แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เงินสงเคราะห์ตกทอดที่การรถไฟแห่งประเทศไทยต้องจ่ายให้แก่ทายาทของจำเลยที่ 1 ผู้มีสิทธิได้รับตามข้อบังคับการรถไฟแห่งประเทศไทยเกิดขึ้นเนื่องจากการถึงแก่ความตายของจำเลยที่ 1 เงินสงเคราะห์ตกทอดดังกล่าวจึงไม่ใช่ทรัพย์สินหรือสิทธิที่จำเลยที่ 1 มีอยู่ในระหว่างมีชีวิตหรือมีอยู่ขณะตาย จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 มีสิทธิเรียกร้องในเงินสงเคราะห์ตกทอดต่อการรถไฟแห่งประเทศไทยอันจะทำให้โจทก์มีสิทธิขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีอายัดได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 310 ทวิ กรณีจึงไม่ต้องด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 286 ซึ่งเป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับเงินหรือสิทธิเรียกร้องเป็นเงินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาที่ไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดีแต่อย่างใด โจทก์จึงไม่มีสิทธิขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีอายัดเงินสงเคราะห์ตกทอดดังกล่าว คำสั่งของเจ้าพนักงานบังคับคดีที่ไม่อายัดให้นั้นชอบแล้ว
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความให้จำเลยทั้งสองชำระเงิน 600,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 12 ต่อปี นับแต่วันที่ 10 มีนาคม 2548 โดยผ่อนชำระเป็นรายเดือน เดือนละไม่น้อยกว่า 6,000 บาทเดือนแรกชำระภายในวันที่ 31 สิงหาคม 2549 เดือนต่อไปชำระทุกวันสิ้นเดือนถัดไปจนกว่าจะเสร็จสิ้น และภายในเดือนมกราคม 2554 จำเลยทั้งสองตกลงชำระเงิน 300,000 บาท แก่โจทก์ แต่จำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา โจทก์ขอให้บังคับคดี เจ้าพนักงานบังคับคดีอายัดเงินชดเชยจำนวน 10 เท่า ของเงินเดือน เป็นเงิน 578,300 บาทที่จำเลยที่ 1 จะได้รับจากการรถไฟแห่งประเทศไทย เนื่องจากจำเลยที่ 1 ลาออกจากการเป็นพนักงาน จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอให้มีคำสั่งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีระงับการอายัดเงินดังกล่าว โจทก์ยื่นคำแถลงคัดค้าน ต่อมาโจทก์และจำเลยที่ 1 ตกลงกันได้โดยโจทก์จะกันเงินส่วนที่การรถไฟแห่งประเทศไทยส่งมาตามที่เจ้าพนักงานบังคับคดีอายัดไว้ 561,735 บาท ให้จำเลยที่ 1 จำนวน 150,000 บาท และลดการอายัดเงินบำนาญที่จำเลยที่ 1 จะได้รับจากเดือนละ 14,000 บาท เหลือเดือนละ 8,000 บาท ส่วนหนี้ที่เหลือจำเลยที่ 1 จะชำระแก่โจทก์จนครบ จำเลยที่ 1 จึงขอถอนคำร้อง ศาลชั้นต้นอนุญาต
ต่อมาวันที่ 4 พฤศจิกายน 2556 จำเลยที่ 1 ถึงแก่ความตาย โจทก์ยื่นคำแถลงลงวันที่ 29 เมษายน 2557 ขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีอายัดเงินสงเคราะห์ตกทอด 482,513.34 บาท จากการรถไฟแห่งประเทศไทย โดยให้นำเงินที่ส่งมาแล้วตามที่เจ้าพนักงานบังคับคดีอายัดไว้หักออกจากเงินจำนวนดังกล่าว เจ้าพนักงานบังคับคดีมีคำสั่งให้ยกคำแถลงของโจทก์ โดยเห็นว่าเงินสงเคราะห์ตกทอดดังกล่าวเกิดจากการถึงแก่ความตายของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้ อันเป็นสิทธิของทายาทโดยตรงจึงไม่สามารถอายัดให้ได้
โจทก์ยื่นคำร้องขอให้มีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งของเจ้าพนักงานบังคับคดี และให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการอายัดเงินสงเคราะห์ตกทอดของจำเลยที่ 1 จากการรถไฟแห่งประเทศไทยตามคำแถลงของโจทก์ต่อไป
