว้โดยมีเจตนาทุจริตช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ซื้อ หรือรับไว้โดยรู้ว่าของนี้นำเข้ามาในราชอาณาจักรเป็นการหลีกเลี่ยงข้อจำกัดที่จะต้องเสียอากร พิพากษาว่าจำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 27 ทวิ พระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 13) พ.ศ. 2499 มาตรา 4 พระราชบัญญัติพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 27 ทวิพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 13) พ.ศ. 2499 มาตรา 4 พระราชบัญญัติพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2503 มาตรา 10 จำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 2 ปี ของกลางริบ ให้จ่ายสินบนและรางวัลตามพระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำผิด พ.ศ. 2489 มาตรา 8 คือจ่ายสินบนให้ผู้นำจับร้อยละสามสิบของราคาของกลางและจ่ายรางวัลแก่เจ้าหน้าที่ผู้จับร้อยละยี่สิบห้าของราคาของกลางนอกจากที่แก้นี้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยที่ 1 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ของกลางรายนี้เป็นของที่ทางทหารของสหรัฐอเมริกานำจากต่างประเทศเข้ามาในราชอาณาจักรไทย โดยได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียอากร ตามข้อตกลงระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลสหรัฐอเมริกา แต่ถ้าของกลางรายนี้แม้จะนำเข้าในนามของทางการทหารสหรัฐอเมริกา ถ้าปรากฏว่าเมื่อนำเข้ามาแล้วมิได้นำไปใช้ในทางการทหารของสหรัฐอเมริกา หากแต่ไปตกอยู่แก่บุคคลภายนอกของเหล่านี้ย่อมไม่ได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียอากร ฉะนั้น เมื่อของกลางรายนี้มาตกอยู่ในความครอบครองของจำเลยโดยมิได้มีการเสียอากรจึงได้ชื่อว่าของกลางเหล่านี้เป็นของที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงอากร

จำเลยรับของกลางรายนี้ไว้ และนำไปเก็บไว้ในสวนซึ่งอยู่ห่างจากถนนครึ่งกิโลเมตร ในสภาพซุกซ่อน คนผ่านไปมามองไม่เห็นของเป็นของใหม่ที่ยังไม่ได้ใช้และไม่มีรอยตราหรือรอยเครื่องหมายที่แสดงว่าได้เสียอากรแล้ว เจ้าหน้าที่กองทัพสหรัฐดูของกลางแล้วยืนยันว่าเป็นของที่ถูกลักจากค่ายทหารสหรัฐที่สัตหีบ จำเลยที่ 1 รับต่อเจ้าพนักงานตำรวจผู้จับกุมว่าเป็นของที่จำเลยที่ 1 ได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และรับชั้นสอบสวนว่าได้ซื้อของกลางรายนี้จากคนขับรถ ร.ส.พ. คนหนึ่งไม่ทราบชื่อสองครั้ง ครั้งแรกซื้อราคา 18,000 บาท ครั้งที่สองซื้อ 27,000 บาท ซื้อแล้วก็นำไปเก็บไว้ในโกดังโรงสูบน้ำในสวนทั้งสองครั้ง ตามพฤติการณ์ถือได้ว่าการกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นการรับของกลางรายนี้ไว้โดยรู้ว่าเป็นของที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงอากร มีความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากรดังโจทก์ฟ้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษามาชอบแล้วพิพากษายืน ยกฎีกาจำเลยที่ 1

Share