คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2414/2519

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

บิดาของเด็กเท่านั้นที่จะจดทะเบียนเด็กเป็นบุตรได้ตามนัยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1527 เมื่อจดทะเบียนเด็กเป็นบุตรแล้วก็จะถอนมิได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1531 และเมื่อมีการจดทะเบียนดังกล่าวแล้วจะฟ้องขอให้ถอนการจดทะเบียนได้ก็ด้วยเหตุที่ว่าผู้ขอให้จดทะเบียนมิใช่บิดาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1528 เท่านั้น
จำเลยยอมให้เงินโจทก์ 20,000 บาท เป็นค่าตอบแทนให้แก่โจทก์ในการที่โจทก์ยินยอมจะไปเพิกถอนการจดทะเบียนรับรองบุตร ซึ่งไม่มีข้อเท็จจริงที่ยุติว่าจำเลยมิใช่บิดาแท้จริงของเด็กนั้น สัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามยอมของศาลจึงขัดกับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1528 ซึ่งเป็นบทกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นมารดาของเด็กหญิงโสมภัทร ดุลยนันท์ และเด็กหญิงหัธยา ดุลยนันท์ จำเลยเป็นบิดาและจดทะเบียนรับรองว่าเป็นบุตรแล้ว จำเลยให้โจทก์เป็นผู้เลี้ยงดูบุตรทั้งสองโดยจำเลยออกค่าใช้จ่ายให้บางส่วน ต่อมาจำเลยยอมจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูและค่ารักษาพยาบาลบุตรทั้งสอง โจทก์ต้องออกค่าใช้จ่ายไปคิดเป็นเงิน ๓๖,๘๐๐ บาท โจทก์ได้ทวงเตือนแล้วแต่จำเลยเพิกเฉย เป็นการประพฤติผิดหน้าที่ผู้ปกครองอย่างร้ายแรง นอกจากนี้จำเลยยังได้กล่าวคำหยาบต่อบุตรทั้งสอง โจทก์ไม่เป็นบุคคลที่ต้องห้ามตามกฎหมายที่จะเป็นผู้ปกครองบุตรทั้งสอง จึงขอให้ศาลมีคำสั่งถอดถอนจำเลยจากการเป็นผู้ปกครองบุตรทั้งสองและตั้งโจทก์เป็นแทน ให้จำเลยจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรทั้งสองให้แก่โจทก์ ๓๖,๐๐๐ บาท และต่อไปทุกเดือน ๆ ละ ๔,๖๐๐ บาท
จำเลยให้การว่า ผู้เยาว์ทั้งสองเป็นบุตรโจทก์เกิดระหว่างที่โจทก์จำเลยต่างมีคู่สมรส โจทก์มีความสัมพันธ์ทางชู้สาวกับชายอื่นและจำเลย จำเลยมิใช่บิดาของผู้เยาว์ เพราะระหว่างนั้นจำเลยไม่สามารถมีบุตรได้ การที่จำเลยจดทะเบียนรับผู้เยาว์เป็นบุตรเพราะถูกโจทก์ข่มขู่ การจดทะเบียนรับรองบุตรทำเป็นเพียงพิธีเท่านั้น จำเลยไม่ต้องรับผิดชอบต่อบุตรของโจทก์ เอกสารรับรองบุตรดังกล่าวขัดต่อศีลธรรมอันดีและความสงบเรียบร้อยของประชาชน ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างการพิจารณาคดีของศาลชั้นต้น โจทก์จำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันต่อหน้าศาล มีข้อความว่า จำเลยยอมให้เงิน ๒๐,๐๐๐ บาท เป็นค่าตอบแทนแก่โจทก์ในการที่โจทก์ยินยอมไปเพิกถอนการจดทะเบียนรับรองบุตรทั้งสอง พร้อมทั้งสละสิทธิ์ใช้นามสกุลดุลยนันท์ให้เรียบร้อยภายใน ๓๐ วัน นับแต่วันทำสัญญายอม ถ้าหากผิดนัดก็ให้ถือเอาคำพิพากษาตามยอมเป็นการแสดงเจตนาของโจทก์และจำเลย โจทก์จะไม่เรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูและค่าเสียหายใด ๆ จากจำเลยต่อไป ศาลชั้นต้นพิพากษาไปตามสัญญาประนีประนอมยอมความนั้น
โจทก์อุทธรณ์ว่าคำพิพากษาตามยอมขัดต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๕๒๗, ๑๕๒๘ โจทก์ไม่สามารถปฏิบัติได้เพราะเจ้าหน้าที่ไม่ยอมให้โจทก์ถอนการจดทะเบียนรับรองบุตร ขอให้เพิกถอนสัญญาประนีประนอมยอมความและดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป
ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการพิจารณาต่อไปแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า บิดาของเด็กเท่านั้นที่จะจดทะเบียนเด็กเป็นบุตรได้ตามนัยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๕๒๗ เมื่อจดทะเบียนเด็กเป็นบุตรแล้วก็จะถอนมิได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๕๓๑ และเมื่อมีการจดทะเบียนดังกล่าวแล้ว จะฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนได้ก็ด้วยเหตุที่ว่าผู้ขอให้จดทะเบียนมิใช่บิดาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๕๒๘ เท่านั้น ข้อเท็จจริงตามสัญญาประนีประนอมยอมความคดีนี้มีปรากฏว่าจำเลยยอมให้เงิน ๒๐,๐๐๐ บาท เป็นค่าตอบแทนให้แก่โจทก์ในการที่โจทก์ยินยอมจะไปเพิกถอนการจดทะเบียนรับรองบุตร ซึ่งไม่มีข้อเท็จจริงที่ยุติว่าจำเลยมิใช่บิดาที่แท้จริงของเด็กนั้น สัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามยอมของศาลชั้นต้นคดีนี้ จึงขัดกับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๕๒๘ ซึ่งเป็นกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน
พิพากษายืน.

Share