นางสาวจรัสศรี ทายาทโดยธรรมของจำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องคัดค้านขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณา มีคำสั่งยกคำร้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นฎีการับฟังเป็นยุติว่า จำเลยที่ 1 เคยเป็นพนักงานการรถไฟแห่งประเทศไทยภายหลังศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์ตามสัญญาประนีประนอมยอมความแล้ว จำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา โจทก์ได้รับชำระหนี้จากจำเลยที่ 1 บางส่วน และอายัดเงินที่จำเลยที่ 1 มีสิทธิได้รับจากการรถไฟแห่งประเทศไทยชำระหนี้แล้วบางส่วน ต่อมาวันที่ 4 พฤศจิกายน 2556 จำเลยที่ 1 ถึงแก่ความตาย การรถไฟแห่งประเทศไทยต้องจ่ายเงินสงเคราะห์ตกทอดเนื่องจากการถึงแก่ความตายของจำเลยที่ 1 ให้แก่ทายาทของจำเลยที่ 1 ตามข้อบังคับการรถไฟแห่งประเทศไทย โจทก์จึงยื่นคำแถลงขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีอายัดเงินสงเคราะห์ตกทอด 482,513.34 บาท จากการรถไฟแห่งประเทศไทย แต่เจ้าพนักงานบังคับคดีมีคำสั่งยกคำแถลงของโจทก์ โจทก์จึงยื่นคำร้องเป็นคดีนี้
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์มีสิทธิขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีอายัดเงินสงเคราะห์ตกทอดซึ่งทายาทของจำเลยที่ 1 มีสิทธิได้รับจากการรถไฟแห่งประเทศไทยหรือไม่ เห็นว่าเงินสงเคราะห์ตกทอดที่การรถไฟแห่งประเทศไทยต้องจ่ายให้แก่ทายาทของจำเลยที่ 1 ผู้มีสิทธิได้รับตามข้อบังคับการรถไฟแห่งประเทศไทยเกิดขึ้นเนื่องจากการถึงแก่ความตายของจำเลยที่ 1 เงินสงเคราะห์ตกทอดดังกล่าวจึงไม่ใช่ทรัพย์สิน หรือสิทธิที่จำเลยที่ 1 มีอยู่ในระหว่างมีชีวิต หรือมีอยู่ขณะตาย จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 มีสิทธิเรียกร้องในเงินสงเคราะห์ตกทอดต่อการรถไฟแห่งประเทศไทยอันจะทำให้โจทก์มีสิทธิขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีอายัดได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 310 ทวิ กรณีจึงไม่ต้องด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 286 ซึ่งเป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับเงินหรือสิทธิเรียกร้องเป็นเงินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาที่ไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดีตามที่โจทก์อ้างในฎีกาแต่อย่างใด โจทก์จึงไม่มีสิทธิขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีอายัดเงินสงเคราะห์ตกทอดดังกล่าว คำสั่งของเจ้าพนักงานบังคับคดีที่ไม่อายัดให้นั้นชอบแล้ว ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 3 มีคำสั่งและคำพิพากษาต้องกันมาให้ยกคำร้องของโจทก์นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น และไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาข้ออื่นของโจทก์ต่อไป เพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง
อนึ่ง ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องโดยมิได้สั่งในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียม และศาลอุทธรณ์ภาค 3 มิได้แก้ไข ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นและชั้นฎีกาให้เป็นพับ