คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1348/2525

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ยื่นใบลาหยุดพักผ่อนประจำปีสืบเนื่องมาจากโจทก์ถูกกล่าวหาว่ารายงานเท็จ โดยมิได้ปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการลาหยุดพักผ่อนประจำปีซึ่งกำหนดว่า ลูกจ้างจะต้องยื่นใบลาต่อผู้บังคับบัญชาล่วงหน้าอย่างน้อย 1 สัปดาห์ โจทก์ลาหยุดพักผ่อนแล้วไม่มาทำงานตั้งแต่วันที่ 2 ถึงวันที่ 15 กรกฎาคม 2524 แต่ผู้บังคับบัญชาไม่อนุมัติถือได้ว่าโจทก์ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควรตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องการคุ้มครองแรงงานฯ ข้อ 47(4)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อ พ.ศ. 2513 จำเลยจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างประจำตำแหน่งครั้งสุดท้ายเป็นพนักงานขายสินค้าเชื่อ ค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 3,350 บาทค่าพาหนะเหมาจ่ายเดือนละ 2,100 บาท ค่าคอมมิชชั่น 9,848 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกก่อนวันสิ้นเดือน 1 วัน ต่อมาวันที่ 20 กรกฎาคม 2524 จำเลยเลิกจ้างโจทก์อ้างว่า โจทก์รายงานเท็จ ฝ่าฝืนระเบียบโดยจงใจละทิ้งหน้าที่เกินสามวันทำงานติดต่อกัน ซึ่งไม่เป็นความจริง ความจริงจำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะความไม่พอใจกันเป็นส่วนตัวระหว่างโจทก์กับฝ่ายบริหารของจำเลย การเลิกจ้างโจทก์แทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 1 เดือน 20,464 บาท เงินสะสม 57,884 บาท 52 สตางค์ ค่าคอมมิชชั่น 27,000 บาท ค่าชดเชย 92,088 บาท ค่าเสียหายในการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม 184,176 บาท รวมเป็นเงิน 381,612 บาท 52 สตางค์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันเลิกจ้าง จนกว่าจะชำระเสร็จ

จำเลยให้การว่า โจทก์รายงานเท็จและละทิ้งหน้าที่เกิน 3 วัน กรณีร้ายแรงจึงได้เลิกจ้างโจทก์ สำหรับเงินสะสมจำเลยยอมจ่ายให้โจทก์

ระหว่างพิจารณาจำเลยจ่ายเงินสะสมให้โจทก์จำนวน 51,216 บาท 83 สตางค์ โจทก์ไม่ติดใจเรียกร้องเกี่ยวกับเงินสะสมต่อไป

ศาลแรงงานพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยจ่ายเงินค่าเปอร์เซ็นต์การขายให้แก่โจทก์เป็นเงิน 15,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีตั้งแต่วันที่20 กรกฎาคม 2524 จนกว่าจำเลยจะชำระเสร็จสำหรับเงินสะสมโจทก์ได้รับไปแล้วระหว่างพิจารณา นอกจากพิพากษามานี้ให้ยกฟ้องโจทก์

