คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2411/2551

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 2 นำใบแต่งทนายความซึ่งไม่ใช่ลายมือชื่อของโจทก์ไปทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับจำเลยที่ 1 โดยตกลงให้โจทก์ชำระหนี้แก่จำเลยที่ 1 โดยโจทก์ไม่เคยแต่งตั้งจำเลยที่ 2 เป็นทนายความ สัญญาประนีประนอมยอมความจึงเป็นโมฆะไม่ผูกพันโจทก์ การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอมเป็นการพิพากษาโดยผิดหลง หากข้อเท็จจริงเป็นดังที่โจทก์กล่าวอ้างมาในคำฟ้องดังกล่าว ย่อมมีผลให้การทำสัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามยอมของศาลชั้นต้นไม่ชอบ ต้องถูกเพิกถอนเฉพาะส่วนเพื่อไม่ให้ผูกพันโจทก์ จึงเป็นกรณีที่โจทก์กล่าวอ้างอยู่ในตัวว่า ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาในส่วนของโจทก์ไม่ชอบด้วยกฎหมายมิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. มาตรา 138 ที่มุ่งหมายจะยังให้การเป็นไปด้วยความยุติธรรมและเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนตามมาตรา 27 ซึ่งศาลชั้นต้นในคดีที่มีการพิจารณาที่ผิดระเบียบมีอำนาจที่จะสั่งเพิกถอนการพิจารณาที่ผิดระเบียบ จะยื่นฟ้องเป็นคดีใหม่หาได้ไม่ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ศาลชั้นต้นชอบที่จะยกฟ้องโจทก์เสียได้ในชั้นตรวจคำฟ้องตามมาตรา 131 (2)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2539 โจทก์กู้เงินจากจำเลยที่ 1 จำนวน 1,900,000 บาท โดยมีนายวิกัยเป็นผู้ค้ำประกันและจำนองที่ดินเป็นประกันเงินกู้ โดยนายวิกัยตกลงรับผิดชอบในการส่งค่างวดเงินกู้ให้แก่จำเลยที่ 1 แทนโจทก์ ต่อมาจำเลยที่ 1 ฟ้องโจทก์และนายวิกัยฐานผิดสัญญากู้เงิน โจทก์ไม่เคยได้รับสำเนาคำฟ้องมาก่อน โจทก์เพิ่งทราบในภายหลังว่าจำเลยที่ 2 นำใบแต่งทนายความซึ่งไม่ใช่ลายมือชื่อของโจทก์เข้าทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับจำเลยที่ 1 โดยที่โจทก์ไม่เคยมอบหมายหรือยินยอมให้จำเลยที่ 2 ทำสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าว สัญญาประนีประนอมยอมความจึงเป็นโมฆะไม่ผูกพันโจทก์ แม้ศาลจะพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความก็เป็นการพิพากษาโดยผิดหลง ขอให้พิพากษาให้สัญญาประนีประนอมยอมความฉบับลงวันที่ 9 ตุลาคม 2541 ในส่วนนิติกรรมระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 เป็นโมฆะ
ศาลชั้นต้นตรวจคำฟ้องแล้ว มีคำสั่งไม่รับฟ้องโจทก์ คืนค่าขึ้นศาลทั้งหมดโจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ โดยโจทก์อุทธรณ์ว่า คำฟ้องของโจทก์ไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายใดห้ามมิให้โจทก์นำคดีมาฟ้อง และโจทก์ก็มิได้คัดค้านเรื่องกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ จึงไม่ต้องยกขึ้นว่ากล่าวในคดีเดิมนั้น เห็นว่า คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องกล่าวอ้างว่าจำเลยที่ 2 นำใบแต่งทนายความซึ่งไม่ใช่ลายมือชื่อของโจทก์ แต่เป็นลายมือชื่อปลอมไปทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับจำเลยที่ 1 โดยตกลงให้โจทก์ชำระหนี้แก่จำเลยที่ 1 โดยโจทก์ไม่เคยแต่งตั้งจำเลยที่ 2 เป็นทนายความ สัญญาประนีประนอมยอมความจึงเป็นโมฆะไม่ผูกพันโจทก์ การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความเป็นการพิพากษาโดยผิดหลง หากข้อเท็จจริงเป็นดังที่โจทก์กล่าวอ้างมาในคำฟ้องแล้ว ย่อมมีผลให้การทำสัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความของศาลชั้นต้นไม่ชอบ ต้องถูกเพิกถอนเฉพาะส่วนเพื่อไม่ให้ผูกพันโจทก์ จึงเป็นกรณีที่โจทก์กล่าวอ้างอยู่ในตัวว่า ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาในส่วนของโจทก์ไม่ชอบด้วยกฎหมายมิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 138 ที่มุ่งหมายจะยังให้การเป็นไปด้วยความยุติธรรมและเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 นั่นเอง ซึ่งศาลชั้นต้นในคดีที่มีการพิจารณาที่ผิดระเบียบมีอำนาจที่จะสั่งเพิกถอนการพิจารณาที่ผิดระเบียบ จะมายื่นฟ้องเป็นคดีใหม่หาได้ไม่ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้ ศาลชั้นต้นชอบที่จะยกฟ้องโจทก์เสียได้ในชั้นตรวจคำฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 131 (2) อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น แต่การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องและคืนค่าขึ้นศาลให้โจทก์ทั้งหมดเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย สมควรแก้ไขเสียให้ถูกต้อง”
พิพากษายกคำสั่งศาลชั้นต้น โดยให้ยกฟ้องโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ

Share