โจทก์และจำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า โจทก์เป็นลูกจ้างประจำของบริษัทจำเลยตั้งแต่ต้นปี พ.ศ. 2513 ตลอดมาจนถูกเลิกจ้าง เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2524 ก่อนถูกเลิกจ้างโจทก์ได้รายงานการขายประจำวันที่ 15 มิถุนายน2524 ว่าได้ไปเยี่ยมลูกค้า 19 ราย และในวันถัดมาคือวันที่ 16 จำนวน 20 ราย รวมเป็น 39 ราย หัวหน้าพนักงานขายซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของโจทก์โดยตรงได้ไปตรวจสอบแล้วรายงานต่อผู้บังคับบัญชาระดับเหนือ ขึ้นไปว่าในการทำงานของโจทก์ 2 วันดังกล่าว โจทก์ได้ไปเยี่ยมเพียง 21 ราย เท่านั้นอีก 18 ราย โจทก์รายงานเท็จว่าไปเยี่ยมซึ่งความจริงโจทก์ไม่ได้ไปเยี่ยมได้มีการเรียกโจทก์มาตักเตือนและจะให้โจทก์ลงนามรับทราบในหนังสือคำเตือนแต่โจทก์ไม่ยอม ต่อมาวันที่ 1 กรกฎาคม 2524 โจทก์ได้ยื่นใบลาพักร้อนตั้งแต่วันที่ 2 ถึงวันที่ 15 กรกฎาคม 2524 ต่อหัวหน้าพนักงานฝ่ายขายแล้วโจทก์ก็กลับบ้าน ในวันนั้นเป็นวันประชุมประจำเดือนเพื่อกำหนดนโยบายการขายโจทก์ไม่ได้เข้าประชุม ต่อมาผู้จัดการฝ่ายขายซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาระดับสูงของจำเลยได้มีคำสั่งไม่อนุมัติให้โจทก์ลาพักร้อน เมื่อโจทก์ยื่นใบลาพักร้อนแล้วก็ไม่มาทำงานจนวันที่ 20 กรกฎาคม2524 จึงมาทำงานซึ่งเป็นวันเดียวกับที่จำเลยมีหนังสือเลิกจ้างโจทก์ และบริษัทจำเลยมีระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการลาหยุดพักผ่อนประจำปีรวมไว้ในหนังสือคู่มือพนักงาน และแจกให้พนักงานทุกคนทราบทั่วไปแล้วว่า “บริษัทจะกำหนดวันลาหยุดพักผ่อนประจำปีสำหรับพนักงานแต่ละคนหากพนักงานคนใดประสงค์จะลาหยุดพักผ่อน ของให้แจ้งผู้บังคับบัญชาทราบอย่างน้อย 1 สัปดาห์ ก่อนที่บริษัทจะจัดวันหยุดให้” และวรรคต่อไปว่า “พนักงานที่ประสงค์จะลาหยุดพักผ่อนประจำปี จะต้องยื่นใบลาเป็นลายลักษณ์อักษรอย่างน้อย 1 สัปดาห์ล่วงหน้าโดยจะต้องกรอกในใบดำเนินงานบุคคล และยื่นขออนุมัติต่อผู้บังคับบัญชาโดยตรงและผู้จัดการฝ่ายบุคคลจะตรวจสอบหลักฐานว่าพนักงานผู้นั้นมีสิทธิที่จะลาหยุดหรือไม่” และในหนังสือคู่มือพนักงานฉบับที่ 2 ข้อ 8 มีว่า “ในการลาทุกชนิดพนักงานจะต้องยื่นใบลาเป็นลายลักษณ์อักษร และจะต้องได้รับอนุมัติจากผู้บังคับบัญชาโดยตรง และผ่านการตรวจสอบหลักฐานจากผู้จัดการฝ่ายบุคคล พนักงานจะต้องเขียนใบลาโดยใช้ใบดำเนินงานของบุคคล และยื่นต่อผู้บังคับบัญชาอย่างน้อย1 สัปดาห์ ยกเว้นในกรณีฉุกเฉิน เช่นป่วยกระทันหัน เห็นว่าโจทก์เป็นลูกจ้างหรือพนักงานของจำเลยมา 10 ปีเศษแล้ว และทราบระเบียบการลาดีแล้วว่า จะต้องแจ้งให้ผู้บังคับบัญชาทราบอย่างน้อย 1 สัปดาห์ ก่อนที่บริษัทจะจัดวันหยุดให้ และยื่นต่อผู้บังคับบัญชาโดยตรง ซึ่งแปลได้ว่าการลาทุกชนิดต้องยื่นใบลาล่วงหน้ายกเว้นในกรณีฉุกเฉิน และจะต้องได้รับอนุมัติจากผู้บังคับบัญชาก่อน โจทก์ยื่นใบลาพักร้อนแล้วก็ไม่มาทำงาน โดยยังไม่ได้รับอนุมัติจากผู้บังคับบัญชาต่อมาผู้บังคับบัญชาไม่อนุมัติให้โจทก์ลาพักร้อน ตามระเบียบของจำเลยที่ต้องให้ยื่นใบลาล่วงหน้านั้นย่อมเป็นความจำเป็นสำหรับบริษัทที่มีพนักงานมากเพื่อมิให้ต้องขาดพนักงานที่ต้องทำหน้าที่ที่จำเป็นไปโดยมิได้จัดพนักงานแทนไว้ล่วงหน้า แต่การยื่นใบลาล่วงหน้าหรือไม่นั้นย่อมไม่มีปัญหาเกิดขึ้นหากผู้บังคับบัญชาอนุมัติให้ลาตามที่ขอได้โดยมิได้ทักท้วงประการใด แต่การที่ผู้บังคับบัญชาอนุมัติให้ลาได้โดยใบลามิได้ยื่นล่วงหน้าตามระเบียบนั้นหาได้หมายความว่าระเบียบการยื่นใบลาล่วงหน้านั้นถูกยกเลิกไป แต่เป็นการผ่อนผันตามแต่ผู้บังคับบัญชาจะเห็นสมควรเป็นครั้งคราว มิใช่ว่าต่อไปผู้บังคับบัญชาจะอนุมัติเสมอไป ใบลาที่ถูกต้องตามระเบียบแล้วผู้บังคับบัญชาจะไม่อนุมัติก็ได้เมื่อมีเหตุอันสมควร แม้ว่าการยื่นใบลาแล้วไม่มาทำงาน ต่อมาผู้บังคับบัญชา ไม่อนุมัติให้ลานั้น จะถือไม่ได้ว่าเป็นการละทิ้งหน้าที่ก็ตาม แต่การที่โจทก์ยื่นใบลาพักร้อนนั้นสืบเนื่องมาจากโจทก์ถูกกล่าวหาว่ารายงานเท็จบริษัทจำเลยได้เรียกโจทก์มาตักเตือนและจะให้โจทก์ลงชื่อรับทราบในหนังสือคำตักเตือน โจทก์ไม่ยอมลงชื่อรับทราบและไม่พอใจ จึงยื่นใบลาพักร้อนแล้วกลับบ้านโดยไม่เข้าประชุมนโยบายการขายซึ่งเป็นวันสำคัญสำหรับพนักงานขาย แต่ผู้บังคับบัญชาไม่อนุมัติให้โจทก์พักร้อน โจทก์ลาพักร้อนแล้วไม่มาทำงานตั้งแต่วันที่ 2 ถึงวันที่ 15 กรกฎาคม 2524 แต่ผู้บังคับบัญชาไม่อนุมัติจึงถือได้ว่าโจทก์ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควร ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน 2515 ข้อ 47(4) จำเลยเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย

พิพากษายืน

Share